“ประธาน ป.ป.ช.” ยันไม่มีสั่งเร่งคดี “ชัชชาติ” สกัดชิงนายกฯ โอดโดนทุกดอก

เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช. รื้อคดีบริหารจัดการน้ำ และเยียวยาม็อบ เพื่อสกัดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ชิงนายกรัฐมนตรี ว่าไม่ทราบเรื่องว่ามีการเร่งคดีนายชัชชาติ ไม่มีแน่ เพราะทุกเรื่องที่จะถูกบรรจุวาระการประชุมกรรมการ ป.ป.ช.นั้นจะต้องผ่านประธาน ป.ป.ช.ก่อน ดังนั้นยืนยันว่าไม่มี และเวลาจะเลือกตั้งเพียงอีกแค่สองเดือนเรารอได้ ป.ป.ช.เราไม่อยากเป็นเครื่องมือใคร ตอนนี้ทำงานซ้ายก็โดนขวาก็โดน โดนทั้งหมด ดังนั้นเราจะต้องยืนหลักของเราให้ได้

“ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้ามกับที่เป็นข่าว หน่วยงานเราทำงานอยู่ตรงนี้ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างมากในเรื่องแบบนี้ ถ้าบอกว่าเราไปเป็นเครื่องมือของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรายิ่งต้องระวัง เพราะฉะนั้นที่บอกว่าพอคุณชัชชาติดังขึ้นมา แล้วไปดึงเรื่องของเขาขึ้นมา เพราะเป็นคู่แข่งของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนั้น คิดว่าเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาเพื่อจะให้ชนกัน เราทำงานอยู่ตรงนี้ก็ยิ่งต้องระวังอย่างมาก ถ้าจะบอกว่าเร่งคดีก็คือเร่งการดำเนินงานในปี 62 เพราะเราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในปี 62 นี้จะมีเรื่องใดที่ต้องจบบ้าง ซึ่งเป็นไปตามแผนปฎิบัติงาน เพื่อเร่งรัดการทำงานว่ามีคดีสำคัญใดบ้างที่แต่ละสำนักจะต้องดำเนินการให้เสร็จ ต้องประกาศเป็นคำมั่นสัญญาต่อคณะกรรมการ แต่ไม่ได้บอกว่าให้เร่งช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างนั้นไม่ใช่ โดยทุกสำนักงานจะต้องสังเคราะห์ออกมาว่า เรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละสำนักงานนั้นเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ มีความคืบหน้าไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว มีเรื่องตามลำดับความสำคัญ ที่จะเสร็จภายในปีนี้มีอะไรบ้างจะต้องประกาศต่อกรรมการให้ชัด ว่าระยะเวลาที่เหลือนั้นจะต้องเสร็จ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหาร”

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรามีการพูดกันว่าในช่วงเลือกตั้งนี้ ต้องระวังมากว่าอย่าไปเป็นเครื่องมือใคร เพราะไปชี้มูลความผิดฝั่งนี้ฝั่งนี้ได้เปรียบ หรือไปชี้มูลความผิดฝั่งโน้นทำให้ฝั่งโน้นได้เปรียบ แล้วเป็นการไปดิสเครดิตเขา เราก็จะกลายเป็นผู้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ดังนั้นยืนยันว่า ไม่มีนโยบายอย่างนั้น ในช่วงนี้ยิ่งใกล้เลือกตั้ง เราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะไปทำร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเพื่อผลประโยชน์ของอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือใคร เราต้องยืนตรงกลางให้ได้ ป.ป.ช. ต้องทำงานในหน้าที่ของเราให้ชัดเจนและมุ่งมั่น อะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในเรื่องไหนก็ต้องมาดูว่าติดขัดเรื่องอะไรแล้วดำเนินการไป และเชื่อว่าเมื่อเอกสารหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วสังคมก็จะดูเองเพราะกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช. คือกระบวนการไต่สวน การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการรวบรวมดังนั้นเมื่อดำเนินการไปแล้วกรรมการก็จะมาพิจารณาวินิจฉัย หากพยานหลักฐาน ยังไม่ครบถ้วนกรรมการก็จะสั่งให้ไปไต่สวนเพิ่มเติม ซึ่งกระบวนการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่เหมือนกับกระบวนการกล่าวหาตามป.วิอาญา แต่เป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์

“ดังนั้นวันนี้ไม่ว่าใครจะพูดอะไรโดยที่เขาไม่รู้ในรายละเอียดก็เป็นการคาดเดาของเขา แต่ข้อเท็จจริงนั้นจะต้องเป็นไปตามพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. การจะเข้าสู่ข้อมูลข่าวสารในการดำเนินการของ ป.ป.ช. ถือเป็นความลับ และมีขั้นตอนซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เมื่อวินิจฉัยแล้ว ก็สามารถขอดูได้จากรายงานการประชุมหรือคำวินิจฉัย ซึ่งตรงนั้นจะเป็นหลักฐานยืนยันการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนใครจะวิพากษ์วิจารณ์หรือจะเอาประเด็น ป.ป.ช.ไปหาเสียงในการเลือกตั้งเพื่อให้สังคมเอาสนุกเอามันทำให้เกิดความเสียหายเราก็คงห้ามไม่ได้เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา และ ป.ป.ช.เราก็ถือเป็นบุคคลสาธารณะเราก็ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และการวิพากษ์วิจารณ์ไหนมีเหตุมีผลเราก็ต้องนำมาปรับปรุงการทำงานของเราเองเพื่อให้โปร่งใส ซึ่งผมบอกว่าเป็นเรื่องปกติ และเข้าใจว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทุกคนก็อยากจะแสดงบทบาท และ ป.ป.ช. ก็น่าจะเป็นอาหารอันโอชะ”

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ในเมื่อเรามีหน้าที่ เราเป็นบุคคลสาธารณะ เราต้องรักษาความเป็นทำตามหน้าที่ของเรา ก็ต้องทำหน้าที่ตามกระบวนการกฎหมายในการตรวจสอบ และเราก็น้อมรับกฎหมาย ที่ให้อำนาจในการตรวจสอบ ป.ป.ช. แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการเราทำงานโดยคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพราะเรา ทุกคนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเราจะอยู่ไม่ได้ ถ้ากระทำผิดกฎหมายเราก็ต้องโทษเป็นสองเท่าซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะไปช่วยคนนั้นช่วยคนนี้ และตน ทำงานโดยไม่ได้หวั่นไหว น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ถือเป็นคำชี้แนะที่เราจะได้ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ต้องการให้กระบวนการเป็นไปตามครรลองกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากฝากถึงนักการเมืองอย่างไรว่าไม่ต้องการให้นำ ป.ป.ช.ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงนี้ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า อยากเรียนว่าดีใจที่นักการเมืองนั้นให้ความสนใจในเรื่องของปัญหา การทุจริตประพฤติมิชอบของประเทศไทย หากทุกคนได้ตระหนักรู้เหมือนที่เราพยายามจะสร้างสังคม ที่ไม่ทนต่อการทุจริต ทุกคนร่วมมือกัน ทุกคนร่วมกันสอดส่อง ก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนก็ทำหน้าที่อย่างสุจริตยุติธรรม การตรวจสอบโดยพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่ดี ตามหลักการของกฎหมายเมื่อมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้วหากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาก็จะทำให้กระบวนการตรวจสอบนั้นมีความเข้มข้น คนที่คิดจะกระทำมิชอบก็จะหลีกเลี่ยงไม่กล้ากระทำ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ต้องตระหนักรู้ถึงภาระสำคัญของประเทศการประพฤติปฏิบัติตัวก็ต้องทำให้ดี เพราะเดี๋ยวนี้สังคมสนใจและไม่มีความลับ และอย่างที่บอกแหละว่าหากคิดว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการ ป.ป.ช. ทำไม่ถูกต้องก็ชี้เบาะแสมา แนะนำมา กฏหมายต้องมีกระบวนการตรวจสอบเราอยู่ ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการเหมือนกันดังนั้นต้องให้โอกาส ป.ป.ช. ได้ชี้แจง เมื่อถึงเวลาที่มีการตรวจสอบนั้น แต่ละคนมีหน้าที่ก็ทำหน้าที่ไปตามกฏหมาย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์