เงินดิจิทัล 10,000 บาท จำเป็นต้องใช้ Blockchain หรือไม่ ?

SPACEBAR Money Forum เงินดิจิทัล

เปิดความเห็นกูรูด้านเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยีว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท จำเป็นต้องใช้ “บล็อกเชน” เป็นระบบหลังบ้านในการทำธุรกรรมหรือไม่ ?

วันที่ 26 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภา SME) ร่วมกับ SPACEBAR จัดงานสัมมนา Money Forum เรื่อง : เงินดิจิทัล 10,000 บาท กับ 5 คำถามที่ต้อง “เคลียร์” ที่ได้กูรูด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีมาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบาย “ดิจิทัลวอลเลต” ของรัฐบาล

โดยหนึ่งในประเด็นน่าสนใจจากวงเสวนาครั้งนี้ คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบชำระเงินบน “บล็อกเชน” (Blockchain) เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้พูดถึงการใช้บล็อกเชนในการขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาบล็อกเชนแห่งชาติเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญของประเทศอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผู้ร่วมสัมมนาแต่ละรายแสดงความคิดเห็น ดังนี้

นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าส่วนตัวจะต้องการเห็นการประยุกต์ใช้บล็อกเชนให้สำเร็จ แต่ในมุมของผู้ใช้งานไม่ได้สนใจว่าระบบหลังบ้านของแพลตฟอร์มที่ใช้จะมาจากอะไร ขอเพียงแค่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือเงินที่ได้รับมาสามารถใช้ได้จริงก็พอแล้ว

“การใช้บล็อกเชนเพื่อรองรับ transaction ของคนกว่า 56 ล้านคน ยังมีความท้าทายในหลากหลายแง่มุม ต้องเจาะลงไปอีกว่าจะใช้บล็อกเชนประเภทใด ถ้าเป็นแบบ public จะพัฒนาระบบให้รองรับ transaction 10,000 ครั้งใน 1 วินาทีก็ยังเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในหลาย ๆ ส่วนเกิดขึ้นตามมา

Advertisment

แต่ถ้าเป็นแบบ private ที่กระทรวงการคลังคุม node กับหน่วยงานอีก 2-3 หน่วยงาน คอนเซ็ปท์ของการกระจายศูนย์ (decentralize) ที่ตั้งใจจะใช้บล็อกเชนจะหายไป”

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การพัฒนาโซลูชั่นสักอย่างต้องเริ่มจากการตั้งโจทย์ให้ชัดเจน และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้โจทย์นั้น ถ้าโจทย์คือการสร้างระบบเพย์เมนต์ที่รองรับการใช้งานของคน 56 ล้านคน เวลาที่ใช้ในแต่ละ transaction และการรองรับการใช้งานในปริมาณมาก จะเป็นสิ่งที่สำคัญขึ้นมาทันที

“ด้วยกรอบเวลาที่ต้องการใช้ระบบช่วงเดือน ก.พ. 2567 การสร้างแอปใหม่โดยเริ่มจากศูนย์ไม่น่าจะทัน ส่วนการนำบล็อกเชนมาใช้เป็นหลังบ้านของระบบก็มีความท้าทายหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการจัดการหลังบ้านที่ซับซ้อนและใช้ทรัพยากรมากกว่าการรวมศูนย์ (centralize) หรือการทำงานของบล็อกเชนที่ทุก node ต้องเห็นชอบตรงกัน ก็ทำให้เวลาในการประมวลผลช้า แต่ถ้าโจทย์เป็นการสร้างบล็อกเชนเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องแยกกับประเด็นนี้ที่เป็นโจทย์ของการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชัดเจน”

Advertisment

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้ามองว่าบล็อกเชนเป็นตัวช่วยเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะเป็นระบบกระจายศูนย์ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ไม่สามารถใช้จ่ายในกรุงเทพฯ ได้ ระบบก็ถูกออกแบบมาโดยไม่ได้ใช้บล็อกเชน แต่เป็นการพัฒนาระบบ e-money ธรรมดา

“ผมมองว่าเขากำลังเอาโจทย์ของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมารวมกับการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะยาว จริง ๆ จะใช้หรือไม่ใช้บล็อกเชนก็ได้ แต่ควรเลือกโซลูชั่นที่เหมาะสมที่สุด เพราะถ้าใช้บล็อกเชนก็ต้องแน่ใจว่าประชาชนจะใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาทัศนคติที่ประชาชนมีต่อบล็อกเชนจะกลายเป็นแง่ลบทันที”

นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า ถ้ามองไปถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ผลลัพธ์ควรออกมาเป็นการใช้บล็อกเชนในการเป็นแกนหลักของระบบ ซึ่งเงินดิจิทัลที่ว่าอาจมาในรูปแบบของ Utility Token หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้แลกเพื่อเข้าถึงบริการต่าง ๆ

“แม้ว่าการใช้บล็อกเชนจะเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่การนำบล็อกเชนมาใช้งานจริงยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่ใช้ในแต่ละ transaction สมมติว่าเราโอนเงินไปแล้ว แต่กว่าที่เงินจะเข้ากระเป๋าของอีกฝ่ายใช้เวลาเป็นนาที อันนี้ก็ไม่ได้แล้ว ซึ่งการใช้บนบล็อกเชนยังมีข้อจำกัดตรงนี้อยู่มาก และการใช้แอปเป๋าตังค์ที่มีอยู่แล้วน่าจะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด”