บันได 3 ขั้น รัฐบาลเศรษฐา เลิก 132 คำสั่ง ล้างมรดกคณะรัฐประหาร

รัฐบาลเศรษฐา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งหัวโต๊ะในฐานะประธานที่ประชุม เมื่อวันที่ 13 กันยายน

วาระหนึ่งที่สะเทือนองคาพยพรัฐบาลเก่า ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวขบวน คือคำสั่งที่ “ชัย วัชรงค์” โฆษกรัฐบาลนำมาเผยแพร่

“ให้กระทรวง ทบวง กรม ที่ในอดีตได้รับคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) หรืออำนาจ คสช. แล้วยังต้องปฏิบัติตามนั้น ให้ไปทบทวนทั้งหมด ว่าบรรดาคำสั่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช. ทั้งหลายทั้งปวง ยังมีอะไรที่มันจำเป็นต้องคงไว้ไหม และต้องเสนอกลับมาภายในวันที่ 9 ตุลาคม ถ้าไม่เสนอมาถือเป็นอันยกเลิกทั้งหมด”

“เราเปลี่ยนยุคแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะมีการตีความว่าใครที่อยากริเริ่มอะไรมักจะเจออุปสรรคว่ากฎหมายไม่ได้อนุญาตไว้ กลายเป็นทำนองว่าจะทำอะไรใหม่ ๆ ได้ต้องให้มีกฎหมายอนุญาต แต่รัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา เราเปลี่ยนใหม่ ประชาชนริเริ่มทำได้ทุกอย่าง ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้าม ต้องถือว่าทำได้”

กฎหมาย คสช. 456 ฉบับ

จากวันที่นายเศรษฐาออกคำสั่งมาถึงวันนี้ ทีมงานรัฐบาลรวบรวมประกาศ-คำสั่ง คสช. 132 ฉบับ จาก 456 ฉบับ ชงให้รัฐบาลออกมติ ครม. หรือออกกฎหมายยกเลิก โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท

ประเภท 1.ประกาศ คสช.ซึ่งมีสถานะบังคับใช้เป็นกฎหมาย 132 ฉบับ อาทิ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการ หรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ-ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน

คําสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 6/2562 เรื่อง มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐาน การประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท

ประเภท 2.คำสั่ง คสช. ที่ไม่ใช่เป็นการออกกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป 324 ฉบับ แบ่งออกเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหาร โยกย้าย เรียกคนมารายงานตัว 166 ฉบับ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 จำนวน 158 ฉบับ

เช่น คําสั่ง คสช. ที่ 110/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม

คําสั่ง คสช. ที่ 175/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว

อย่างไรก็ตาม ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มีประกาศ-คำสั่งที่ยกเลิกไปบางส่วน หรือยกเลิกเพราะเสร็จสิ้นภารกิจ หรือสิ้นผลไปในตัวเอง 246 ฉบับ

เช่น ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ให้ยกเลิกประกาศ คสช. จำนวน 32 ฉบับ คำสั่ง คสช. 29 ฉบับ และคำสั่ง คสช. 17 ฉบับ รวม 78 ฉบับ

ทว่าปัจจุบันยังเหลือประกาศ-คำสั่ง คสช. อีก 132 ฉบับที่บังคับใช้อยู่ ในจำนวนนี้มีบางส่วนอยู่ระหว่างจัดทำกฎหมาย มาบังคับใช้แทน เพื่อทำให้ประกาศ หรือคำสั่ง คสช.ถูกยกเลิกไป

3 สเต็ป โละคำสั่ง คสช.

เปิดแผน “กีโยติน” ประกาศ – คำสั่ง คสช.โดยฝ่ายกฎหมาย ประจำทำเนียบรัฐบาล เตรียมแผนอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 279 พิจารณาว่าคำสั่งมีสถานะเป็นกฎหมาย หรือเป็นเพียงแจ้งข้อความ หรือเป็นการตั้งคณะกรรมการ ใช้อำนาจทางบริหาร ก่อนจะทำการลบ-ล้าง

หากประกาศ-คำสั่งมีสถานะบังคับใช้เป็นกฎหมาย การยกเลิกต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ ชงร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ให้ออกกฎหมายมายกเลิก

หรือหากมีอำนาจทางบริหาร สามารถยกเลิกได้โดยคำสั่งนายกฯ หรือมติ ครม. ต้องพิจารณา “รอบคอบ” ว่าประกาศ-คำสั่งดังกล่าวมีความเหมาะสมและจำเป็นในปัจจุบันหรือไม่ ผ่าน 3 สเต็ป

สเต็ปแรก อ้างอิงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 279 เรื่องการยกเลิกคำสั่ง ประกาศของ คสช.

“การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ หรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศ หรือคําสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี”

สเต็ปที่สอง เทียบเคียงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 30/2563 ได้วินิจฉัย เรื่อง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยเรื่องดังกล่าวศาลแขวงดุสิต ได้ส่งคำโต้แย้งของ “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 2074/2562

อัยการศาลทหารกรุงเทพ กระทรวงกลาโหม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว ตามคำสั่ง คสช.

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ประกาศ คสช.ดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 โดยคำวินิจฉัยวางหลักไว้ว่า “การพิจารณากฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้นั้น ย่อมต้องพิจารณาสภาพการณ์ของเหตุการณ์บ้านเมือง ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในขณะที่มีการตรากฎหมาย”

“เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา”

สเต็ปที่ 3 นำมาประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิก หรือปรับปรุง กฎหมายที่หมดความจําเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดําเนินชีวิต

ทั้ง 3 สเต็ป 3 ขั้นบันได รัฐบาลเศรษฐา จะออกเป็น ร่างพระราชบัญญัติกลางขึ้นมา 1 ฉบับ โดยคำสั่ง-ประกาศ คสช.ที่ไม่เข้ากับยุคสมัย จะถูกนำมาใส่ไว้ในบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ ในฐานะกฎหมายของรัฐบาลชงเข้าสู่สภา เพื่อยกเลิก–หรือ คำสั่ง–ประกาศ คสช. ที่สามารถใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้ ก็ให้ปรับเปลี่ยนให้เป็นพระราชบัญญัติโดยกระบวนการสภา

ถึงเวลาที่คำสั่ง คสช.ต้องถูกลบ ถูกเลิก และถูกล้าง เพราะหมดยุครัฐบาลที่มาจากรากรัฐประหารแล้ว