“มีชัย” ชี้ช่อง “ยิ่งลักษณ์” อุทธรณ์ได้ หากศาลชี้ผิด แต่ต้องมาแสดงตัวต่อศาล

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่เดินทางมาตามที่ศาลฎีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดอ่านคำพิพากษา ว่าหากจำเลยยังไม่มาฟังคำพิพากษา ตามที่ศาลเลื่อนออกไป 30 วัน เป็นวันที่ 27 กันยายนนี้ ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้เลย เป็นหลักปกติที่ใช้กันอยู่เเล้ว ไม่เกี่ยวกับว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ประกาศใช้ เพราะที่ผ่านมา การพิจารณาคดีกระทำต่อหน้าจำเลยมาโดยตลอด และกระบวนการสามารถดำเนินคดีได้ตามกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน ส่วนสิทธิตามรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว หากในวันที่ 27 กันยายนนี้ ผลออกมาเป็นโทษ รัฐธรรมนูญ 2560 บอกว่า จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์ แต่ต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง

ส่วนที่กังวลกันว่า หากมีการยื่นอุทธรณ์แล้วจะใช้กระบวนการวิธีพิจารณาอะไร ในเมื่อกฎหมายคดีอาญานักการเมืองใหม่ ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น นายมีชัยกล่าวว่า ปัจจุบันถ้ายังใช้วิธีพิจารณาอะไรอยู่ก็ให้ใช้อันนั้นต่อไป หรือถ้าไม่มีประธานศาลฎีกา สามารถออกข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีออกมาได้ โดยต้องใช้องค์คณะพิจารณาคดีใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญบอกไว้ ถ้าครบ 30 วันหลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว หากจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีต้องสิ้นสุด ส่วนจะนับอายุความอย่างไร วันนี้ยังตอบชัดเจนไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของศาลว่า การนับอายุความ เป็นคุณโทษหรือไม่ ถ้าเป็นโทษ ก็ใช้ย้อนหลังไม่ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกล่าวหา ถ้าโทษสูง อายุความก็จะสูงด้วย แต่หากศาลมองว่า สามารถใช้วิธีพิจารณาตามกฎหมายใหม่กับกรณีนี้ได้ ก็จะไม่มีการนับอายุความตามที่กฎหมายใหม่กำหนด

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยจะหนีไปตั้งหลัก เพื่อรอคำพิพากษา ถ้าเป็นคุณ ไม่ผิดค่อยกลับมา นายมีชัยกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ก็ถูกลงโทษเพราะหนีคดีอยู่ดี ซึ่งจะเป็นคดีต่างหากที่เพิ่มขึ้นมาอีก เพราะวันนี้ศาลได้ริบเงินวางประกันไปแล้ว” เมื่อถามอีกว่า หากไม่ใช้สิทธิอุทธณ์ จำเลยมีช่องทางในการต่อสู้คดี อยู่ที่ต่างประเทศหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “ตอบไม่ถูกเหมือนกัน แต่หากจะสู้คดี ต้องมายื่นอุทธรณ์ที่ศาลด้วยตัวเอง จะส่งทนายมาเป็นตัวเเทนไม่ได้ เพราะเหลืออยู่ขั้นตอนเดียวแล้ว โดยจำเลยจะมายื่นวันไหนก็ได้ ในระยะเวลา 30 วัน”

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์