กูรู ส่องนโยบายดิจิทัลวอตเลต หนุนเศรษฐกิจแค่ระยะสั้น

กูรู ส่องนโยบายดิจิทัลวอตเลต

กูรูด้านเทคโนโลยี-เศรษฐกิจ มอง “นโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท” ย้ำ โครงการต้องชัด-แหล่งที่มาของเงินต้องมีแผนการชัดเจน เชื่อเม็ดเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาทสูง คาดช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ 0.2-0.3 เท่า ด้าน “ก้าวไกล” มองให้ยาไม่ถูกโรค เหตุการณ์บริโภคยังฟื้นตัวดี แนะลดงบประมาณ-หนุนโครงการรัฐสวัสดิการแทน มั่นใจช่วยเศรษฐกิจโตยั่งยืน

ดิจิทัล 10,000 บาท สร้างตัวคูณเศรษฐกิจ 0.2-0.3 เท่า

นายปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุนสายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวในเสวนาหัวข้อ “เงินดิจิทัล 10,000 บาท กับ 5 คำถามที่ต้อง เคลียร์” ว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล เพื่อต้องการกระตุ้นให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวระดับ 5%

ภายหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2566 ออกมา 1.8% แย่กว่าคาด และการส่งออกหดตัว -5.5% และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 2567 ซึ่งภายใต้มาตรการแจกเงินดิจิทัลวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ที่จะดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อย่างน้อยภาพเศรษฐกิจน่าจะพอไปได้ อย่างไรกดี ขนาดเม็ดเงินจำนวนมามหาศาลที่เข้ามาครั้งเดียวย่อมมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อและค่าเงินบาทให้ผันผวนได้

ทั้งนี้ หากดูตามโมเดลเบื้องต้นของนโยบาย จะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคจำนวน 56 ล้านคน และลักษณะเป็นเงินโอน ซึ่งให้แล้วหมดไป ทำให้ตัวคูณในระบบเศรษฐกิจคงไม่มากเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2-0.3 เท่า

Advertisment

ซึ่งปัจจุบันแผนยังไม่ชัดเจน อาจทำให้มีการชะลอการบริโภคเพื่อรอเงินดิจิทัลได้ และสินค้าที่ซื้ออาจจะเป็นสินค้านำเข้า ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจจะมีผลน้อยไปด้วย โดยบล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่าจีดีพีปี 2567 จะสามารถขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4% ในขณะที่ SCB EIC มองขยายตัวอยู่ที่ 5%

“ความน่าเชื่อถือจะมาได้ก็ต่อเมื่อมีแผนการชัดเจน แต่จะเห็นว่านายกฯ เริ่มมีการพูดถึงแผนมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจะโตได้ และหนี้สาธารณะจะไม่โตขึ้น แต่ภาพกังวลยังมีอยู่เหมือนที่เกิดขึ้นกับอังกฤษที่ไม่ชัดเจน โดยเราอยากเห็นว่าจีดีพีจะขยายตัว 5% จะโตมาจากอะไร และมีประมาณการที่ชัดเจน และแผนการจะต้องชัดเจนภายในเร็ว ๆ นี้ โดยหากจำนวนเงินที่ใช้คิดเป็น 3% ของจีดีพี จะมีผลต่อเศรษฐกิจราว 0.7%”

แหล่งที่มาของเงินต้องชัด หวั่นถูกดาวน์เกรด

นายปิยศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งที่มาของเงิน เบื้องต้น รัฐบาลไม่ต้องการให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จึงจะมีการใช้เม็ดเงินนอกงบประมาณ ซึ่งคล้ายกับสมัยไทยรักไทย ทำเรื่องของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งตามหลักการจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

โดยข้อดี คือ หนี้สาธารณะไม่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการยืมเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ในปี 2568 ทำให้หนี้สาธารณะไม่เพิ่มขึ้น เพราะจีดีพีเติบโต แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่เขาจับตามอง

Advertisment

ขณะที่ข้อเสีย คือ รัฐบาลยังไม่ชัดเจนว่าเงินจะมาจากไหน และใช้เทคโนโลยีอะไร ซึ่งหากเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนจะเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) จะต้องมีเงินหนุนหลัง

“ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าเขาจะเอาเงินมาไหน เช่น ช่วงในปี 54 ไทยรักไทย ทำกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ทำในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หนุนจีดีพีโตได้เฉลี่ยปีละ 5-6% แต่ภาพตอนนี้รัฐบาลยังไม่ชัด และบริษัทเครดิตเรตติ้งเริ่มกังวล ซึ่งหากโดนดาวน์เกรดจะไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน”

ชี้ เทคโนโลยีแค่วิธีการตอบโจทย์ เปลี่ยนแปลงได้

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธาน KBTG และอดีตที่ปรึกษา CEO ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หลักการของทำดิจิทัลวอลเลต คือ จะต้องเข้าใจข้อจำกัดของสิ่งที่จะทำว่าคืออะไร และโจทย์คืออะไร และจะตอบโจทย์อย่างไร และจะมีการวัดผลอย่างไร ซึ่งเราจะต้องไม่เอาเทคโนโลยีมาเป็นโจทย์ เพราะเทคโนโลยีเป็นวิธีการสามารถเปลี่ยนแปลงได้

โดยโจทย์ คือ ดิจิทัลวอตเลตจำนวน 1 หมื่นบาท กับคนจำนวน 56 ล้านคน หรือคิดเป็นขนาด (Scale) จำนวน 10,000 รายการต่อวินาที ซึ่งจะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้จึงจะเหมาะสม ดังนั้น ขนาดและเวลาที่ใช้เป็นเรื่องสำคัญ โดยกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการวิเคราะห์ว่าจีดีพีจะสูงขึ้น 1-2% หากหันมาใช้ Cashless ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ จะเป็นส่วนช่วยให้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท จำนวนมหาศาลหมุนเร็วขึ้น

“ช่วงโควิด-19 การทำมาค้าขายลำบาก แต่ตอนนี้ไม่ถึงกับหยอดน้ำข้าวต้ม เรายังเดินไหว แต่แขนขาลีบ ซึ่งนโยบายหากหวังผลระยะสั้นจีดีพีโต 5% แต่จะเป็น Sustainability Growth หรือเปล่า หากระยะยาวจะต้องยั่งยืน จะต้องเลือกช่วยคนที่ไม่ไหว และเงินที่เหลือนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเม็ดเงินจะเอามาจากไหน อาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่เงินจะสร้างประโยชน์อย่างไร และทุกครั้งที่คนใช้เพิ่มขึ้น 15-20% จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือน”

แนะให้แรงจูงใจร้านค้ากระตุ้นการเข้าระบบ

นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ 9 แสนกว่าราย มีคนในระบบ 14 ล้านคน เพราะฉะนั้นการสร้างเงินดิจิทัลให้สำเร็จได้ จะต้องมีคนใช้เยอะมาก ทั้งในการเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

“เงินดิจิทัล ถ้าถูกใช้ในกลุ่มนี้ แล้วสร้างเป็นระบบปิด เพื่อให้คนเกิดการใช้จ่ายในระบบปิดนี้ จะทำให้เงินดิจิทัลไม่หลุดออกไปข้างนอก ไม่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท เพราะสิ่งที่เสถียรภาพทางการเงินกลัวมาก คือ เงินดิจิทัล กลายเป็นเงินบาท จะทำให้แวลูของเงินดิจิทัลลดลง เช่น ซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 100 บาท พอใช้เงินดิจิทัล ต้องใช้ถึง 120 บาท เมื่อไม่ต้องการให้เกิดสิ่งนี้ เลยพยายามให้ผู้ประกอบการทั้งประเทศ มีโอกาสที่จะเกิดระบบปิด (close ecosystem) ในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลได้จริง”

นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเสนอแนะว่า เมื่อครบกรอบของการใช้เงินดิจิทัล 2 ปีนี้แล้ว อยากให้รัฐบาลการันตีในการรับซื้อเงินดิจิทัลคืนจากผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้ลงทะเบียน เพราะต้องการให้ผู้ประกอบการ “เต็มใจใช้ และเต็มใจเก็บเงินดิจิทัลไว้ในมือ” เพื่อรอเวลาว่าจะสามารถขายคืนได้กับรัฐบาล

ซึ่งก่อนจะถึงเวลานั้น จะเกิดรอบในการใช้เงินดิจิทัลหลายรอบ อยากจะให้รัฐบาล มองกลุ่ม SMEs ที่ใช้เงินดิจิทัลในทุก ๆ เดือน ช่วยเอาไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจให้เข้ามาใช้เงินดิจิทัล ถ้า 9 แสนกว่าบริษัท คน 14 ล้านคนใช้เงินดิจิทัลขึ้นมาจริง ๆ โอกาสสำเร็จของดิจิทัลวอลเลตถึงจะเกิดขึ้นได้

มองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี-ต่อยอดโครงการในอนาคต

นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ กล่าวว่า โครงการนี้ อาจต้องเกิดขึ้น เพราะประกาศออกไปแล้ว และหากมองอีกมุม อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหากเราวางโครงสร้างที่ดีพอ และสามารถต่อยอดจากเป๋าตังได้ เราอาจแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น การต่อยอดจากโครงการนี้ เพื่อช่วยคนเฉพาะกลุ่ม เช่นนักศึกษา เกษตรกร เหล่านี้อาจเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในระยะยาว

“วันนี้คงย้อนเวลากลับไปไม่ได้เพราะพูดไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือ สุดท้ายหาเงินมาจากไหนจะไม่สำคัญเท่า ดี หรือคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าห่วงมากกว่า”

ก้าวไกลแนะให้สวัสดิการผู้สูงอายุดีกว่าแจกเงิน

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ ผู้แทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เม็ดเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาท มองว่าหากเป็นการลงทุนจะสร้างตัวคูณมากกว่าการแจกเงิน ซึ่งมีการคำนวณผลต่อเศรษฐกิจต่อนโยบายแจกเงินจะอยู่ที่ 0.3-1.2% ซึ่งตัวคูณจะเยอะในช่วงที่เศรษฐกิจตก แต่หากเศรษฐกิจดีตัวคุณจะน้อย เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายแจกเงินในช่วงที่มีโควิด-19 พบว่าตัวคูณได้เพียง 0.5% เท่านั้น และจากทั่วโลกพบว่ามาตรการในกระตุ้นเศรษฐกิจได้สูงสุดอยู่ที่ 2.7%

“หากดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยวันนี้ พบว่าการบริโภคยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การส่งออกที่มีการติดลบ ซึ่งเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินมาก จึงมองว่าเป็นการรักษาไม่ถูกโรค และในเงื่อนไขบังคับใช้ภายใน 6 เดือน เดิมคนใช้เงินตัวเอง 2 หมื่นบาท พอมีดิจิทัลวอตเลตเข้ามาใช้ 2.2 หมื่นบาท แต่เป็นเงินของดิจิทัลวอลเลต แต่เก็บเงินสดของตัวเองไว้ ทำให้เงินที่จะหมุนก็น้อยลง

หากเราเปลี่ยนไปเป็นเงินสนับสนุนผู้สูงอายุ 13 ล้านคน เพิ่มเบี้ย 1,000 บาท คิดเป็นเม็ดเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และหากคูณจำนวน 44 เดือน จะใช้เม็ดเงิน 5.27 แสนล้านบาท ซึ่งจะหนุนเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนกว่า หรือมีการทบทวนเม็ดเงินโครงการลดลง เพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการคลัง”