การเมืองนอกสภาดุเดือด ลุ้น “พิธา” พ้น สส.-ยุบพรรคก้าวไกล

ก้าวไกล
คอลัมน์ : Politics policy people forum

พรรคก้าวไกล เข้าใกล้เขตแดนอันตราย เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 2 คดีที่อาจทำให้พรรคก้าวไกลต้องถึงจุดสิ้นสุดหรือไม่

หนึ่ง คดีหุ้นไอทีวีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

สอง คดีที่ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่

ที่มา 2 คดีวิบากกรรม

เรื่องราวเริ่มต้นที่คดี “หุ้นไอทีวี” ของ “พิธา” ต้องย้อนกลับไปก่อนช่วงการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า

จู่ ๆ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2566 มีรายงานว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 และหนึ่งใน “ผู้ถือหุ้น” ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมคือ “พิธา”

ซึ่งปมหุ้นสื่อ ถือเป็น “เรื่องต้องห้าม” ของบรรดานักการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญใส่เรื่องดังกล่าวไว้ในคุณสมบัติของการเป็น สส.

ปรากฏว่า เมื่อการเลือกตั้งงวดใกล้เข้ามาทุกขณะ เริ่มมีการปล่อยข่าวว่า “พิธา” ถือหุ้น “ไอทีวี” ปรากฏว่า กระทั่งเรื่องดังกล่าวถูกนำมาร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

ยื่นคำร้องเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566 ให้ กกต.ตรวจสอบว่า “พิธา” มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

กระทั่งเรื่องราวลุกลาม แตกออกเป็นหลายประเด็น เช่น เรื่องการตั้งคำถามว่าไอทีวียังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่

หลังวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พิธาชี้แจงว่า โอนหุ้นไอทีวีให้กับญาติไปก่อนหน้านี้แล้ว

กระทั่งที่ประชุม กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากยังถือครองหุ้นสื่อ จึงส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลากว่า 6 เดือนในการพิจารณา ก่อนจะชี้ชะตา “พิธา”

หาเสียง ปม 112

อีกคดีที่มีการร้องให้ “ยุบพรรคก้าวไกล” ต้องย้อนไปวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด ให้พิจารณาดำเนินการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล เลิกกระทำการใด เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

และให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และจะวินิจฉัย 31 มกราคม 2567

แนะเก็บพิธาไว้ในสภา

“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ความมี-ไม่มี “พิธา” อยู่ในสภาว่า ถามว่าไม่มีพิธา พรรคก้าวไกลไหวไหม…สบายมาก ไม่มีผลกระทบมากเท่าไหร่

ถ้ากลับมาเป็น สส. อาจเพิ่มเขี้ยวเล็บให้พรรคก้าวไกลนิดหน่อย เพราะจริง ๆ คุณพิธาเหมือนลอยตัวเหนือทุกสรรพสิ่งแล้ว ไม่มีมากกว่านี้อีกแล้ว และเป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลต้องไปจัดความสัมพันธ์ในพรรคว่าจะเปลี่ยนหัวหน้าพรรคอีกไหม จังหวะไหนถึงจะเปลี่ยน

“ทุกวันนี้ที่พรรคก้าวไกลกระแทกใส่รัฐบาลคือกระแทกด้วยเนื้อหา แม้คุณพิธากลับมาเป็น สส. ก็อาจจะดึงความสนใจของผู้คน เหมือนเอาเนื้อหามาให้คุณพิธาพูด กับให้ สส.คนอื่นพูด คนอาจจะฟังคุณพิธาเยอะกว่า แต่สาระสำคัญไม่ได้เปลี่ยน”

ส่วนถ้า “พิธา” พ้น สส.ขึ้นมาจะส่งผลเอฟเฟ็กต์ทางการเมืองภาพใหญ่หรือไม่ “ดร.สติธร” กล่าวว่า ต้องดูว่าเอฟเฟ็กต์กระแทกใคร ข้อดีข้อเสียคืออะไร

การมีอยู่ของคุณพิธา แปลว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ ต้องเสนอคุณพิธาขึ้นมาสู้ ในมุมของคนที่สู้กับพรรคก้าวไกล เขาก็ต้องรู้สึกว่าชัดเจนกว่า เราค่อยไปหาวิธีสู้กับพิธา เพราะมันชัด แต่ถ้าพรรคก้าวไกลเปลี่ยนคน สมมุติเป็น คุณศิริกัญญา ตันสกุล มาสู้ เรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เพราะถ้าตัดคุณพิธาออกไป 1 คน ก็ไม่ได้ตัดออกไปจากโลกนี้ เขาแค่ไม่ได้อยู่ในสภา แต่เขาสามารถไปขับเคลื่อนงานด้านอื่นได้ มีตัวแบบอยู่แล้วคือ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

อาจไปผนึกกับขาของคุณธนาธรให้แข็งแกร่งขึ้นอีกก็ได้ มีเวลาให้เขาไปตะลุยเต็มที่ ส่วนงานสภา งานพรรค คุณชัยธวัชก็รับมือได้ ดังนั้น อาจเก็บคุณพิธาไว้ที่สภาดีแล้ว ดีกว่าปล่อยให้คุณพิธาไปขลุกกับคุณธนาธรในคณะก้าวหน้าเต็มตัว

“ยังไม่นับสิ่งที่มองไม่เห็น เรื่องกระแสการเมืองภาคประชาชน ถ้าคุณพิธาไม่ได้อยู่ในสภา สามารถไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์กับกลุ่มภาคประชาชนได้อีก ดังนั้น เก็บคุณพิธาไว้ในสภาดีกว่า เพราะจะพอเดาได้ว่าพรรคก้าวไกลและคุณพิธาเป็นอย่างไร คงไม่ได้ไปไกลกว่านี้เยอะ แล้ววัดในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีคุณพิธาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เอาใครไปสู้ก็ว่ากัน มีเวลาอีก 3 ปี”

ส่วนเรื่องการ “ยุบพรรค” สติธรมองว่า ควรมีพรรคก้าวไกลต่อไป โจทย์เดียวกันยุบพรรคก้าวไกลไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร ก็เหมือนยุบพรรคอนาคตใหม่แล้วได้พรรคก้าวไกลมา ต้องชั่งน้ำหนักเอา หรืออาจมีความคิดหนึ่งคือยุบไป เพื่อให้พรรคก้าวไกลไปตั้งหลักใหม่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะตั้งหลักใหม่แล้วไง ตอนยุบพรรคอนาคตใหม่แล้วแปลงร่างเป็นพรรคก้าวไกลก็ไม่ติดขัดอะไร

อย่างมากก็มีงูเห่ากระจัดกระจาย ให้พรรคอื่นไปช้อนซื้อเล่น เพื่อเติมเสียงในสภา แต่ก็เห็นแล้วว่าเป็นวิธีการระยะสั้น สมมุติวันนี้อยากได้เก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่ม ก็ไปช้อนซื้อมา ไม่มีผลในระยะยาว เพราะงูเห่าสอบตกหมด เผลอ ๆ เติมเก้าอี้ สส.ในสภาแล้วอาจที่นั่งใน ครม.ลดลงก็ได้ เพราะแต่ละพรรคก็ สส.เยอะ หารออกมาโควตาลดก็เป็นไปได้

“สติธร” จึงเดาทางศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่าจะยุบพรรคก้าวไกล