ศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ ครั้งใหม่ เฉลิมชัยคุมเอง ล้มแผนขั้วอำนาจเก่า

ประชาธิปัตย์

9 ธันวาคม 2566 ประชาธิปัตย์นัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เป็นครั้งที่สาม หลังจาก “องค์ประชุมไม่ครบ” จำนวน 250 คนมาแล้วสองครั้ง

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 กลับมาเร่งเร้าอีกครั้ง เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค ผ่าน “ไลน์กลุ่ม” หลังจากเกิดเหตุ “ขัดข้องทางเทคนิค” เมื่อข้อมูลในระบบกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองเกิดรวนขึ้นมากะทันหัน

จะโดยบังเอิญหรือจงใจมี “มือมืด” เปลี่ยนชื่อ “รักษาการหัวหน้าพรรค” จากเดิมคือ “จุรินทร์” เป็น “นราพัฒน์ แก้วทอง” รักษาการหัวหน้าพรรค และยังเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค แม้ภายหลังชื่อของนายนราพัฒน์จะถูกถอดออกจากระบบแล้วก็ตาม

“ท่านจุรินทร์เห็นว่าเพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยในประเด็นข้อกฎหมาย และต้องการให้การจัดประชุมวิสามัญของพรรคเป็นไปด้วยความราบรื่น จึงได้แสดงเจตจำนงลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค” เป็นคำบอกเล่าของ “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์

เดดไลน์ 1 ปี เป็นการบีบให้ 2 ขั้วในพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือก ต้องรีบจบเกมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ “ยกที่สาม” ให้ได้โดยเร็ว วัน ว. เวลา น. จึงมาตกฟากในวันที่ 9 ธันวาคม 2566

ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ หมวด 9 การประชุมใหญ่ ข้อ 78 (1) กำหนดไว้ว่า การประชุมใหญ่สามัญหมายถึง การประชุมที่คณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องจัดให้มีขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนเมษายนของทุกปี

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 37 บัญญัติไว้ว่า พรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ขณะที่ พ.ร.บ.พรรคการเมือง หมวด 8 การสิ้นสุดของพรรคการเมือง มาตรา 90 (1) พรรคการเมืองสิ้นสุดลงเมื่อ สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 (4) พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ “ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย”

ADVERTISMENT

บทสรุปในการประชุมกรรมการบริหารพรรค “เคาะวัน” เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ก่อนถึงครบ 1 ปี และแต่งตั้ง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ควบ “รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” อีกตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังให้แก้ไขข้อบังคับพรรค โดยการเพิ่มองค์ประชุมที่มาจากตัวแทนภาค ภาคละ 30 คน รวม 150 คน เพื่อเป็น “องค์ประชุมสำรอง” ไว้ในกรณีไม่ครบองค์ประชุม

ด้วยสูตรการลงคะแนน 70 ต่อ 30 (สส.ปัจจุบันมีน้ำหนัก 30%) “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย” จึง “ถือไพ่เหนือกว่า” กลุ่มเพื่อนอภิสิทธิ์ และคุมเกมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่อย่างเบ็ดเสร็จ

มี 21 สส.เป็นขุมกำลังสำคัญ นำโดย “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่กุมเสียง 17 สส.ปักษ์ใต้ เป็นแต้มต่อ

โดยมีชื่อของ “นราพัฒน์” แคนดิเดตหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ เป็น “ข้อกลาง” เชื่อมระหว่างขั้วอำนาจเก่า-อำนาจใหม่ หลังจากทำสัญญาใจกับ “เฉลิมชัย” จะใช้เวลา 1 ปีครึ่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรครื้อโครงสร้างข้อบังคับพรรคให้ทันสมัย

3 สิ่งแรกที่ “นราพัฒน์” จะทำถ้าเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ 1.ตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างและแก้ข้อบังคับที่เป็นปัญหา เช่น ข้อบังคับ 70 ต่อ 30

โดยตั้งตุ๊กตาว่า กรณีมี สส. 150 คน 200 คน จะโหวตแบบไหน ถ้า สส. 20 สส. 25 สส. 10 คนจะโหวตแบบไหน อะไรเป็นข้อบังคับที่ใช้ได้ทุกกรณี

2.กำหนดวาระหัวหน้าพรรค กก.บห. อยู่ติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ หรือติดต่อกันไม่เกิน 8 ปี และ 3.การดำรงตำแหน่งไม่ต้องเป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี อาจจะ 2 ปี 3 ปี หรือยกเลิกไปเลย

หากย้อนกลับฟื้นความทรงจำกับการล่มองค์ประชุม-ล้มเลือกหัวหน้าพรรค 2 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งแรก วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ถือว่าเป็นวันที่ 2 ขั้วงัดข้อกันอย่างหนัก

เมื่อก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม “สาธิต ปิตุเตชะ” รักษาการรองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบภาคกลาง เสนอในที่ประชุมขอใช้ข้อบังคับพรรคข้อที่ 137 เพื่อ “ยกเว้น” ข้อบังคับพรรค “70 ต่อ 30”

ขณะที่ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รักษาการรองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบ กทม. เสนอญัตติให้ “เลื่อน” การประชุมออกไป แต่ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยเพียง 151 เสียง ไม่ถึง 3 ใน 5 ขององค์ประชุมทั้งหมด 289 เสียง ญัตติจึง “ตกไป”

ส่วนญัตติยกเว้นข้อบังคับ “70 ต่อ 30” ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 147 เสียง ไม่ถึง 3 ใน 5 ทำให้ญัตติของนายสาธิตตกไปเช่นกัน และช่วงประธานสั่งพักการประชุมกว่า 1 ชั่วโมงนั้นเอง “กลุ่มเพื่อนสาธิต” ได้วอล์กเอาต์ ทำให้องค์ประชุมเหลือไม่ถึง 250 คน

ครั้งที่สอง วันที่ 6 สิงหาคม 2566 เป็นไปตามที่นักการเมืองวิเคราะห์ตรงกันว่า การประชุมเลือกหัวหน้าพรรคองค์ประชุมจะ “ล่มเป็นครั้งที่สอง”

ในวันนั้นองค์ประชุมมีจำนวน 210 คน แต่องค์ประชุมตามกฎหมายต้องมีทั้งหมด 250 คนถึงจะครบองค์ประชุม ถึงแม้ว่าจะรอเวลาให้องค์ประชุมครบ แต่สุดท้ายมีองค์ประชุมเพียง 223 คนเท่านั้น

จนทำให้ “กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย” ดาหน้าออกมาแถลงประณามการทำให้องค์ประชุมล่มเป็นครั้งที่สองว่า เป็น “พฤติกรรมเลวทราม” พร้อมกับการออกมาแฉว่า มีการพาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นโหวตเตอร์ “เที่ยวลาว” จนองค์ประชุมไม่ครบ

“การไม่สามารถประชุมได้ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา เพราะองค์ประชุมล่ม ครั้งแรก วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 และครั้งที่สอง ครั้งนี้ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ”

“มีการให้องค์ประชุมออกจากห้องประชุม มีการให้องค์ประชุมไม่ลงชื่อในการประชุม มีการให้องค์ประชุมไปเที่ยวประเทศลาว เพื่อไม่ต้องมาประชุม ผมถือว่าเป็นพฤติกรรมเลวทรามมาก” นายเฉลิมชัยพร้อม สส. 21 ชีวิตเหมือนกาน้ำร้อนที่กำลังเดือด

9 ธันวาคมนี้ น่าจับตาว่าจะได้ชื่อหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่-คนที่ 9 หรือไม่ อาจมีชื่อ “จุรินทร์” กลับมาลุ้นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง