ธุรกิจชิงเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน “เศรษฐา” จี้ห้างร่วมแคมเปญกระตุ้น

เงินดิจิทัล

ภาคธุรกิจ-ค้าปลีกค้าส่ง เตรียมแผนชิงกำลังซื้อเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท นายกฯเศรษฐา ระบุใช้ผ่านแอป “เป๋าตัง” ชี้ภาคธุรกิจต้องเตรียมแผนเพิ่มกำลังผลิต-จ้างงาน หนุนยักษ์ค้าปลีกแข่งทำแคมเปญ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า “LG-เพาเวอร์บาย” จัดโปร-เตรียมสต๊อกสินค้า คาดดันยอดขายโตกว่า 30% “มือถือ-ไอที” จัดการช่องทางขายทั่วประเทศ ค้าปลีกค้าส่งภูธรหวั่นกำลังซื้อไม่ถึงร้านค้าย่อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทุกคน ซึ่งประเมินว่าต้องใช้วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการเติมเงิน 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนในงวดเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน ทั้งนี้เดิมมีเงื่อนไขการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกลอาจมีปัญหาในการจับจ่ายก็อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแก้เงื่อนไขสำหรับพื้นที่ห่างไกล

นายกฯชี้ใส่เงินผ่าน “เป๋าตัง”

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 14 กันยายน 2566 ที่เข้ากระทรวงการคลัง ถึงนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลตว่า รูปแบบการแจกเงินจะใช้ฐานข้อมูลจากแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เนื่องจากผ่านการยืนยันตัวตน (KYC) เรียบร้อยหมดแล้ว โดยจะทำระบบบล็อกเชนมากำกับข้างหลังเป็นการต่อยอด ส่วนแหล่งเงินมาจากไหน จะชี้แจงให้ทราบภายหลัง จะมีความชัดเจนภายในไม่เกิน 1 เดือนแน่นอน สำหรับการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยจะพยายามทำให้ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 หรือภายในไตรมาสแรกปี 2567

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าใช้ฐานข้อมูลจากแอป “เป๋าตัง” ที่ประชาชนมีการลงทะเบียนใช้งานกว่า 40 ล้านรายแล้ว เพราะหลาย ๆ โปรเจ็กต์ที่อยู่ในแอปเป๋าตัง เช่น การขายพันธบัตรรัฐบาล หรือลอตเตอรี่ออนไลน์ ก็มีเทคโนโลยีบล็อกเชนกำกับอยู่เช่นกัน ดังนั้นการดิจิทัลวอลเลต 10,000บาท ก็จะเป็นอีกโปรเจ็กต์ที่อยู่ในแอปเป๋าตัง

และในการหารือในเบื้องต้น ประชาชนสามารถนำ e-Money ในดิจิทัลวอลเลตใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น (ยกเว้น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา สลากกินแบ่งรัฐบาล) รวมทั้งสามารถนำไปจ่ายในร้านอาหารต่าง ๆ ได้

ธุรกิจเร่งผลิตสินค้ารองรับ

นอกจากนี้ นายเศรษฐากล่าวในงาน Thairath Forum 2023 ว่า โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต จะทำให้เร็วที่สุดไม่เกินภายในไตรมาส 1/67 สิ่งที่รัฐบาลทำนอกจากใส่เงินให้ประชาชนแล้ว ยังตอบสนองความต้องการท้องถิ่น ให้พี่น้องประชาชนที่ทำงานในเมืองได้กลับไปเยี่ยมบ้าน ไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้นด้วย

เรื่องระยะเวลาการใช้ ระยะทางการใช้ และประเภทสินค้าก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะมีความชัดเจนออกมา โดยถ้ารัฐบาลสามารถประกาศได้ว่าวันที่ 1 ก.พ. 2567 เงินเข้าระบบ มั่นใจว่าผู้ประกอบการทั้งหลายก็จะทราบว่าเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ที่จะเข้าไปในตลาดในช่วง 6 เดือน (ก.พ.-ก.ค.) ก็คงมีหลาย ๆ ธุรกิจเร่งผลิต เร่งจ้างงานเพื่อเตรียมสินค้าไว้รองรับ เรียกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดก่อนที่ดิจิทัลวอลเลตถูกลอนช์ออกไปด้วย

นอกจากนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า ในงานนี้มีผู้ประกอบการร่วมฟังอยู่ด้วย ก็เชื่อว่าธุรกิจคงทำการตลาดกระตุ้นเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าคุณชฎาทิพ จูตระกูล (สยามพิวรรธน์) ทำแคมเปญให้ดิจิทัลวอลเลต 100 บาท ไปซื้อสินค้าที่ห้างมีมูลค่า 110 บาท ขณะที่คุณศุภลักษณ์ อัมพุช (เดอะมอลล์) ก็อาจทำแคมเปญเพิ่มให้มีมูลค่าเป็น 111 บาท การแข่งขันเสรีเป็นเรื่องที่ดี ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

สินค้าอุปโภคบริโภครับเต็ม ๆ

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการค้าปลีกหลาย ๆ รายต่างก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกในต่างจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาการกระตุ้นการจับจ่ายในลักษณะนี้ของรัฐบาลชุดเดิมที่ทำมาแล้ว เช่น คนละครึ่ง หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ช่วยให้การจับจ่ายมีความคล่องตัวขึ้น หรือในแง่ยอดขายก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยได้ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อหรือรากหญ้า หรือกลุ่มที่มีกำลังซื้ออยู่แล้วก็จะมีการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าที่จะได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้หลัก ๆ จะเป็นอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ราคาไม่สูงนัก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องมีกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ ขึ้นมารองรับ โดยเฉพาะเรื่องของราคาเพื่อจูงใจ ซึ่งอาจจะมีหลากหลายรูปแบบหลายวิธีการ เพียงแต่ตอนนี้ทุกคนยังรอฟังรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการ ประกอบกับคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มต้นประมาณต้นปีหน้า ดังนั้นจึงมีเวลาที่จะเตรียมตัว ขณะที่บางรายมีการพูดคุยถึงช่องทางการทำรถเร่เข้าไปขายตามชุมชน

“เม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่มาก หากหมุนเวียนในระบบได้สัก 2-3 รอบ น่าจะช่วยให้จีดีพีปีหน้าโตได้ประมาณ 4-5% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะได้ประมาณ 3.0-3.5%” แหล่งข่าวกล่าว

เครื่องใช้ไฟฟ้าบริหารสต๊อก

ด้านธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยนายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีการประชุม วางแผนการจัดโปรโมชั่นและการสำรองสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าสินค้ากลุ่มทีวี เครื่องซักผ้าและตู้เย็น ระดับราคาประมาณ 1 หมื่นบาท จะมีดีมานด์สูง สะท้อนจากสถิติการขายในช่วงนโยบายอุดหนุนครั้งก่อนที่เครื่องซักผ้าราคาประมาณ 7-9 พันบาท ขายดีมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการบริหารสต๊อกสินค้า เนื่องจากปกติช่วงต้นปีร้านค้าจะไม่นิยมมีสต๊อกสินค้ามากนัก หลังเคลียร์สต๊อกเก่าของปีก่อนหน้าและเตรียมเข้าหน้าขายเครื่องปรับอากาศ

“นโยบายเงิน 1 หมื่นบาทนี้น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยอดขายของบริษัทได้ คล้ายกับช่วงโครงการอุดหนุนเงินในครั้งก่อน ๆ ซึ่งช่วยให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 30%”

ขณะที่นายวรวุฒิ พงศ์ชินภัค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด ในเครือเซ็นทรัล กล่าวว่า นโยบายนี้น่าจะส่งผลในทิศทางที่ดีเช่นเดียวกับนโยบายก่อน ๆ เนื่องจากมาเสริมกำลังซื้อให้ผู้บริโภคหลังจากที่แบรนด์ต่าง ๆ เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ในช่วงปลายปี โดยบริษัทจะเข้าร่วมอย่างแน่นอนเช่นเดียวกับโครงการที่ผ่าน ๆ มา เพียงแต่ต้องรอรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนจึงจะสามารถวางแผนได้ชัดเจน

ทั้งนี้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการชะลอจับจ่ายในช่วงปลายปีเพื่อรอเงินก้อนนี้ แต่จะทำให้เกิดการจับจ่าย 2 รอบ คือการซื้อในช่วงเทศกาลช็อปปิ้งปลายปี ซึ่งตลาดมีทั้งสินค้าใหม่และแคมเปญต่าง ๆ และการช็อปอีกครั้งหลังจากได้เงินก้อนนี้

“มือถือ-ไอที” รอรับอานิสงส์

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติในช่วงไตรมาส 4 เป็นหน้าขายสินค้าไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะสินค้าเปิดตัวใหม่อย่างไอโฟน 15 และแบรนด์อื่น ๆ จะกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคได้ หากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยก็จะยิ่งเป็นโอกาสในการขายสินค้า เห็นได้จากโครงการช้อปช่วยชาติที่ผ่านมา

“สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ ระบบรองรับเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้าน ซึ่งครั้งนี้มีส่วนที่เพิ่มเข้ามาจากครั้งก่อน ๆ คือ เงื่อนไขรัศมี 4 กิโลเมตร จึงต้องเตรียมพร้อม ทั้งในแง่สินค้าและพื้นที่ขาย อย่างร้านเจมาร์ทที่อยู่ในห้างก็จำกัดในเมือง แต่ซิงเกอร์มีทั้งสาขาสแตนด์อะโลน และช่องทางการขายสินค้าที่กระจายออกไปได้ทั่วถึง จึงรองรับเงื่อนไขในเชิงพื้นที่ได้”

โดยส่วนตัวมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ มีโอกาส 2 อย่าง คือระบายสินค้าเก่า และกระตุ้นให้ซื้อสินค้ารุ่นใหม่ กรณีระบายสต๊อกอาจทำได้โดยเพิ่มโปรโมชั่น on top ส่วนลดต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ

“ในแง่การจัดการสต๊อกสินค้าคงต้องดูดีมานด์ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย เนื่องจากโครงการนี้ใช้เวลานานถึง 6 เดือน ระหว่างนั้นจะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ของหลายแบรนด์ เราต้องสั่งของในช่วงเวลานั้น แต่ส่วนที่เป็นอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ สั่งไว้ล่วงหน้าได้ ปกติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 1-2 เดือน

ทำให้คนตัดสินใจซื้อเร็วแบบได้เงินต้นเดือน ซื้อปลายเดือน ทำให้เห็นการเติบโตและดีมานด์สูง อาจโต 20% ในไตรมาสนั้น ๆ ขณะที่โครงการนี้มีระยะเวลา 6 เดือน ทำให้คนมีเวลาตัดสินใจนานขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไอที และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีรุ่นใหม่ ๆ ออกมา ดีมานด์จะยังไม่เห็น growth ที่ชัดเจน คาดว่าจะเพิ่มดีมานด์ 10-15%”

ประโยชน์ทั้งทางตรง-ทางอ้อม

ด้านนายพรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อไอซีที และการจัดงาน บมจ.เออาร์ไอพี ผู้จัดงานคอมมาร์ต (COMMART) กล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเลต, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรืออื่น ๆ ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งกลุ่มสินค้าไอทีมีโอกาสได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจเป็นในลักษณะที่ผู้บริโภคนำเงินในดิจิทัลวอลเลตไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ แล้วเหลือเงินส่วนตัวมาซื้อสินค้าไอทีเพิ่ม หรือถ้าในอนาคตดิจิทัลวอลเลตมีขอบเขตการใช้งานที่ชัดเจนขึ้น สินค้าไอทีก็อาจได้รับอานิสงส์ทางตรงด้วย

“ในฐานะที่เป็นผู้จัดงานสินค้าไอที การเตรียมความพร้อมในแง่แคมเปญโปรโมชั่นให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นโยบายภาครัฐเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่จะช่วยกระตุ้นยอดขาย หรือกำลังซื้อ ถ้าออกมาในช่วงที่มีการจัดงานพอดี และใช้กับสินค้าไอทีได้ หน้าที่เราคือศึกษาข้อกำหนด และกฎเกณฑ์การใช้งานอย่างละเอียด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งฝั่งร้านค้า และผู้บริโภค”

นายพรชัยกล่าวด้วยว่า งานคอมมาร์ตในช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายภายในงานถึง 3,300 ล้านบาท มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 3,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อสินค้าไอทีไม่น่าเป็นห่วง อีกทั้งไอทีเป็นสินค้าทางใจที่คนยอมจ่ายเพื่อแลกความสุขในการใช้งาน

หวั่นกำลังซื้อไม่ถึงร้านค้าย่อย

นายประกอบ ไชยสงคราม ผู้บริหาร บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องเงินดิจิทัลวอลเลตที่รัฐบาลจะแจกให้กับประชาชนนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโปรโมชั่นสำหรับการกระตุ้นตลาด เพราะโดยส่วนตัวยังไม่ทราบถึงความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว จากที่สอบถามกับทางซัพพลายเออร์ก็ยังไม่ได้คำตอบอะไร ทำให้มีข้อสงสัยหลายประการว่าประชาชนคนทั่วไปจะรับสิทธิได้ต้องทำอย่างไรบ้าง ประเด็นดังกล่าวหากรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนจะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ทุกช่องทาง

“หลายคนสนับสนุนให้รัฐบาลใช้แอปเป๋าตังที่มีอยู่แล้ว ส่วนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือไม่มีแอปก็สามารถใช้บัตรประชาชนได้ และทุกองค์กรทุกร้านค้าต้องสามารถใช้เงินก้อนนี้ได้หมด ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดทั่วไปคุยกันอยู่ว่าเงินก้อนนี้คงไม่ถึงพวกเขา เพราะไม่มีใครเอาเงินหนึ่งหมื่นไปซื้อหมูปิ้งทุกวัน แต่เงินจะไปตกอยู่ที่สินค้าพวกแอร์ โทรทัศน์ มือถือ ยิ่งรวมกันเป็นเงินกองใหญ่รวมจากสมาชิกในครอบครัวอาจจะออกมอเตอร์ไซค์ด้วยซ้ำ

แล้วสิ่งที่น่ากังวลก็คือชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองที่เข้าถึงการใช้เงินยาก จะยอมรับเงินสดจากนายทุนที่ไปตั้งโต๊ะแลกเครดิตเงินที่รัฐบาลให้มา แม้ไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน 1 หมื่นบาท แต่แค่ได้เงินสดก็พอ ต่อให้ต่ำสุดถึง 6,000 บาท ชาวบ้านก็ยอม”

นายประกอบกล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ได้จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าเงินก้อนนี้ใช้อย่างไร

ยาแรงกระตุ้นระยะสั้น

ด้านนายธิติ วิชชาพิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮกกี่ซุปเปอร์มาร์ท จำกัด จ.นครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในทิศทางเดียวกันว่า นโยบายเรื่องเงินดิจิทัลวอลเลตดูเหมือนจะยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด แต่ในฐานะผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง ก็คงพยายามเป็นหนึ่งในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและจัดโปรโมชั่น ให้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลประกาศเพื่อกระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการให้มากที่สุด ในส่วนของซัพพลายเออร์ก็น่าจะส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้นด้วย แต่ต้องรอดูความชัดเจนของรัฐบาลต่อไป

“ผมคิดว่านโยบายนี้รัฐบาลฉีดยาแรงอยู่ และน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี แต่คงอยู่ในระยะสั้น ไม่มีผลในระยะยาว ผมไม่แน่ใจว่ารัศมีการใช้จ่ายเงินของประชาชนยังอยู่ที่ 4 กิโลเมตรหรือเปล่า ถ้าขยายขอบเขตให้อยู่ในรัศมีของเขตอำเภอจะดีกว่ามาก และในฐานะผู้ประกอบการก็อยากให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้จ่ายเงินได้ง่าย ไม่ซับซ้อน”