
คอลัมน์ : Politics policy people forum
การรัฐประหาร-ยึดอำนาจ รอบล่าสุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เดินทางมาครบ 1 ทศวรรษ
แต่การเมืองยังเหมือนหนังม้วนเดิม ตัวละคร ตัวแสดงเดิมในวันนั้น ยังคงมีบทบาทในวันนี้
ผ่านไป 10 ปี บุคคลที่อยู่ในห้องประชุมนาที “ยึดอำนาจ” ที่หอประชุมกองทัพบก หลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ใช้กฎอัยการศึก เรียกคู่ขัดแย้ง 7 ฝ่ายมาหาทางออกประเทศ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2557 ก่อนจะเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศ ช่วงบ่ายแก่ ๆ ในอีก 2 วันต่อมา
วันนี้ทั้ง 7 ฝ่าย ที่อยู่ในนาทียึดอำนาจ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 9 ปี กระทั่งพ้นตำแหน่ง ใครมีบทบาทอย่างไร สรุปดังต่อไปนี้
รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น มี 5 ราย ที่ถูกคำสั่งเรียกเข้าไปในสโมสรกองทัพบก คือ “ชัยเกษม นิติสิริ” รมว.ยุติธรรม เขาเป็นผู้เอ่ยปาก ปฏิเสธว่ารัฐบาลลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการไม่ได้ นาทีต่อมาจึงเกิดการรัฐประหาร ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน
“วราเทพ รัตนากร” ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันเป็นแกนนำสำคัญอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ
“เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รมช.ศึกษาธิการ แต่ปัจจุบันเป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลเศรษฐา
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ขณะนั้นเป็น รมว.คมนาคม ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแล้วกว่า 2 ปี
“ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” รมช.คลัง ปัจจุบันส่งไม้ต่อการเมืองให้ลูกชาย “รวี เล็กอุทัย” เป็น สส.อุตรดิตถ์ เขต 3
กปปส.ยังสู้คดี
กปปส. ในฐานะคู่ขัดแย้งมี 5 ราย ประกอบด้วย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. หลังการรัฐประหารยังมีบทบาทในฐานะ “ลุงกำนัน” ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย อีกหนึ่งนั่งร้านของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมพลัง
อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองถึงจุดตัดสำคัญ เกิดพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ บทบาทของพรรครวมพลัง และกำนันสุเทพก็หายไป แต่กลุ่มการเมืองของลุงกำนันยังอยู่ในพรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ศาลอาญามีนัดหมายฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ “สุเทพ” กับพวกรวม 39 ราย เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมเป็นกบฏ ก่อการร้าย ล้มล้างการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาอื่น ๆ กรณีม็อบ กปปส. ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หลังจากก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้ตัดสินจำคุก โดยไม่รอลงอาญาเขาเป็นเวลา 5 ปี
“เอกณัฏ พร้อมพันธุ์” ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็น สส.บัญชีรายชื่อ แต่ยังต้องสู้คดีเดียวกับ “สุเทพ” ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย กลายเป็นอดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตคนประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากพรรค สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
“สมศักดิ์ โกศัยสุข” ยังต้องสู้คดีเดียวกับ “สุเทพ” ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี
นปช.แยกทาง
กลุ่ม นปช.คู่ขัดแย้ง ถูกเรียกไป 5 ราย มี “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. แต่เวลานี้เขาได้แยกขาดกับกลุ่ม นปช.มาเป็นแกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ยืนอยู่ตรงข้ามรัฐบาลเศรษฐา
“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช. ยังเป็นกำลังหลักของพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงตอนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านอาหารเยี่ยมใต้ 2 สาขา อันเป็นที่ถกการเมืองของบรรดาแกนนำเพื่อไทย
“ก่อแก้ว พิกุลทอง” เป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
“ธิดา ถาวรเศรษฐ” เป็นอดีตแกนนำ นปช.ที่แยกออกมาทำงานการเมืองภาคประชาชนในกลุ่ม UDD
“วีระกานต์ มุสิกพงศ์” ยังอยู่ใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อาวุโส
เพื่อไทยแยกพรรค
พรรคเพื่อไทยถูกเรียกไป 5 คน ประกอบด้วย “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” รองหัวหน้าพรรค ปัจจุบันเป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย
“ภูมิธรรม เวชยชัย” ขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรค ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์
“ชูศักดิ์ ศิรินิล” ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ปัจจุบันเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ในนามพรรคประชาชาติ
“พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทยในเวลานั้น แต่ปัจจุบันไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เนื่องจากถูกตัดสินจำคุก อย่างไรก็ตาม เขายังช่วยงาน “พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประชาธิปัตย์พรรคแตก
พรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค หลังจากนำพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง 2562 เขาก็ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค เป็น “ผู้สังเกตการณ์” ทางการเมือง นับแต่นั้นเป็นต้นมา
“จุติ ไกรฤกษ์” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขามีตำแหน่งแห่งหนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โควตาพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาเขาย้ายมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ และเป็น สส.บัญชีรายชื่อ
“ศิริโชค โสภา” เป็นอดีต สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ลงเลือกตั้งในรอบล่าสุด สงขลา เขต 7 แต่สอบตก
“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต สส.พัทลุง เป็นอีกคนหนึ่งที่ย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ แต่ปัจจุบันไม่มีตำแหน่งเป็น สส. แต่ยังให้ความเห็นทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียทุกเหตุการณ์สำคัญ
“ชำนิ ศักดิเศรษฐ์” อยู่ในลิสต์บัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่อยู่ลำดับที่ 18
กกต.ถูกเซตซีโร่
กกต.ถูกเรียกไปครบเซต 5 คน แต่หลังจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ก็ถูกเซตซีโร่โดยกฎหมายลูกให้มี กกต.ตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นแต่ละคนก็แยกย้ายดังนี้
“ศุภชัย สมเจริญ” ประธาน กกต. ปัจจุบันเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เพิ่งครบวาระไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567
“สมชัย ศรีสุทธิยากร” จาก กกต. เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักเลือกตั้งสมัครเลือกตั้ง สส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2562 และพรรคเสรีรวมไทย 2566 ขณะเดียวกันยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และคอมเมนเตเตอร์ทางการเมือง
ส่วน ประวิช รัตนเพียร นายบุญส่ง น้อยโสภณ ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ก็กลับไปใช้ชีวิตนอกการเมือง
“ภุชงค์ นุตราวงศ์” อดีตเลขาฯ กกต. ถูกที่ประชุมปลดออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2558 และเขาสู้จนชนะในชั้นศาลปกครองสูงสุด ซึ่งวินิจฉัยว่าคำสั่งปลดดังกล่าวไม่ชอบธรรม เมื่อ 11 พฤษภาคม 2566 และให้ชดใช้เงิน 3 ล้านบาทแก่ภุชงค์
สว.สู่ สนช.
ฝ่ายที่ 7 คือ ตัวแทนวุฒิสภา วันนั้นถูกเรียกไป 2 คน คือ 1.สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา หลังจากมีการยึดอำนาจ ได้เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 ปัจจุบันเป็น สว.เพิ่งครบวาระไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567
2.พีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่ประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เช่นเดียวกับ “สุรชัย” เขาได้เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 2 ปัจจุบันเป็น สว.เพิ่งครบวาระไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567