
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” กลับเข้าสภา ไม่พ้น สส. เหตุไอทีวีไม่ประกอบกิจการสื่อในวันที่สมัคร สส.
วันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติในดคีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์ในเวลา 14.00 น.
ทั้งนี้ มีรายงานว่าประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคือ บริษัทไอทีวียังคงประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม คดี “หุ้นไอทีวี” ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เกิดขึ้นก่อนช่วงเลือกตั้ง
สรุปประเด็นคำวินิจฉัย
ต่อมาเวลา 14.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งถึงประเด็นการครอบครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชน และจำนวนหุ้นว่า รัฐธรรมนูญห้ามการเข้าถือหุ้นในบริษัทที่ต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่
“ฉะนั้น การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายตามรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ว่าผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหารหรือครอบงำกิจการก็ตาม การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ชัดเจน ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา มีช่องทางที่จะใช้ หรือถูกใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในทางใดทางหนึ่ง”
ดังนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)จึงห้าม สส.เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้น หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นในจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีอำนาจบริหารงาน หรือครอบงำกิจการหรือไม่
ขณะที่การถือหุ้นของนายพิธานั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายพิธาถือหุ้นในบริษัทไอทีวี ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.
ส่วนประเด็นไอทีวีมีความเป็นสื่อหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า ณ วันที่นายพิธาสมัคร สส.ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ การถือหุ้นของนายพิธาจึงไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)
ความเป็น สส.ของนายพิธาจึงไม่สิ้นสุดลง
ไทม์ไลน์คดี
ย้อนกลับไปช่วงก่อนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ขณะนั้นมีรายงานว่า บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 และ โดยหนึ่งในผู้ที่ได้รับหนังสือเชิญการประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นคือนายพิธา โดยการประชุมมีขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566
แต่ก่อนหน้านั้นมีตัวละครชื่อ นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร สส.กทม. เขตคลองสามวา พรรคภูมิใจไทย โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า “นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต.ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่ง ถือ 42,000 หุ้น”
จากนั้น เมื่อเดือนพฤษภาคม 9 พฤษภาคม 2566 “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว
นายพิธาชี้แจงในวันเดียวกันว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวล เพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และได้ปรึกษา และแจ้งต่อ ป.ป.ช.ไปนานแล้ว ทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการทลายทุนผูกขาดในประเทศนี้”
วันรุ่งขึ้น เรืองไกร ยื่นคำร้องในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ให้ กกต.ตรวจสอบ ว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น หรือไม่
ก่อนเรื่องราวลุกลามแตกออกเป็นหลายประเด็น เช่น เรื่องการตั้งคำถามว่าไอทีวียังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ รวมถึงมีการ “เปิดบันทึกการประชุม” ผู้ถือหุ้นไอทีวีว่า จริง ๆ แล้วในที่ประชุมพูดอย่างไร ตรงกับบันทึกการประชุมหรือไม่
เพราะมีการเปิดเผยบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในลายลักษณ์อักษรในวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์ โดยบันทึกผลการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ไอทีวี ได้ตอบคำถามจากนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดนายนิกม์ ที่ถามว่า “มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ครับ”
“ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”
ขณะที่รายการข่าว 3 มิติ ได้เปิดเผยเสียงบันทึกการประชุม โดยนายคิมห์ อ่านคำถามจากนายภาณุวัฒน์ว่า “มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ครับ”
พร้อมตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”
แต่ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุม กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากยังถือครองหุ้นสื่อ จึงส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา
20 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดไต่สวนพยานจำนวน 3 ปาก ประกอบด้วย พยานฝั่งผู้ถูกร้อง 2 คนคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับนายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 และยังเป็นผู้เซ็นรับรองในรายงานบันทึกการประชุม ส่วนพยานอีก 1 คน เป็นฝั่งผู้ร้อง (กกต.) คือนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.
ข้อต่อสู้ของพิธา
วันที่ 21 มกราคม 2567 พรรคก้าวไกลได้เผยแพร่คลิปวิดีโอกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยยก 6 ข้อที่นายพิธาไม่ควรหลุดออกจาก สส.ดังนี้
- ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากไอทีวีถูกรัฐบาลไทยแจ้งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2550
- ภายหลังมีการออก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก่อให้เกิด “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” ส่งผลให้ไอทีวีต้องเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์ รวมถึงยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายในศาลปกครองกับรัฐบาลไทยด้วย
- คิมห์ ประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันต่อศาลว่าไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะทำสื่อ และถ้ายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะศาลเคยเห็นว่าหากไม่มีรายได้จากการทำสื่อก็ไม่ถือเป็นสื่อ
- ไม่มีหลักฐานจดแจ้งการพิมพ์ จึงไม่อาจเป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นได้
- ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา จึงไม่อาจประกอบกิจการดังกล่าวได้
- ศาลปกกครองสูงสุดเคยชี้ว่า ไอทีวีไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุ โทรทัศน์แล้ว
หรือต่อให้สมมติว่าเป็นสื่อมวลชนจริง นายพิธาก็มีหลักฐานว่าไม่ได้ครอบครองหุ้นตั้งแต่วันสมัคร สส. คือตั้งแต่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ตอนเป็น สส. ปี 2562 นายพิธาแจ้งชัดเจนว่าถือหุ้นดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกจากพ่อที่เสียชีวิต หรือหากศาลมองว่าถือหุ้นสื่อจริง หุ้นดังกล่าวก็มีสัดส่วนเพียง 0.00348% เท่านั้น ไม่สามารถครอบงำ สั่งการ ให้ทำการใด ๆ หรือไม่ทำการใด ๆ ได้
- การเมืองนอกสภาดุเดือด ลุ้น “พิธา” พ้น สส.-ยุบพรรคก้าวไกล
- ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัย พิธา-ก้าวไกล 31 ม.ค. ปมหาเสียงยกเลิก ม.112
- ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตาพิธา ถือหุ้นไอทีวี 24 ม.ค. 2567
- พิธามั่นใจ 100% พ้นผิดคดีถือหุ้นไอทีวี เพราะไม่มี Iicense ทำสื่อ
- พลิกปูมนิรโทษกรรม 16 ปี เพื่อไทยติดหล่ม ทักษิณ ก้าวไกลติดล็อก ม.112