เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ยุบ ทษช. ศาล ชี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ระบอบประชาธิปไตย

เมื่อเวลา 15.00 น  องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายปัญญา อุดชาชน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรัตน์ และนายบุญส่ง กุลบุปผา ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 92 วรรหนึ่ง (2) หรือไม่

ทั้งนี้ นายนุรักษ์ กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องต่างๆ โดยได้แยกคำร้องออกเป็น 9 คำร้อง ซึ่งศาลมีมติยกคำร้องทั้งหมดเนื่องจากผู้ร้องต่างๆ ไม่ใช่คู่ความในคดี โดยในคดีนี้มี กกต. และพรรคไทยรักษาชาติ เป็นคู่กรณี  และได้มอบหมายให้นายนครินทร์ และนายทวีเกียรติเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย

นายนครินทร์ กล่าวว่า ศาลได้กำหนดประเด็นแห่งคดีไว้   3 ประเด็น 1.มีเหตุให้สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 92 วรรหนึ่ง (2) หรือไม่ 2. คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ทษช.จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ 3 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง กก.บห.พรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็น กก.บห.พรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกหรือไม่ภายในระยะ 10 ปี นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคหรือไม่

โดยประเด็นที่หนึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้รับการถาปนาขึ้น โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 และหมวด 1 มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้บัญญัติว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าโดยกำเนิดหรือโดยตรงตั้งก็ตามทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้ พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พ.ย.2475 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร ระหว่างที่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 2475 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับการเห็นชอบด้วยทุกประการ

สาระสำคัญซึ่งเป็นซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทยได้ระบุไว้ในพระราชหัตถเลขาที่ว่า กล่าวโดยหลักการ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ และควรอยู่เหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาซึ่งพระเดชและพระคุณย่อมอยู่ในวงที่จะถูกติเตียน

อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่นโดยในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอันเป็นเวลาที่ต่าง ฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วน เจ้านายจะทะนุบำรุงประเทศ ก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและตำแหน่งในวิชาชีพ

หลักการพื้นฐานดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรกและเป็นฉันทานุมติที่ฝ่ายสภาผุ้แทนราษฎรให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่าพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักเป็นฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และจะกระทบต่อความสมัครสมานระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่

8 สภาผู้แทนราษฎร  จะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ทั้งฉบับในปี 2489 แต่ก็ไม่ทำให้หลักการของรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกในพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองอันอาจกระทบต่อความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไป ดังปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณีกกต.ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่า  พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้สำนักพระราชวังมีหน้าที่แจงเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิของพระบรมวงศานุวงศ์

ต่อมา กกต .พิจารณาแล้วเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติจึงยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บุคคลใดอยู่ในข่ายหรือได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งเหตุขัดข้องในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับมีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงอยู่เหนือการเมือง ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ ทรงอยู่เหนือการเมืองและดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมืองประกอบกับ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา  ไม่เคยไปใช้สิทธิการเมือง หากกำหนดให้พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและขัดต่อหลักความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา.68 ไม่ใช้กับ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ตามพื้นฐานว่าด้วยการดำรงความเป็นกลางทางการเมือง สอดคล้องกับหลักการที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่ไม่ได้ทรงปกครองอันเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของรัฐ กล่าวคือสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรม เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นของชาติ พระมหากษัตริย์ในฐานะพระประมุขของรัฐทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนการปกครองของไทยมีความแตกต่างจากการปกครองของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของรัฐอื่น ที่กษัตริย์ใช้อำนาจราชาธิปไตยสมบูรณ์ ควบคุมการใช้อำนาจการเมืองผ่านการแต่งตั้งบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร

“ดังนั้นการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและในกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็น ในนามพรรคการเมืองเพื่อนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้ว่าการปกครองของไทยจะแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย” คำวินิจฉัยระบุ

นายนครินทร์ อ่านคำวินิจฉัยต่อไปว่า อนึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขอีกทั้งรัฐธรรมนูญได้ปกป้องและคุ้มครองสิทธิของปวงชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจนและกว้างขวาง  ปรากฏชัดในข้อเท็จจริงที่มีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนับหมื่นคน มีพรรคการเมืองส่งสมัครส.ส.แบบบัญชี 77 พรรค และมีพรรคการเมือง เสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาแต่งตั้งเป็นนายกฯ 44 พรรค อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญรับรองต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และต้องไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานการปกครอง และสั่นคลอนคติรากฐานการปกครองของไทยให้เสื่อมโทรมไป ด้วยเหตุเช่นนี้ประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกป้องกันการปกครองจากการถูกบ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเกินขอบเขต ดังนั้นแม้พรรคไทยรักษาชาติ จะมีสิทธิดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยสมบูรณ์

แต่การใช้สิทธิเสรีภาพย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่าการกระทำนั้น จะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพให้มีผลกะทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยมั่นคงในสถานะมาแต่โบราณโดยพระองค์จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทรงเคารพกฎหมายและโบราณราชประเพณี และทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งยังต้องระมัดระวังไม่ให้สถาบันถูกนำไปเป็นคู่แข่งหรือฝักใฝ่ทางการเมือง เพราะหากถูกกระทำด้วยวิธีการใดๆ สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันฯต้องจะสูญเสียไปก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์ให้อยู่เหนือการเมืองได้

“ซึ่งถ้าปล่อยให้การณ์เป็นไปเช่นนั้นสถาบันฯก็จะไม่อยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองของไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยจะต้องเสื่อมโทรมหรือถึงกับสูญสิ้นไป ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้น”

จากนั้น นายทวีเกียรติ อ่านคำวินิจฉัยต่อไป ว่าโบราณราชประเพณีแม้จะไม่มีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรตามรัฐธรรมนูญ แต่พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติมานาน จนได้รับการยอมรับ ยึดถือปฏิบัติ และสมควรได้รับการถนอมรักษาไว้ มิใช่ประเพณีการปกครองประเทศอื่น และประเพณีการปกครองของไทยหมายถึงการปกครองในระบอบเสรี ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรือลัทธิอื่น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่สถาบันฯต้องอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่องเปิดโอกาส ให้สถาบันฯถูกนำไปใช้ประโยชน์ ฝักใฝ่ทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้จะไม่มีบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแต่ต้องนำโบราณราชประเพณีมาใช้บังคับด้วย

เมื่อกกต.มีหลักฐานว่าพรรคการเมืองกระทำการใดๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ให้เสนอศาลวินิจฉัยยุบพรรค โดยพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่มีความสำคัญต่อประเทศ มีส่วนในการกำหนดตัวบุคคลที่จะไปเป็นตัวแทนในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร กรรมการบริหารพรรคเปรียบได้กับมันสมองของพรรค เป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสินและกระทำการใด ๆ แทนพรรคการเมือง ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคการเมืองจึงต้องรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคง ดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปของประเทศ

“ถ้าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมืองและการปกครอง  พรรคการเมืองนั้นรวมทั้งกก.บห.ย่อมต้องถูกลงโทษตาม พ.รป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  จะอ้างความไม่รู้   ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็นความเชื่อของตนมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้  ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้นิยามศัพท์คำว่า “ล้มล้าง” หรือ” เป็น “ปฏิปักษ์”ไว้แต่ทั้งสองคำก็เป็นภาษาไทยธรรมดา มีความหมาย และความเข้าใจตามที่ใช้กันทั่วไป โดยศาลเห็นว่า คำว่า “ล้มล้าง” หมายถึง ทำลายล้างผลาญไม่ให้ธำรงอยู่  ส่วนคำว่า “ ปฏิปักษ์” ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรู เพียงแค่เป็นการขัดขวางไม่ให้เจริญก้าวหน้า หรือเซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว”

ส่วนประเด็นเรื่องเจตนาในมาตรา 92 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเมือง บัญญัติชัดเจนว่าเพียงแค่ “อาจเป็นปฏิปักษ์”ก็ต้องห้ามแล้ว ไม่ต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรง เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้  ลุกลามขยายไป จนเป็นมหันต์ภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ อนึ่ง การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์นั้นเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำ แต่ต้องดูตามพฤติการณ์ของพฤติกรรมนั้นๆ ตามความคิดของวิญญูชน หรือคนทั่วไป เห็นว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญา ข้อความใดทำให้ผู้อื่นถูกเกลียดชัง ดูหมิ่น เสื่อมเสียก็พิจารณาจากความรับรู้ ความรู้สึก ความเข้าใจในถ้อยคำนั้นๆ

เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำโดยรู้สำนึก และสมัครใจอย่างแท้จริง กก.บห.ย่อมรู้ดีว่า  รู้ดีว่าทูลกระหม่อมเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ และเป็นเชษฐภคินี แม้จะถวายบังคมลาจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังคงดำรงเป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง  ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชน คนทั่วไปรู้สึกได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนฝักใฝ่ทางการเมืองและมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง  โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียฐานะที่ต้องอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามเป็นเหตุให้เข้าข่ายเป็นกากระทำเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปกครอง ตามมาตรา 92 จึงมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง

ประเด็นที่ 2 กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสองหรือไม่ ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นว่า ตามกฎหมาย กำหนดว่า เมื่อศาลฯไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยุบพรรค จึงชอบที่ศาลจะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. 62  แต่มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเพิกถอนสิทธิสมัครแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาเท่าใด เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงกับโทษ เมื่อพิจารณาจากการกระทำของผู้ถูกร้องซึ่งกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง  ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการได้มาซึ่งรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาความสำนึกของกก.บห. ที่น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีเมื่อรับทราบแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ 10ปีตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค

ประเด็นที่ 3 ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกก.บห.ของพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ได้หรือไม่ ศาลฯมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่ากฎหมายไม่ให้ศาลพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้  เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศคำสั่งยุบพรรคนั้น และห้ามบุคคลใด ใช้ชื่อย่อ หรือภาพพรรคการเมืองซ้ำ และห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นกก.บห.พรรคที่ถูกยุบไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค