“ธนาธร” ชี้เป้าพัฒนาอีสาน ข้ามผ่านคลื่น “ทักษิโณมิกส์”

6 เดือน คือ อายุงานการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

44 จังหวัด คือ พื้นที่ที่ “ธนาธร” ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงเดินสายโฟกัสกรุ๊ป กับนักธุรกิจ-ปัญญาชนและชาวบ้าน

4 ปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก กำลังพังทั้งระบบ คือ ข้อค้นพบ และจะถูกพัฒนาเป็นนโยบายพรรค

350 เขตเลือกตั้ง คือ เป้าหมายที่พรรคจะส่งผู้สมัคร แต่ไม่มีเป้าหมายเป็นตัวเลข ส.ส.ที่จะได้ เพราะคิดว่าการปักหมุดทางความคิด สำคัญกว่าการปักหมุดจำนวน ส.ส.ที่จะได้

8 ปี คือ วาระการเลือกตั้งที่ถูกทำให้หายไป

10/2561 คือ เดือน-ปี ที่ “ธนาธร” จะประกาศนโยบายเศรษฐกิจรณรงค์หาเสียงของพรรค ที่เขาฉายหนังตัวอย่างว่า จะชัดเจนทั้งการเกษตร-ปัญหาปากท้อง

“ธนาธร” ลงจากเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ประเทศเวียดนาม บ่ายวันที่ 12 กันยายน 2561 ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งทำเนียบรัฐบาล-สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานเป็นเสียงเดียวกันว่า 24 ก.พ. 62 คือ วันเลือกตั้ง

ห้วงที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจกำลังหัวปั่น กับการปั้นเศรษฐกิจฐานราก “ธนาธร” ไขรหัสความฟุบ-ไม่ฟื้นของเศรษฐกิจรากหญ้า ว่ามี 4 ปัจจัย

“ทั่วประเทศ 44 จังหวัด ทุก ๆ ที่ที่เราไป ประชาชนกระเป๋าหนักมาก มีแต่เหรียญ ไม่มีธนบัตรเหลืออยู่เลย ปัญหาเศรษฐกิจชนบทหนักมาก”

4 ปัจจัยแห่งความไม่ฟื้นของเศรษฐกิจฐานราก ในทรรศนะ “ธนาธร” คือ 1.ราคาพืชผลทางการเกษตรตัวสำคัญ ๆ ราคาตกทั้งหมด 2.อุตสาหกรรมประมงพังทั้งอุตสาหกรรม ฟังจากผู้ประกอบการประมงชายฝั่ง และนอกชายฝั่ง น่าจะเสียหายเป็นแสนล้าน

3.ที่เศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ขยับ เพราะงบประมาณที่ลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้การไม่ได้ เพราะถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพ่งเล็งหนักมาก เป็นตัวใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นไม่เดิน 4.ถ้าดูการเติบโตของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะเห็นว่ามีกำไรโตขึ้นมา 10% กว่า แต่เมื่อดูจีดีพีโตแค่ 4% จะเห็นได้เลยว่าสัดส่วนของการแชร์การเติบโตทางเศรษฐกิจไปอยู่ที่บริษัทใหญ่ทั้งหมด

ปัญหาหนักและเรื้อรังขนาดนี้ ถ้าพรรคอนาคตใหม่เป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำทันที คือ “สนับสนุนราคาสินค้าเกษตร” แต่ “ธนาธร” รู้ทันทักษิณ เข้าใจเกมประยุทธ์ ในระยะยาว เขาจะพาเกษตรกรออกจากกับดัก “ประกันราคา”

“เท่าที่เก็บตัวเลขการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์ม ใช้เงินสนับสนุนไปประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท ระยะยาวอย่าไปอยู่ในเกมนี้ เพราะเป็นเกมที่คุณทักษิณ ชินวัตร สร้างขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ลงไปคุยกับประชาชนในพื้นที่ คำถามแรกที่เจอคือ ยางกิโลเท่าไหร่ ข้าวกิโลเท่าไหร่ อยู่ในวงจรแบบนี้ พรรคเราพยายามหลีกเลี่ยงการตอบสนองความต้องการของประชาชนแบบนี้”

หัวหน้าพรรคที่ครบเครื่องเรื่องบิ๊กดาต้าบอกว่า “เรามีวิธีอื่นที่ทำให้พืชผลเศรษฐกิจของไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ดีกว่านี้ คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเกษตร ผมได้ไปดูอุตสาหกรรมการแปรรูปยาง ปาล์ม หรือข้าว ล้าหลังมาก หากไปเทียบกับประเทศที่พัฒนาทางการเกษตร เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีที่ใช้คนละโลกกันเลย ยกตัวอย่าง ข้าว ไทยเป็นประเทศที่บอกว่าส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก แต่ไทยไม่มีแม้แต่บริษัทเครื่องสีข้าว บริษัทที่ทำเครื่องสีข้าวชั้นนำ คือ ประเทศเยอรมนี”

คลื่นเศรษฐกิจลูกที่ 4 ที่ต่อจาก “ทักษิโณมิกส์” ที่ “ธนาธร” คาดหวังและจะทำให้เกิดขึ้น คือ “การปลดปล่อยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์” จากต่างจังหวัด ด้วยการกระจายอำนาจ

“เราเชื่อว่าเป็นคลื่นใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจขอแค่เอาข้อจำกัดของรัฐไทยออกไป”

“ต่อจากคลื่นลูกที่ 1 คือ การสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศแทนการนำเข้า คลื่นลูกที่ 2 ผลิตเพื่อส่งออก คลื่นลูกที่ 3 เป็นทักษิโณมิกส์ ที่เรียกว่า dual track”

“คลื่นถัดไปไม่ใช่ EEC เพราะเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุน มีการสร้างรถไฟ ถนนให้ต่างชาติมาใช้ทรัพยากรในประเทศ แล้วดึงมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกับทรัพยากรของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมโรบอต อากาศยาน ไบโอเทคโนโลยี ซึ่งสร้างซัพพลายเชนต่อในประเทศไทยไม่ได้”

“เรายังดึงพลังที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ไม่พอ และเห็นชัดว่ามีคนต้องการระเบิดพลังเช่นนี้มหาศาล เช่น นักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC (young entrepreneur chamber of commerce) ถ้าปล่อยให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองได้”

คลื่นเศรษฐกิจใหม่ของ “ธนาธร” จะไม่พัดพา EEC และ S-curve ร่วมขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเขาเชื่อว่า

“จำเป็นต้องหาเครื่องยนต์ตัวใหม่มากระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างเศรษฐกิจต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยึดโยงกับทรัพยากรที่มีในประเทศ ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ลอยตัวจากทรัพยากรในประเทศ เช่น ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน หุ่นยนต์ หรืออุตสาหกรรมยา แม้มีข้อจริงอยู่ที่อุตสาหกรรม S-curve ที่เป็นเสาหลักของประเทศ คือ อิเล็กทรอนิกส์ กับยานยนต์สลับกันขึ้นลง โดยมีอุตสาหกรรมอัญมณีเป็นอันดับ 3 แต่อัตราการเติบโตไม่สามารถพาทั้งประเทศไปข้างหน้าได้อีกแล้ว เพราะส่วนแบ่งการตลาดในต่างประเทศค่อนข้างอิ่มตัว”

“ธนาธร” วิพากษ์เขตเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมดาวรุ่งตัวใหม่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า “กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดไปที่ภาคตะวันออก ตัวเลข GDP per capita หรือรายได้ต่อหัวของประชากรของภาคตะวันออกสูงมาก ระยองจังหวัดเดียวโตมากกว่าอีสานทั้งภาค ซึ่งคนที่ได้ผลประโยชน์จาก EEC ไม่ใช่คนตะวันออก แต่ฝ่ายที่รับประโยชน์ คือ กลุ่มทุนที่มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ”

หมุดหมายที่ “ธนาธร” ต้องการปักใหม่ คือ “เศรษฐกิจอีสาน”

“ยิ่งสนับสนุน EEC ยิ่งสนับสนุนให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ สิ่งที่เราเสนอคือเอาอุตสาหกรรมไปลงในภาคอีสานตอนนี้กล้ายืนยันได้ว่าไม่มีจังหวัดใดในภาคอีสาน แม้แต่นครราชสีมา อุบลราชธานี ที่จ้างงานเกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน เกิน 3 พันงาน เราต้องการนำงานที่มีคุณภาพไปลงต่างจังหวัด โดยอุตสาหกรรมยึดโยงทรัพยากรที่มีในต่างจังหวัดและวิถีชีวิตผู้คน”

ในบทบาทพันธมิตรคู่ค้า ที่ผู้นำทั่วโลกล้วนอยากคบหากับ “จีน 5.0” แต่สำหรับ “ธนาธร” เขาอยากถอยห่างจากจีนให้มากขึ้น

“ชัดเจนมาก นโยบายที่ทำเกี่ยวกับรัฐบาลจีนทั้งหมดต้องนำกลับมารื้อและทบทวนทั้งหมด นโยบายที่ทำแล้วไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองต้องยกเลิกทั้งหมด”

“ความสัมพันธ์จีนไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ความสัมพันธ์กับจีนในช่วงเวลานี้ไม่ได้เกิดจากการคิดรอบด้าน หรือมีตัวเลือกเพียงพอ เพราะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปิดโอกาสการค้าและเศรษฐกิจ ความร่วมมือกับต่างประเทศ กลุ่มทุนที่ทำงานกับคณะรัฐประหารมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับจีน ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงเห็นการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนเยอะมาก”

“การเจรจารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สาระสำคัญจีนให้เงินกู้ไทย ต้องไปซื้อของจีน ซื้อรถไฟจีน จ้างแรงงานจีนทำงานทั้งหมด ทั้งการสร้างรถไฟความเร็วสูงไม่มีใครสร้างแค่ 3.5 กิโลเมตร เป้าหมายเดียวที่เห็นชัด คือ การปักธงของจีน”


“พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แทบจะยกประเทศให้จีน เพราะกำหนดให้ซื้อของที่ถูกที่สุด ทำให้ข้าราชการไม่กล้าซื้อของที่แพงและมีคุณภาพ”