
โฆษกรัฐบาล แจงยิบ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ข่วยร้านค้ารายย่อย 1.2 ล้านราย ส่วน 7-11 จำนวน 1.4 หมื่นสาขา ครึ่งหนึ่งเป็นของแฟรนไชส์ มั่นใจ ร้านค้าได้เงินรอบแรก ต้องนำไปหมุนซื้อสินค้าทุนแน่นอน หมุนเศรษฐกิจได้ 3.5 รอบ
วันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้มติ ครม.เห็นชอบในหลักการทั้งหมด ที่คณะกรรมการฯเสนอมา แต่คำว่าเห็นชอบในที่นี้ คือเห็นชอบในตัวหลักการ แต่เวลาปฏิบัติจากนี้ไปทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ จะต้องไปทำรายละเอียด โดยมีการคำนวณไทม์ไลน์แล้วว่าจะทันในการลงทะเบียนในไตรมาส 3 อย่างแน่นอน
การจ่ายเงินการโอนรัฐบาลจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน ทั้งกฎหมายการเงิน การทำโครงการใดก็ตามจะต้องมีเม็ดเงินที่เรียกว่า เม็ดเงินครบเต็มจำนวน การจะใช้เงินตามมาตรา 28 รัฐบาลจะมีการสอบถามอย่างถูกต้อง เช่น ประเด็น ธ.ก.ส. นายกรัฐมนตรีสั่งในที่ประชุมว่าให้ทำเรื่องเป็นทางการประเด็นไหนให้ถามกฤษฎีกาให้กฤษฎีกาตอบอย่างเป็นทางการให้ชัดเจน และรัฐบาลจะทำให้โปร่งใสให้สิ้นข้อสงสัย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังในฐานะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ระบุถึง ประโยชน์ที่จะได้ในโครงการนี้ปีงบประมาณ 2568 จะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 1.2-1.8% ประโยชน์ของโครงการนี้ จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆโครงการในอดีตที่ผ่านมา ผลของการกระตุ้นไม่ได้จบเพียงปีเดียว ในทางเศรษฐกิจนักวิชาการกระทรวงการคลัง ได้จับตัวเลขมาโดยตลอดว่า แนวโน้มของการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนใหญ่ครอบคลุม 3-4 ปี ไม่ใช่ปีแรก 1.2 ถึง 1.8 แล้วจบปีที่ 2 ถึงปีที่ 3 ก็จะยังมีการเติบโต
ซึ่งตนได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านเศรษฐกิจการคลังมาแล้วว่า การกระตุ้นเที่ยวนี้ โดยนโยบายดิจิทัลวอลเลต ซึ่งกำกับควบคุมว่าจะต้องใช้กับการซื้อสินค้าที่มีผลต่อ GDP สูง จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 3.2-3.5 รอบ หรือ money multiplier แต่จะก่อให้เกิดตัวทวีคูณทางการคลังจะเกิดขึ้นประมาณ 1.2-1.4 เท่าของเม็ดเงิน 5 แสนล้านที่ใส่ไป นั่นหมายถึง 650,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นตัวเลข GDP ที่จะโตใน 3 ปี
นายชัยกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวเข้ากระเป๋าเจ้าสัวว่า จากการที่ตนได้ไปศึกษาข้อมูลถึงข้อห่วงใย และข้อครหาว่าโครงการนี้ถูกออกแบบ และจะทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าเจ้าสัว และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น จากการตรวจสอบร้านสะดวกซื้อปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14,500 สาขา ซึ่งมีเพียงครึ่งหนึ่ง เป็นของบริษัทเอกชน (บริษัท ซีพีออลล์) โดยตรง แต่ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแฟรนไชส์
และเมื่อเทียบกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้าย่อย จากการลงตัวเลขในโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลที่ผ่านมา กระทรวงการคลังรายงานว่า โครงการคนละครึ่งมีตัวเลขร้านลงทะเบียน 1.2 ล้านราย ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าร้านค้ารวมถึงนิติบุคคลธรรมดา เหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น ร้านค้าที่ประชาชนจะนำเงินดิจิทัลไปใช้ได้รอบแรกประมาณ 1.2 ล้านราย
“ที่กังวลว่าผูกขาดร้านสะดวกซื้อ 14,500 บาทสาขา อีกครึ่งหนึ่งเป็นของแฟรนไชส์ ขอให้เปรียบเทียบดูร้านค้า 1.2 ล้านแห่งกับหมื่นกว่าแห่ง มันไกลกันเยอะ ดังนั้น โอกาสที่ประชาชนจะไปใช้จ่าย โดยที่ไม่เข้ากระเป๋าของเจ้าสัวจึงมีสูง และในแง่เม็ดเงินค้าปลีกทั้งประเทศ เฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค 1 ปี ใช้อยู่ 4.1 ล้านล้านบาท ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น 1 ปี ใช้อยู่ 3.8 แสนล้าน ในข้อเท็จจริงจึงไม่เป็นไปอย่างที่กังวลใจ
ไม่ว่าประชาชนจะซื้อในร้านของใครก็ตาม ซื้อ 100 บาท อย่างน้อย ๆ คนที่ขายของต้องเอา 60-70 บาทไปซื้อสินค้าใหม่ ต้องเกิดการหมุนของเงินแน่นอน
รัฐบาลไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจ ว่าเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ควรเข้ากระเป๋าใคร หรืออย่างไร เราไม่ได้มองอย่างนั้น รัฐบาลมองว่า ถ้าเม็ดเงินนี้ผ่านมือประชาชนไปแล้ว เอาไปใช้จริงร่วมกันใช้อย่างเต็มที่ ผ่านกลไกทางด้านการค้า และในที่สุดเงื่อนไขการเบิกเงินก็ต้องเป็นผู้เล่นที่เป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี
จึงจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมยืนยันว่าไม่เคยคิดที่จะตั้งเงื่อนไข กีดกันใครก็ตามที่ทำมาหากินแล้วประสบความสำเร็จ เติบโตขึ้นมาบนระบบที่ถูกต้อง ยอมเสียภาษี และวันหนึ่งจะมาถูกต้องข้อรังเกียจว่าคุณหมดสิทธิเราจะไม่ทำอย่างนั้น