แจกเงินดิจิทัล “สายล่อฟ้า” รัฐบาลพร้อมปรับ-ไม่เลิก

ดิจิทัลวอลเลต

นโยบาย “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ หรือนโยบาย “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 กลายเป็น “สายล่อฟ้า” ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งนำมาสู่การออกแถลงการณ์ของบรรดานักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้ง ดร.วิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอีกหลายท่านแสดงความเห็นคัดค้าน เพราะมองว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

จนมีคำพูดว่า “ไม่เห็นมีนักเศรษฐศาสตร์คนไหน เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลสักคน”

เสียงที่ไม่อยากได้ยิน

ประเด็นที่คัดค้านกัน หลัก ๆ ก็เป็นเรื่อง “ขนาดของเงินที่ใช้” เพราะนโยบายนี้ตั้งโจทย์ไว้ว่า จะแจกเงินให้ประชาชนคนไทยที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปทุกคน ซึ่งจะครอบคลุมคนไทยถึง 56 ล้านคน ทำให้ต้องใช้เงินถึง 560,000 ล้านบาท

ส่วนอีกประเด็นใหญ่ที่ตามมาก็คือ เมื่อต้องใช้เงินสูงขนาดนั้น จึงเป็นคำถามคำโตว่า “แหล่งเงิน” จะมาจากไหน ต้องกู้หรือไม่ หรือจะขายกองทุนของรัฐบาล หรือจะให้รัฐวิสาหกิจออกเงินไปก่อน แล้วรัฐบาลค่อยจ่ายชดเชยคืนให้ภายหลัง หรือจะใช้งบประมาณ ซึ่งก็มีคำถามว่า จะเอางบฯมากมายขนาดนั้นมาจากไหน

และประเด็นความคุ้มค่าของการใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท เพื่อการกระตุ้นการบริโภค และไม่เพียงนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ แม้แต่นักธุรกิจหลายคนที่ไม่ได้ร่วมลงนามคัดค้านนโยบาย แต่ก็ส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาล “ทบทวนนโยบาย” เพราะนโยบายนี้จะทำให้เกิดภาระ “ต้นทุน” ต่อเศรษฐกิจประเทศเกินกว่าคาด

ไม่จำเป็นต้องยกเลิก แต่ขอให้ปรับนโยบายด้วยการแจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ต้องแจกเงินทุกคนเพื่อลดขนาดของเงินที่ต้องใช้ เพราะนั่นคือภาระทางการคลังที่จะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้แวดวงนักเศรษฐศาสตร์ ก็มีข้อถกเถียงกันเรื่อง “มัลติพลายเออร์เอฟเฟ็กต์” หรือ “การหมุนของเงิน” จะไปได้กี่รอบ รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน “จำเป็นต้องกระตุ้น” หรือไม่

ประเด็นเหล่านี้ นำมาซึ่ง “ความไม่มั่นใจ” ของหลายฝ่ายจนเกิดเป็นความกังวล ว่าจะกระทบต่อ “เสถียรภาพทางด้านการคลัง” ซึ่งเป็นที่จับตาของ “สถาบันจัดอันดับเครดิต” จนเกิดความกลัวกันว่า สุดท้าย “อาจจะ” นำไปสู่การ “ลดอันดับเรตติ้ง” ของประเทศไทย

ขณะที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาสะท้อนว่า หากเทียบเคียงสุขภาพของเศรษฐกิจไทย เราไม่ได้เป็นคนไข้ที่อยู่บนเตียงโรงพยาบาล แต่เราฟื้นไข้กลับมาอยู่ที่บ้านได้แล้ว ซึ่งโอกาสที่จะเกิดวิกฤต เกิดหัวใจวายฉับพลันไม่น่าจะมี ความจำเป็นที่จะเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มากนัก แง่สุขภาพเศรษฐกิจไทยระยะสั้นไม่น่าห่วง แต่ที่ขาดเป็นเรื่องของการเติบโตระยะยาว โดยเราต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้ เพราะคนไข้ฟื้นแล้วจะรักษาแบบเดิมไม่ได้ มาตรการพักหนี้ก็ถอนออก เน้นมาตรการตรงจุด คือสิ่งที่ ธปท.พยายามทำ

เศรษฐายันพร้อมปรับ-ไม่เลิก

อย่างไรก็ดี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่นักวิชาการหลายท่านไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ตนยืนยันตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำทั้งหลายจากทุกหน่วยงาน รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย น้อมรับไปพิจารณา เพื่อปรับปรุงแต่งเติมให้ทุกอย่างดูดีขึ้น

แต่ไม่มีการยกเลิก ยืนยันว่าโครงการเงินดิจิทัล ไม่ใช่โครงการหาเสียง ไม่ใช่โครงการที่มาโปรยเงินให้ประชาชนเลือกตั้งให้เรากลับมาใหม่ แต่เป็นโครงการที่เราตระหนักดีถึงความจำเป็นและความต้องการของประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

คลังยกทีมใหญ่แถลงชี้แจง

และล่าสุด (9 ต.ค.) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมถึงทีมที่ปรึกษารัฐมนตรี ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวเพื่อชี้แจงตอบโต้แถลงการณ์ของคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว

นายจุลพันธ์ระบุว่า เป็นการแถลงข่าวเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชนว่า รัฐบาลจะเดินหน้านโยบาย “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าดิจิทัล” ซึ่งตนรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันวงกว้างในสังคมเกี่ยวกับนโยบายนี้ เพราะเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นกันมานานในการเปิดกว้างทางความคิด ทางวิชาการเช่นนี้ หลังรู้สึกว่าห่างหายมาเป็น 10 ปี

สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังไม่ได้เติบโตอย่าง “เต็มศักยภาพ” ยังโตช้ากว่าภูมิภาค และคุณภาพชีวิตประชาชนยัง “เปราะบาง” ซึ่งนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ถูกออกแบบมาเพื่อจุดชนวน “กระตุกเศรษฐกิจ” ให้เติบโตขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกที่ ให้เงินหมุนเวียนไปถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต และโอกาสในการประกอบอาชีพ เกิดการจ้างงาน เกิดการลงทุน ซึ่งภาคธุรกิจก็จะได้รับอานิสงส์ด้วย

“อันนี้เป็นหลักคิดที่ได้วางไว้ตั้งแต่ต้น และเรายังเชื่อมั่นว่าด้วยกลไกของนโยบาย จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ในที่สุดรัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปของภาษี และจะเป็นการวางรากฐานในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย”

ยันจำเป็นต้องเดินหน้านโยบาย

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ไม่เพียงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท แต่มั่นใจว่า จากทุกนโยบายที่รัฐบาลแถลงนโยบายไว้ จะช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้เฉลี่ย 5% ต่อปี ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศในภูมิภาคมาหลายปี ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องทำนโยบายนี้ ก็ต้องบอกว่า หากไปสำรวจประชาชนในต่างจังหวัด “ร้อยทั้งร้อย” ต่างรอนโยบายนี้ด้วยความหวัง อย่างไรก็ดี รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกฝ่ายที่มีข้อเสนอแนะ หรือท้วงติง

“อย่างไรก็ตาม ด้วยความหวังของประชาชน ที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง แล้วเราได้นำเสนอต่อรัฐสภา แน่นอนว่าเราต้องพยายามเดินหน้าโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ได้ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่เจออยู่นี้เป็นสถานการณ์ที่เปราะบาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งนี้จึงมีความจำเป็น ที่จะสามารถรีสตาร์ตชีวิตของประชาชนได้อีกครั้ง”

พร้อมอธิบายว่า เงินดิจิทัลนี้ไม่ใช่ “คริปโตเคอร์เรนซี” ไม่ใช่การ “เสกเงิน” ขึ้นมาใหม่ โดยเงินทุกบาทยังเป็นไปตามกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย “ไม่มีการพิมพ์เงิน” ขึ้นมาใหม่

“เป็นเพียงแค่เงินที่จะถูกใช้ผ่านระบบดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดเงื่อนไขในการใช้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เงื่อนไขที่ว่า เช่น กำหนดให้มีการใช้ในครั้งแรกก่อนเป็นเวลา 6 เดือน หรือเรื่องกรอบระยะทาง หรือประเภทของสินค้าและบริการที่ห้ามใช้ตามนโยบายนี้”

ชงบอร์ดใหญ่ขยายรัศมีใช้จ่าย

นายจุลพันธ์กล่าวว่า นโยบายเติมเงินนี้จะมีประสิทธิภาพกว่านโยบายกระตุ้นในอดีต เพราะด้วยเงื่อนไขที่กำหนด จะบังคับให้เงินนี้นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า โดยไม่สามารถนำไปสู่การชดใช้หนี้สิน ไม่สามารถนำไปสู่อบายมุข ขณะที่รัศมีการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ที่ 4 กิโลเมตรนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มที่จะขยายกรอบระยะทาง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกต่อประชาชนมากขึ้น โดยอาจจะขยายเป็นใช้จ่ายในตำบล หรืออำเภอ หรือจังหวัด จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ และเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาต่อไป

วันที่ 12 ต.ค.นี้ จะมีประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการที่ตนเป็นประธาน เป็นนัดแรก และจากนั้นจะประชุมหาข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 19 ต.ค. ก่อนเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธาน ในวันที่ 24 ต.ค.

สิ้นตุลาฯเคาะ “ปรับอะไรบ้าง”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนแหล่งเงินยังต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่ยืนยันว่ารัฐบาลยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยจะใช้ “งบประมาณ” เป็นหลักใหญ่ ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้เช่นกัน

ที่มีเสียงท้วงติงเรื่อง “เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” ก็มีคำถามเช่นกันว่า หากยึดเสถียรภาพที่ว่าแล้ว เศรษฐกิจโตได้แค่เฉลี่ย 2% ต่อปี แบบนี้ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักความลำบากได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันให้เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่เหมาะสม ภายใต้พื้นฐานการมีเสถียรภาพ

“การที่จะบอกว่าเราจะไม่ทำ เป็นไปไม่ได้ แต่เราจะพยายามให้มากที่สุด ในการพิจารณารายละเอียด กรอบของกฎหมาย แล้วก็ภาระของงบประมาณ วินัยทางการเงินการคลัง ส่วนขอบเขตโครงการจะลดลงหรือไม่ อย่างที่บอกคือเรารับฟัง สุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร สิ้นเดือนตุลาฯนี้คงรู้กัน”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า งบประมาณ 2567 อยู่ระหว่างที่หน่วยงานส่งคำขอใหม่มายังสำนักงบประมาณ ต้องไปดูรายละเอียด โครงการไหนที่ไม่มีความจำเป็น โครงการที่อาจดำเนินการไม่ทันในปีงบประมาณ หรือโครงการไหนที่เป็นไขมัน ปรับลดได้ก็ต้องปรับลด สำหรับเงินที่เหลือมาต้องนำมาใช้ในการพัฒนา ลงทุน ในโครงการที่จำเป็น และโครงการที่เป็นนโยบายรัฐ

ปลัดคลังรับอาสาถก ธปท.

ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งจะเห็นการปรับลดประมาณการการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มจะลดลงอีก ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ถือว่า “ไม่ผิด” เพื่อทำให้กลับไปอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงศักยภาพ โดยนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังก็ต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันด้วย ซึ่งตนจะมีการหารือกับ ธปท.ถึงเรื่องนี้ต่อไป

“ผมเพิ่งมาทำงาน ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องไปพูดคุยกับ ธปท. เพื่อจะได้เข้าใจถึงความตั้งใจของรัฐบาล ถึงทิศทางที่จะเดินไป เราไม่ได้ละเลยเรื่องเสถียรภาพ แต่ว่าต้องพูดความจริงกันว่า ในเมื่อวันนี้ GDP โตต่ำกว่าศักยภาพ จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง เพราะ GDP ที่โต คือความกินดีอยู่ดีของประชาชน คือภาษีที่โต คือเศรษฐกิจที่โต คือสิ่งที่รัฐบาลอยากจะทำหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเงินเดือน เรื่องค่าแรง ก็ต้องสอดรับกับ GDP ที่โต”

แย้มใช้เงินไม่ถึง 5.6 แสนล้าน

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของกระทรวงการคลัง ในการรักษาวินัย ทั้งเรื่องแหล่งเงิน การใช้จ่าย และการใช้คืน ทั้งหมดนี้จะมีความชัดเจนในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ เพียงแต่ตอนนี้ นโยบายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังอยู่ระหว่างออกแบบมาตรการ ฉะนั้น วันนี้ก็พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงที่เป็นประโยชน์ เพื่อมาออกแบบมาตรการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด

“หลาย ๆ เรื่องก็มีการปรับเปลี่ยน ไม่ใช่อย่างวันแรกที่เกิดขึ้น มีพัฒนาการอยู่ ซึ่งที่พูดกันว่า 5.6 แสนล้านบาท ก็ต้องบอกว่าโครงการนี้ออกแบบว่า ให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อยู่ 56 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะให้เงินคนละ 10,000 บาท ก็ต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท แต่โครงการนี้เมื่อเกิดขึ้นจริง จะต้องมีการลงทะเบียน ต้องมีการยืนยันตัวตน เพื่อเข้าร่วมโครงการ ดังนั้นจะเกิดขึ้นจริงเท่าไหร่ต้องว่ากันอีกที” ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว

ขณะที่เมื่อ 10 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องมีการลงทะเบียนยืนยันตัวตน ซึ่งฐานข้อมูลของรัฐมีการยืนยันตัวตนแล้วราว 40 ล้านคน แต่เมื่อจะเข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องกดปุ่มยืนยันตัวตน เพื่อยืนยันว่าบุคคลคนนี้ตรงกับบัตรประชาชน และตรงกับใบหน้า เพราะเป็นเรื่องของเงินต้องรัดกุมและรอบคอบตามกฎหมาย ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่จะทำให้ลดขนาดโครงการ อย่างไรก็ดี คาดว่าเมื่อเปิดดำเนินการแล้วมีคนไม่ใช้สิทธิ ก็เชื่อว่าตัวเลขวงเงินคงจะลดลงบางส่วน สำหรับร้านค้าก็จะเข้าร่วมโครงการ วางแผนจะให้เริ่มลงทะเบียนในกลางเดือนพฤศจิกายน

ทั้งหมดทั้งมวลชัดเจนว่า รัฐบาลเศรษฐา เดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี จากเสียงค้านเสียงท้วงติงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อเศรษฐกิจของประเทศ ก็หวังว่าการที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่ดึงทั้งผู้ว่าการ ธปท. เลขาฯสภาพัฒน์ เข้าร่วม จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายไปในทิศทางที่ควรจะเป็นมากขึ้น

เช่นที่นายกฯเศรษฐาเคยกล่าวไว้ว่า “อย่าไปหลงตามเสียงที่เราอยากจะฟัง อยู่กับความเป็นจริงดีกว่า บางทีเสียงที่เราไม่อยากได้ยิน เป็นเสียงที่ประเสริฐที่สุด”