เงินดิจิทัล 10,000 บาท กรณ์วิเคราะห์ กู้มาแจก “แท้ง”

กรณ์ จาติกวณิช

กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง แสดงความคิดเห็นการกู้มาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท คงไม่เกิดแล้ว 

วันที่ 21 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต  รมว.คลัง ให้ความเห็นกรณีการแจกเงิน 10,000 บาทว่า การกู้เงินมาเพื่อ ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ คงไม่เกิดแล้ว แม้ว่าทางรัฐบาล (จริง ๆ คือพรรคเพื่อไทย) ยังจะวางท่าทีขึงขังเหมือนจะเดินหน้าต่อก็ตาม

ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศออกมาก่อนเลือกตั้ง ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ไม่ต่างกับผู้คัดค้านอีกหลายท่าน ทั้งในแง่การเมือง (การหาเสียงแนวนี้มีแต่จะทำให้การเมืองแย่ลง) 

แง่เศรษฐกิจ (เป็นการใช้เงิน (กู้) ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ) และแง่กฎหมาย (รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยทางการคลัง ชัดเจนมากว่าทำไม่ได้)

ส่วนตัวผมถอยจากการเมืองมาแล้วก็ไม่อยากออกตัวมากมาย แต่บางเรื่องที่ผมถือว่าพอมีความรู้และประสบการณ์ และเป็นเรื่องที่มีผลใหญ่หลวงกับบ้านเมือง ผมมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมจึงขอแสดงออก ผิดถูกอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจตัดสินใจเองอยู่ดี

หลังจากที่ได้อ่านความเห็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผมสรุปได้เลยว่าประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผลสรุปว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่อยู่ในเกณฑ์วิกฤต เมื่อไม่วิกฤตก็ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยทางการคลังที่จะออกกฎหมายกู้เงินแบบ “นอกงบประมาณ” ดังนั้น เมื่อ ป.ป.ช.สรุปตามนี้ หากรัฐบาลเดินหน้าต่อไปจะเสี่ยงมาก

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเขาอาจจะยังกล้าเดินหน้า..

แต่ผมไม่คิดว่าพรรคร่วมจะเอาด้วย ทางการเมืองนโยบายนี้เป็นของเพื่อไทย ไม่ใช่ของพรรคอื่น ถ้าทำได้และทำดี พรรคเดียวที่ได้ประโยชน์คือเพื่อไทย อันนี้ต่างกับนโยบายอื่นที่ก็มีคนคัดค้านมากมายเหมือนกัน เช่น Land Bridge เพราะนโยบายนี้พูดไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลลุงตู่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ จึงมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่ภูมิใจไทยที่มีความเป็นพรรคภาคใต้มากขึ้นก็ไม่อยากค้านเรื่องนี้ ประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านยังไม่มีท่าทีเรื่องนี้ที่ชัดเจนเลย

ADVERTISMENT

แต่แจกเงินดิจิทัลนี้ หากล้มไปตอนนี้ผมเชื่อว่าพรรคร่วมแทบทุกพรรคจะถอนหายใจโล่งอก หนึ่งไม่ต้องเสี่ยง สองปัญหาตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว

แต่ถ้าล้มหลังผ่าน ครม. หรือผ่านสภาไปแล้ว พรรคร่วมจะมีปัญหาด้วย เพราะต้องร่วมรับผิดชอบ

ในกรณี พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะตอนนั้นยุบสภาไปแล้ว และรัฐบาลอยู่ในสภาพรักษาการ

ที่สำคัญตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องร้องเรียน พ.ร.บ.ฉบับนั้นกับศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยื่นด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกันนักกับข้อสรุปล่าสุดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็คือการออก พ.ร.บ.ในกรณีที่ไม่เร่งด่วนจำเป็นทำไม่ได้ ต้องใช้เงินใน พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น (ซึ่งตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยเองก็ยืนยันว่าจะทำตามนั้น)

และที่สำคัญผู้ที่ร่วมลงนามยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวันนั้น มีทั้ง สส. ทั้งรัฐมนตรี และรวมไปถึงแม้แต่หัวหน้าพรรคของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ดังนั้น ผมเชื่อว่าเรื่องนี้คงไม่ได้ไปต่อ เพราะท่านเหล่านั้นตระหนักเป็นอย่างดีว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงินลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ วันนี้มี พ.ร.บ.วินัยทางการคลังมายํ้าประเด็นเพิ่มเติม และยังมีความเห็น ป.ป.ช.ที่ไม่เห็นด้วยอีกต่างหาก 

ผมคิดว่าเพื่อไทยคงหาทางลงอยู่ จริง ๆ แล้วก็แค่บอกว่า ‘เราเคารพความเห็นและความกังวลของทุกฝ่าย เราจะเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีอื่น โดยเราจะให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน การฟื้นฟูการลงทุน การยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนไทย และการส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมในทุกภาคธุรกิจ’

ผมว่าถ้าออกมาอย่างนี้ รัฐบาลจะไปต่อได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าดันทุรังรัฐบาลจะมีปัญหา ซึ่งหมายความว่าประเทศก็จะมีปัญหา ยิ่งจบเร็วยิ่งจะมีผลเสียน้อยกับทุกฝ่ายครับ