โรดแมปเลือกตั้งท้องถิ่น มหาดไทยกันงบฯ-สั่งผู้ว่าฯเตรียมพร้อม

การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกจุดพลุ ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา-คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และมือกฎหมายรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเห็นออกเป็น “เสียงเดียวกัน” ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับใกล้สะเด็ดน้ำ-ชงคณะรัฐมนตรีเห็นชอบทุกขณะ

ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นเจ้ากระทรวง ส่ง “หนังสือเวียน” ที่ มท.๐๘๐๘.๒/ว ๓๖๗๕ เรียนผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่อง การซักซ้อมแนวทางปฏิบัติ การตั้งงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่น

“ด้วยปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงควรเตรียมความพร้อมในการตั้งงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายงบประมาณในการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป” หนังสือเวียนระบุ

เป็นการ “เตรียมพร้อม” ลงลึกไปถึงการโยก-ย้าย-สำรองเงินงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นดักหัว-ท้ายปี โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา 

ช่วงเวลาที่หนึ่ง กรณีมีการเลือกตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 แบ่งออกเป็น 3 แนวทางปฏิบัติ

แนวทางที่ 1 กรณีไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ ให้ อปท.โอนงบประมาณเหลือจ่าย หรือรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย “ไปตั้งจ่ายเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ”

แนวทางที่ 2 กรณี อปท.ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้แล้ว “หากมีไม่เพียงพอ ให้ อปท.พิจารณาโอนงบประมาณจากรายการที่เหลือจ่าย หรือรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย โอนไปเพิ่มในรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เพียงพอ”

แนวทางที่ 3 เมื่อมีงบประมาณเพียงพอที่จะดำเนินการ ให้ อปท.เร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 “หากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันก่อนสิ้นปีงบประมาณ ให้ขออนุมัติกันเงินต่อผู้บริหารท้องถิ่นไว้เพื่อเบิกจ่ายในปีถัดไป”

ช่วงเวลาที่สอง กรณีมีการเลือกตั้ง “คาบเกี่ยว” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 และข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 บังคับใช้แล้ว

“ให้ อปท.ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2557 ข้อ 56 และแนวทางปฏิบัติการบริหารงบประมาณ”

ช่วงเวลาที่สาม กรณีมีการเลือกตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 แบ่งออกเป็น 3 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ แนวทางที่ 1 ให้ อปท.ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่น “ในหมวดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น”

แนวทางที่ 2 กรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้ว ให้พิจารณาตามแนวทางกรณีไปตั้งจ่ายเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นในหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ-กรณีหากมีไม่เพียงพอ ให้ อปท.พิจารณาโอนงบประมาณจากรายการที่เหลือจ่าย หรือรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่าย โอนไปเพิ่มในรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เพียงพอ

แนวทางที่ 3 กรณีที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ออกใช้ไม่ทันปีงบประมาณ ให้ อปท.ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วไปพลางก่อน

เมื่อวัน ว. เวลา น. การเลือกตั้งท้องถิ่นชัดเจนขึ้น จึงปรากฏการเคลื่อนไหวของนักการเมืองสนามใหญ่ เตรียมสลัดภาพนักการเมืองระดับชาติลงสนามการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

สนามเลือกตั้งภูธร ที่มีอดีต ส.ส.ระดับชาติ “หนีตาย” จากการหดเขตเลือกตั้ง จาก 400 เขตเหลือ 350 เขต จนต้องกลับหัวเรือไปลงสู่ศึกสนามเล็ก

พรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้บางจังหวัดยังเป็นปัญหา เช่น นครศรีธรรมราช ที่ “อภิชาติ การิกาญจน์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช แสดงความจำนงไม่ลงสมัคร ส.ส. ก่อนจะมีการยึดอำนาจ

ขณะที่จังหวัดตรัง ถึงแม้ว่าเขตการเลือกตั้งจะลดลง 1 เขต แต่เนื่องจาก “สมชาย โล่สถาพรพิพิธ” อดีต ส.ส.ตรัง ต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดตรัง คดีความผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อเขตเลือกตั้งที่ลดลงไป

ส่วนโซน กทม. ปชป.ได้รับผลกระทบจากการ “ลดเขต” เช่นกัน เพราะจากเดิมมี 33 เขตเลือกตั้ง ลดลงเหลือ 30 เขต ทำให้ต้องจับเข่าคุยกันอย่างหนัก-ไม่มีใครอยากลงปาร์ตี้ลิสต์ เพราะลงเขตมีโอกาสมากกว่า เนื่องจากไม่เหมือนเขตในต่างจังหวัดที่สามารถไปลงเลือกตั้งท้องถิ่น-นายก อบจ.ได้ แต่อดีต ส.ส.กทม.จะลดเกรดลงไปเป็น ส.ก.-ส.ข.ไม่มีใครทำกัน

“แหล่งข่าวจาก ปชป.” กล่าวถึงการเตรียมเกลี่ยเก้าอี้ปลอบใจให้กับอดีต ส.ส.เพื่อรองรับเขตเลือกตั้งที่ลดลงว่า โดยหลักการแล้วการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพรรคที่จะส่งคนเข้าไปทำงาน ซึ่งการลง ส.ส.บัญชีรายชื่อก็เป็นอีกทางหนึ่ง ในอนาคตหากมีสภาเกิดขึ้นก็มีตำแหน่งรองรับการทำงานอยู่พอสมควร

ส่วน “ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ” อดีต ส.ส.อุบลราชธานี ผันตัวเองไปลง “นายกเล็ก”-อบจ.อุบลฯ

ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ มี “แคนดิเดต” ที่เป็น “ตัวเต็ง” ส่งสู้ศึกสนามเล็ก คือ “องอาจ คล้ามไพบูลย์”

พรรคเพื่อไทย (พท.) มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า อาจส่ง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ลงสู้ศึก ขณะที่ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ที่ได้รับ “ตั๋วพิเศษ” จากรัฐบาล-คสช.ได้เป็นพ่อเมืองเสาชิงช้าคนปัจจุบัน ไม่อาจกาชื่อทิ้งได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า “นักเลือกตั้ง” สนามใหญ่จะไป “ตายเอาดาบหน้า” จากการเลือกตั้งระดับชาติ ทว่ากติกาการเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับรัฐบาลทหาร-คสช.ก็ไม่ง่ายที่จะลงไปเล่น

โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …หมวด 5 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 50 จำนวน 3 อนุมาตรา

ส่งผลให้ “นักการเมืองท้องถิ่น” ที่เคยถูกคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้พ้นจากตำแหน่งในข้อหาทุจริต-ประพฤติมิชอบไม่สามารถกลับเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งได้ ได้แก่ มาตรา 50 (22) (23) และ (24)