กระทรวงการคลังชี้แจงนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต “จุลพันธ์” ยันเดินหน้าไม่ล้มเลิกแน่นอน แต่พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย-ปรับให้เหมาะสม ย้ำต้องตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ขณะที่ “ปลัดคลัง” ระบุอาจใช้เงินไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาท เหตุคนเข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียน-ยืนยันตัวตน ไม่ได้แจกอัตโนมัติ
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลยืนยันเดินหน้านโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ตามที่หาเสียงและได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ ไม่มีการล้มเลิกแน่นอน แต่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และยึดมั่นวินัยการเงินการคลังให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ออกมาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะมีประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการที่ตนเป็นประธาน เป็นนัดแรก และจากนั้นจะประชุมหาข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 19 ต.ค. ก่อนเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน ในวันที่ 24 ต.ค.
“การที่จะบอกว่าเราจะไม่ทำเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะพยายามให้มากที่สุด ในการพิจารณารายละเอียด กรอบของกฎหมาย แล้วก็ภาระของงบประมาณ วินัยทางการเงินการคลัง ส่วนขอบเขตโครงการจะลดลงหรือไม่ อย่างที่บอกคือเรารับฟัง สุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร สิ้นเดือนนี้คงรู้กัน” นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวว่า เบื้องต้น เรื่องขอบเขตการใช้จ่ายตามนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น มีแนวโน้มว่าจะขยายจากที่กำหนดรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร อาจจะเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัดก็ต้องพิจารณาอีกที ขณะที่ในส่วนที่ห้ามก็คือ ไม่นำออม ไม่นำไปใช้หนี้ ไม่ใช้เพื่ออบายมุข โดยเงินที่เติมให้ในครั้งแรก 10,000 บาท ต้องใช้ใน 6 เดือนแรก แต่จะหมุนต่อเนื่องไปได้นานกว่านั้น
ทั้งนี้ การปรับเงื่อนไขรายละเอียดยังต้องพิจารณา แต่ทั้งหมดต้องตอบโจทย์วัตถุประสงค์โครงการที่ตั้งไว้ คือเป็นการจุดชนวนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างมีศักยภาพ และต้องมีเสถียรภาพ มีการหมุนเวียน ทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนขึ้นตามมา
“เงินดิจิทัลไม่ใช่เป็นการเสกเงินขึ้นมาใหม่ ไม่มีการผลิตตัวเงินขึ้นมาใหม่ เงินทุกบาททุกสตางค์ เป็นไปตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่ไปเขียนโปรแกรมสร้างคริปโตเคอร์เรนซีประเภทใหม่ขึ้นมา
เงินเหล่านี้ไม่มีการปรับเปลี่ยนในมูลค่า เพราะจะถูกแบ็กบาทต่อบาทด้วยเงินบาทไทย เป็นเพียงแค่เงินที่ใช้ผ่านระบบดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดเงื่อนไขในการใช้เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ” นายจุลพันธ์กล่าว
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในวันที่ประกาศนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต จะมีความชัดเจนในเรื่องแหล่งเงิน แต่ขณะนี้นโยบายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังอยู่ระหว่างออกแบบมาตรการ ฉะนั้น วันนี้ก็พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ข้อท้วงติงที่เป็นประโยชน์ และเกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด
“หลาย ๆ เรื่องก็มีการปรับเปลี่ยน ไม่ใช่อย่างวันแรกที่เกิดขึ้น มันมีพัฒนาการอยู่ ซึ่งที่พูดกันว่า 5.6 แสนล้านบาท ก็ต้องบอกว่าโครงการนี้ออกแบบว่า ให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีคนกลุ่มนี้อยู่ 56 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะให้เงินคนละ 10,000 บาท ก็ต้องใช้เงิน 560,000 ล้านบาท
แต่นั้นต้องหมายความว่าทุกคนต้องเข้าร่วมโครงการทั้งหมด แต่โครงการนี้เมื่อเกิดขึ้นจริง จะต้องมีการลงทะเบียน ต้องมีการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น จะเกิดขึ้นจริงเท่าไหร่ต้องว่ากันอีกที” นายลวรณกล่าว
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า การคำนวณตัวทวีคูณ (มัลติพลายเออร์) ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น คงไม่สามารถใช้บทวิจัยโครงการในอดีตมาเปรียบเทียบได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขการใช้จ่ายที่แตกต่างกัน
- คลังยกทีมใหญ่แถลงชี้แจงเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วันนี้
- เอกสารว่อน แถลงการณ์นักวิชาการ คัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- KKP ชำแหละแจกเงินดิจิทัล “ได้ไม่คุ้มเสีย” สร้างภาระ “ต้นทุน” ประเทศเกินคาด
- เศรษฐา ลั่น มีหลายสิบล้านเสียงที่ต้องการเงินดิจิทัล 1 หมื่น
- โพลเผยประชาชนไม่มั่นใจ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มาเงินไม่ชัดเจน
- เอกชน หนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แนะ 3 ทางออก