เอกชน หนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แนะ 3 ทางออก

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เอกชนหนุนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แนะ 3 ทางออก ทบทวนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม บริหารจัดการโปร่งใส ประเมินผลการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 9 ตุลาคม 2566 นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท ถือเป็นนโยบาย ที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคของประชาชนที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ ปานกลาง แรงงาน และกลุ่มเปราะบางประเภทต่าง ๆ และคนตกงาน

“เศรษฐกิจในประเทศของเราในวันนี้ ต้องยอมรับว่าฝืดเคืองอย่างยิ่ง เราต้องการการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ผมปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยการใช้พลังบวกลดการโต้ตอบทางการเมือง ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประเทศไปมากกว่านี้”

“ฝั่ง Demand ดูจากเปอร์เซ็นต์หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงถึง 91% (ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ) ฝั่ง Supply ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ จากการส่งออกที่ชะลอตัว, สินค้าราคาถูกนำเข้าไร้มาตรฐานแทรกแซงตลาดในประเทศ, ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และล่าสุดการเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างเหตุผลสกัดเงินเฟ้อในอนาคต”

สำหรับทางออกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มการบริโภค จากการเลือกใช้เงิน Digital คือการควบคุมประเภทของการใช้เงิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล (สินค้า หรือบริการที่จำเป็นในการครองชีพ) และให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระบบ Block chain ตลอดเวลา 6 เดือนของโครงการ ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เงินหมุนเวียนและ กระจายสู่ท้องถิ่นและ SMEs มากที่สุด และไม่กระจุกตัวในสินค้า และช่องทางการตลาดที่ผูกขาดของทุนใหญ่มากเกินไป

ในส่วนของวินัยการคลัง ผลกระทบเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ความคุ้มค่าของโครงการนี้ คือสิ่งที่เรา และกูรูทั้งปวงควรต้องช่วยกันเสนอแนะทางออกที่ดี อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทย ไม่ใช่อยู่ภายใต้การสร้างความหวาดกลัวจนเกินจริงหรือไม่

ที่ผ่านมา และจากนี้ไปประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้กูรูทั้งหลายจะได้กรุณาให้ความเห็นต่อการใช้เงินของภาครัฐ ที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงและไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมนะครับ

ในความเห็นส่วนตัว ขออนุญาตเสนอแนะรัฐบาล เพื่อเดินหน้าโครง Digital wallet ดังนี้

1.ทบทวนกลุ่มเป้าหมายแบบ “พุ่งเป้า“ ควรเน้นเฉพาะคนที่ลำบาก เดือดร้อน และเห็นความสำคัญของการใช้เงิน 10,000 บาทนี้จริง ๆ

ทั้งนี้ เราจะได้มีงบประมาณไปใช้ในโครงการเร่งด่วนอื่น ๆ เช่น ปัญหาภัยแล้ง ตามที่ภาครัฐ ก็ให้ความสำคัญลงพื้นที่รับทราบปัญหาตลอดมา

2.บริหารโครงการให้มีความโปร่งใสและรัดกุมที่สุด ใช้เงินอย่างคุ้มค่าในทุกบาททุกสตางค์ด้วยจำนวนเม็ดเงินจำนวนมากหลายแสนล้านบาท

3.ติดตามผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสื่อสารนำเสนอให้สังคมรับทราบ เพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ ลดการโต้ตอบแบบนักการเมืองใด ๆ