
ศิริกัญญา ก้าวไกล ขูพรรคร่วมรัฐบาลเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ฐานสมรู้ร่วมคิด ผ่านงบฯกลางปี 1.22 แสนล้าน ถมโครงการแจกเงินดิจิทัล เหตุผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 21
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกขึ้นอภิปรายว่า ที่เราต้องมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณเป็นฉบับที่ 3 ของปีนี้แล้ว เพราะที่มาที่เดียวคือโครงการเรือธงของรัฐบาลที่จะทำโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งนี่คือแหล่งวงเงินงบประมาณล่าสุดที่ใช้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่
โดยในงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาในวาระแรกเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่านอกจากจะเป็นการกู้เพิ่ม 1.52 แสนล้าน เพื่อทำโครงการนี้แล้ว ยังต้องกลับไปบริหารจัดการภายในงบประมาณปี 2568 อีก 1.32 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่ทราบว่าการบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร
เพิ่มภาระใช้หนี้-ดอกเบี้ย
วันนี้ที่เรากำลังพิจารณากัน คืองบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลกำลังจะมาขอกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท และต้องไปหารายได้อื่นมาเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการชำระหนี้อีก 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงงบฯกลางใช้จ่ายฉุกเฉิน จะเห็นได้ว่าไม่มีงบฯจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) แล้ว แต่ก็ดีแล้ว เพราะเราท้วงติงมาตลอด และเงินจาก ธ.ก.ส.ก็ไม่เพียงพอ
หากจะใช้ก็ต้องให้กระทรวงการคลังไปกู้ ซึ่งจะเห็นว่ายอดเงินลดลงเหลือเพียง 4.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้าน เท่ากับงบประมาณปี 2567 มีการกู้ชดเชยขาดดุล 805,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ รองจากปี 2568 คิดเป็น 4.3% ซึ่งถือเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะ เพิ่มภาระในการชำระดอกเบี้ยและหนี้ตามมา
กู้เต็มแม็ก ชนเพดาน
น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณปี 2567 ที่สภาเพิ่งมีการอนุมัติไปจำนวน 3.48 ล้านล้านบาท แต่วันนี้จะเพิ่มเป็น 3.602 ล้านล้านบาท มีการกู้เพิ่มจากเดิม 693,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 805,000 ล้านบาท ขณะที่เพดานของการกู้จากเดิมอยู่ที่ 790,000 ล้านบาท แต่กลับมีการขยายเพดานการกู้ออกเป็น 815,056 ล้านบาท เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเพียง 10,056 ล้านบาท
และต้องดูว่ารัฐบาลจะสามารถมีงบประมาณเพียงพอในการที่จะรองรับความเสียหาย หากจัดเก็บไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ ซึ่งหากจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าก็จะทำให้งบประมาณที่สภาอนุมัติไปใช้ได้ไม่ครบ และเรากู้โปะไม่เพียงพอ แต่ที่รัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนไม่ได้สนใจ ไม่ได้แคร์อะไรที่ประเทศต้องมาอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ ก็เพียงเพราะจะได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเลตและกู้จนสุดเพดานเช่นนี้
ไม่เหลือพื้นที่บริหารความเสี่ยง
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ส่วนประมาณการที่สภาได้รับนั้น จากเดิมที่มีการประมาณการไว้ว่าจีดีพีจะโต 2.7% ตอนนี้ก็เหลือที่ 2.5% แต่เมื่อไปดูในเอกสารประมาณการรายได้ปรากฏว่าไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่ จะเป็นได้อย่างไรที่จะไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่ ทั้งที่ระยะเวลาก็ล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว จากการประมาณการรายได้ครั้งล่าสุด แต่ที่ออกมาในระยะ 8 เดือนก็ปรากฏว่าต่ำกว่าเป้า 2.6 หมื่นล้านบาท
และหน่วยงานต่าง ๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า ซึ่งดูท่าทีแล้วรัฐบาลไม่น่าจะสามารถจัดเก็บภาษีให้เข้าเป้าได้ โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่แถลงว่าจะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าถึง 5.8 หมื่นล้านบาท ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ที่เรายังไม่รู้ว่ารายได้เพียงพอที่จะใช้สำหรับงบประมาณปี 2567 นั้น รัฐบาลยังจะมาขอกู้สภาได้เต็มเพดานอีกหรือ จะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยใช่หรือไม่
บ่นเศรษฐกิจแย่ แต่ไม่มีมาตรการ
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของการบริหารงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทนั้น ตนได้ไปค้นดูจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็พบว่ามีมาตรการที่เกี่ยวกับการลดค่าพลังงาน ช่วยคนไทยในอิสราเอล ค่าพีเอ็ม 2.5 ก้อนใหญ่นิดก็คือการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง แต่ผ่านมาแล้ว 7 เดือน งบฯกลางก็ยังใช้ไปไม่ถึงไหน ยังอนุมัติอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านบาท
บางโครงการอาจจะไม่ได้เบิกจ่ายด้วยซ้ำ มิน่าท่านถึงบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือประชาชนเลยระหว่างที่รอโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงสรุปได้ว่ารัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะนำเงินมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเลตกี่บาท แต่ตอนนี้น่าจะเคาะแล้วว่าใช้แค่ 4.3 หมื่นล้านบาท และต้องถูกกั๊กไว้จนถึงปลายปีเพื่อใช้กับโครงการนี้
น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือสามารถทำได้จริงหรือไม่กับการโยกงบฯปี 2567 มาใช้ข้ามปีในปี 2568 ซึ่งไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ สำหรับเรื่องงบฯกลางปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้น ตามมาตรา 21 ก็บอกไว้ชัดเจนว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้นต้องใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ
งบฯกลางปีแต่จะไปใช้จ่ายข้ามปีคงทำไม่ได้ ถือว่าผิดมาตรา 21 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน แต่หากจะบอกว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็เหมือนงบประมาณประจำปี ใช้ข้ามปีได้ แต่ในมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ก็บอกว่าต้องก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปี แล้วเราจะก่อหนี้ผูกพันกันอย่างไร แต่เดาว่าเดี๋ยวคงออกมาสีข้างถลอกว่าแค่ลงทะเบียนก็เป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะการก่อหนี้ผูกพันคือต้องมีสัญญาทั้งสองฝ่าย หากทำแค่ฝ่ายเดียวถือเป็นการให้
นายกฯลุยไฟฝ่า พ.ร.บ.วินัยการคลัง
น.ส.ศิริกัญญากล่าวด้วยว่า ทำไมถึงไม่แก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เพราะรัฐบาลที่มีเสียงในสภามากกว่า คงไม่ขัดข้องที่จะแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จึงเสนอให้ห้อยท้ายของมาตรา 21 ให้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. หรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลาที่เรากำลังเดินหน้าลุยไฟกันอยู่ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือ ข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่เป็นคนชงเรื่องต่าง ๆ โดยที่ฝ่ายการเมืองยังไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเลยเวลาที่ตัดสินใจจะทำอะไรที่เสี่ยงผิดกฎหมาย
อีกประเด็นที่ทำให้รัฐบาลเลือกใช้งบฯกลางเงินสำรองจ่ายจากงบประมาณปี 2567 ก็ยังสามารถที่จะเบิกเงินลงทุนสำรองจ่ายได้อีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในตอนที่มีการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ตอนนี้ตนเห็นเพียงแค่ความจำเป็นที่ต้องรักษาหน้าของรัฐบาล แม้จะใช้งบฯก้อนนี้แต่ก็ต้องโอนคืน และสุดท้ายต้องตั้งเงินลงทุนสำรองจ่ายของปี 2569 มาใช้คืนอยู่ดี แบบนี้เรียกว่ายืมเงินข้ามปี แต่เมื่อไม่ใช้ก็ดีถือเป็นวาสนาประเทศที่จะไม่ได้มีการใช้เงินทุนสำรองจ่ายตรงนี้
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนมาลงทะเบียนเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้จะมีความเสี่ยงผิด พ.ร.บ.เงินตราหรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้ร้านค้าที่ต้องคืนเงินสดขาดความเชื่อมั่นว่าถ้าเป็นเลขช้าจะได้เงินคืนหรือไม่ โครงการดิจิทัลวอลเลตถูกตีความนับเป็นรายจ่ายลงทุน 80% จริงหรือไม่ ซึ่งประชาชนที่ใช้ก็ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค เป็นหลัก
ดังนั้นจะตีความเป็นรายจ่ายลงทุนได้อย่างไร โดยหากไม่นับเป็นรายจ่ายลงทุนนั้น จะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 20 ตามหลักกฎเกณฑ์ว่างบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น
โครงการนี้จะลงทะเบียนอีก 15 วัน แต่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ และยังคงใช้ไว้ในงบฯกลาง และระบบลงทะเบียนเพิ่งได้ผู้ชนะการประมูล 2 เจ้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีระบบการชำระเงินที่ชัดเจน ดังนั้นจะทันหรือไม่
คาดร้านเล็กไม่ร่วมโครงการ
“รวมถึงยังมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปมา และขณะนี้ก็ยังไม่มีการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนได้ ดังนั้นระบบที่ถูกออกแบบมาแบบนี้เอื้อกับร้านค้าที่มีสายป่านยาว แต่ร้านค้ารายเล็กอาจไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการใช้เงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่บอกว่าจะต้องมีระบบการจ่ายภาษีอย่างไร ไม่มีความชัดเจนเลย ถ้าเขามีเงินสดไม่พอ จะมีสินเชื่อให้เพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ ถือเป็นการกีดกันรายย่อยเป็นกลาย ๆ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
รักษาหน้า แต่หน้าตาไม่เหมือนหาเสียง
น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำหรับโครงการนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะลงทุนจริง ๆ เท่าไหร่ แต่ตีไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท ก็บอกได้คำเดียวว่าเป็นการลงทุนแค่การได้รักษาหน้าตามที่ได้หาเสียงไว้แล้ว แม้หน้าตาจะไม่เหมือนตอนที่หาเสียงไว้ก็ตาม และได้เพิ่มจีดีพีได้เต็มที่แค่ 1.8% หรือ 3.5 แสนล้านบาท แบบนี้คุ้มทุนหรือไม่ เพราะสิ่งที่จะเสียไปคือเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง ทำผิดกฏหมาย เอื้อค้าปลีกรายใหญ่ กีดกันรายย่อย เสียโอกาสที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และเสียโอกาสที่จะทำนโยบายอื่น
ย้ำว่าเรื่องนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฏหมาย ซึ่งหากสามารถทำต่อได้ จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต และสร้างความเสียหายที่ประเมินไม่ได้ รวมถึงการของบประมาณแบบนี้จะเพิ่มภาระผูกพันไปถึงงบประมาณในอนาคต
“นี่เป็นกระสุนนัดใหญ่นัดแรกนัดเดียว และนัดสุดท้ายของรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้น จึงขอส่งความห่วงใยไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่า ท่านจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำผิดกฎหมายครั้งนี้ ในการกระทำที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายครั้งนี้หรือไม่ ถ้ายังยึดถือหลักการหรือหลักวิชาการอะไรอยู่ในหัวใจ คงรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัย ว่าทำแบบนี้จะทำให้ประเทศเราสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงขอให้ช่วยกันคว่ำร่างฉบับนี้“ น.ส.ศิริกัญญากล่าว