เศรษฐาลั่นแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คำนึงวินัยการเงินการคลัง

นายกรัฐมนตรีชี้รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ มั่นใจแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นจีดีพีปีหน้าโต 5% พร้อมยืนยันดำเนินการอย่างรอบคอบ คำนึงวินัยการเงินการคลัง

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะต่อไป ทั้งนโยบายในการสร้างงาน การส่งเสริมครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายลดความยากจนในคนทุกช่วงวัยภายในปี 2570

ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นรัฐบาลได้เตรียมมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5.6 แสนล้านบาท โดย GDP ในปี 2567 จะเติบโตได้ที่ 5% และในระยะยาว นโยบายดังกล่าวจะวางรากฐานสำหรับระบบการชำระเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ มาตรการที่ทำไปก่อนหน้านี้ ทั้งการลดราคาพลังงาน การปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร และมาตรการเปิดฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ในส่วนนี้ก็ช่วยเพิ่มจำนวนตัวเลขการจองห้องพักของไทยเพิ่มขึ้นถึง 60%

นายเศรษฐากล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการเงินการคลัง รัฐบาลตระหนักดีว่า ทุกนโยบายต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังที่สมดุล เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน อันดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงประเทศ ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือส่วนใหญ่ จัดให้ไทยอยู่ในระดับเชิงบวก เช่น Moody’s ที่จัดให้ไทยมีอันดับเครดิตเสถียรภาพ (Stable Outlook) สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

Advertisment

โดยไทยยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก สัดส่วนทุนสำรองต่อมูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ 10 เท่า ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงเป็นหลักประกันได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

“ยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบและประสานการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อรักษาสมดุลของงบประมาณรายจ่ายและรายรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และภายในปี 2567 รัฐบาลมีแผนจะออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่เน้นทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเตรียมความพร้อมของไทยให้สามารถเติบโตได้ในเศรษฐกิจโลกใหม่ ขณะเดียวกันได้พยายามในการขยายตลาดการค้าและส่งออกให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการเจรจาการค้าเสรี (FTA) และความร่วมมือเอเปค และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทย และช่วยให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก”

ในช่วงที่ได้เดินทางไปประชุม UNGA78 ที่สหรัฐ ได้มีการผลักดันประเด็นเรื่องการลงทุน ผ่านการหารือกับผู้นำภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตต อาทิ Tesla และ Estee Lauder ที่กำลังพิจารณาขยายธุรกิจในประเทศไทย Google และ Microsoft ที่อยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ และการหารือกับสถาบันการเงิน เช่น BlackRock, Citi, Goldman Sachs และ JP Morgan ที่แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อให้โอกาสเหล่านี้เกิดขึ้น” นายเศรษฐากล่าว

Advertisment