“บิ๊กตู่” จุดแตกหักเลือกตั้ง 62 เดดล็อก พปชร. แพ้ไม่ได้ คสช.ล่ม

รายงานพิเศษ

 

อีกไม่กี่อึดใจ การเลือกตั้งในรอบ 8 ปีจะเกิดขึ้น หลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐประหารเมื่อปี 2557 กำลังจะผลัดผ่านอำนาจการเมืองครั้งสำคัญด้วยการเลือกตั้ง

“พล.อ.ประยุทธ์” เป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในโควตาของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หวังที่จะ “สานงาน-อำนาจต่อ” เป็นสมัยที่สอง ด้วยตัวช่วยมากมาย ทั้งกลไกรัฐ กลไกรัฐธรรมนูญ

 

ต่อไปนี้คือ Scenario การเมือง โดยนักวิชาการจากสำนักคิดต่าง ๆ ระดับ “ตัวท็อป” ที่จะคาดการณ์โอกาสรีเทิร์นอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” หลังเลือกตั้ง ภายใต้ “ธง” การสนทนา “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยน หรือ จุดแตกหักประเทศไทย ?”

บันได 4 ขั้น ชี้ขาดชัยชนะ

“สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” นักวิชาการรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ลงพื้นที่ทำวิจัยการเลือกตั้งทุกครั้ง ฉายภาพว่า การกลับมาของพรรคที่สนับสนุนทหารจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบันได 4 ขั้น ของการสร้างรัฐที่มีพรรคในกำกับเป็นตัวขับเคลื่อน ขั้นที่ 1 ส.ว. 250 กฎกติกาในการเลือกนายกฯ ขั้นที่ 2.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมาก็ยังถูกกำกับ 3.รัฐภายใต้การอุปถัมภ์ของทุนใหญ่ 4.ระบบเลือกตั้ง ที่ไม่ส่งเสริมประสิทธิภาพทางการเมือง ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนกำกวม ให้มีคะแนนแพ้ไม่ตกน้ำ เพื่อให้โบนัสกับพรรคที่แพ้ คิดว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มองเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่ลดอิทธิพลของสองพรรคใหญ่ และหวังว่าพรรคขนาดกลางที่สร้างมาช้อนคะแนนตกน้ำจะสำเร็จ แต่อาจเป็นบูมเมอแรงที่เป็นหนามยอกตำผู้ร่าง เพราะเกิดพรรคอนาคตใหม่ ที่ไม่ชนะเขตแต่ได้บัญชีรายชื่อ อาจกลายเป็นความฝันที่พังทลาย

นายกฯคนนอก-รัฐบาลแห่งชาติ

ตัวแปรหลักของการเลือกตั้ง คือ จำนวนคนรุ่นใหม่ new voter ประมาณ 7-8 ล้านคน คนกลุ่มนี้ไม่เคยเลือกเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ ต้องประเมินว่าเป็นคะแนนของอนาคตใหม่หรือเศรษฐกิจใหม่ ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ

“ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาล ต่อให้พรรคแนวร่วมต้าน คสช. ชนะเป็นอันดับหนึ่งจะตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่ถึง 376 เสียง ยกเว้น ส.ว. 250 คนจะแปรพักตร์ ทางที่สอง โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่จะเป็นไปได้ยาก ทางที่สาม ประชาธิปัตย์บวก พปชร. พรรคอื่น ๆ ไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ถ้าทั้งหมดไม่สำเร็จ และฝั่งไม่เอา คสช.ได้เกิน 251 เสียง ถ้าเป็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพจะเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้น ทางที่เป็นไปได้ คือ การมีนายกฯคนนอกต้องใช้เสียง 500 จาก 750 เชื่อว่าทำได้ หากมีสัญญาณบางอย่างบอกมา และมีรัฐบาลแห่งชาติ จะประกาศมาตรการระยะสั้น เช่น แก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดเลย และโมฆะเลือกตั้ง ซึ่งไม่อยากเห็นที่สุด”

เดิมพันสำคัญพรรคหนุนบิ๊กตู่

ด้าน “ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักรัฐศาสตร์จาก ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ว่า สถานการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ คือ ความพยายามรัฐประหาร 2557 ซึ่งการเลือกตั้ง 62 ถือว่าเป็นภาคต่อ เพื่อรักษาอำนาจระบอบอำนาจชนชั้นนำ เรียกว่าระบอบประยุทธ์ ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีเดิมพันสูงที่สุด คือ แพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้อาจถึงการยุบเลิกหรือล่มสลายก็เป็นไปได้ ส่วนพรรคอื่นแพ้ไม่เสียหาย แค่รอเลือกตั้งครั้งถัดไป คำถามคือ พปชร.จะซ้ำรอยพรรคเสรีมนังคศิลา สหประชาไท สามัคคีธรรม ถ้าได้เสียงน้อยกว่าที่คิด และไม่สามารถผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

คสช.มีเวลา 5 ปี ในการอยู่ในอำนาจ ขณะที่พรรคทั้งหลายดำเนินกิจกรรมไม่ได้ แต่ระบอบ คสช.ไม่ได้พัฒนาพรรคของตัวเองขึ้นมา พอถึงใกล้เลือกตั้งจึงมีพรรคการเมือง คล้ายกับยุค รสช.ที่มีพรรคสามัคคีธรรม และอาศัยนักการเมืองลายครามมาช่วยตั้งพรรคให้ตนเอง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 และระบบเลือกตั้งใหม่ พยายามจัดการกับภูมิทัศน์การเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป พล.อ.ประยุทธ์เจอโจทย์ที่ยากกว่า จอมพล ป. จอมพลถนอม และ พล.อ.สุจินดา ในการแทรกตนเองขึ้นมาเพื่อทำให้พรรคของตนเองชนะเลือกตั้ง เพราะเวลานี้มีพรรคที่แข็งแรงแล้ว แต่ในอดีตไม่มีพรรคที่แข็งแรง

สึนามิการเมืองล้ม คสช.

ประเด็นที่เปลี่ยนทุกอย่าง ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิถล่มทลายในวันเลือกตั้งจริง กระโดดไป 87-90 เปอร์เซ็นต์ การคำนวณทุกอย่างจะเปลี่ยน ไม่อยู่ในการวางแผน สมการจะเปลี่ยน รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่มาเปลี่ยนสมการการแข่งขันนี้ไป เพื่อไทยที่นั่งจะลดจาก 265 เหลือ 200+- แต่มีพันธมิตรใหม่ ๆ อาจจะได้เกิน 250 โอกาสที่ขั้วฝั่งประชาธิปไตยเกิน 250 ยังมีอยู่ ถ้าเกิดปรากฏการณ์สึนามิการเมืองในมาเลเซีย ที่บทวิเคราะห์ไม่มีใครวิเคราะห์ว่า พรรคอัมโนจะชนะ

สุดท้ายไม่สำคัญว่าพรรคอื่นจะได้คะแนนเสียงเท่าไหร่ หากระบอบประยุทธ์ พปชร.แพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะยอมรับความพ่ายแพ้และยอมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านหรือไม่ ถ้าชนะทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนด พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ และมีโอกาสที่จะเกิดนายกฯคนนอก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถ้ามองว่าชนชั้นนำได้ทำทุกอย่างเพื่อรักษา ทำไว้ตลอด 5 ปี ระบอบ คสช.อยู่ต่อไป แต่อาจไม่มี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นาฏกรรมการเลือกตั้ง

ฟาก “เกษียร เตชะพีระ” นักรัฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์ หยิบคำสัมภาษณ์ของผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ มาอภิปรายบริบทเลือกตั้ง 62 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ในขณะนี้เหมือนอยู่ในสนามรบ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา จะตัดสินใจว่าจะให้อยู่ต่อหรือจะถอย หากเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง ผู้บังคับบัญชาก็สั่งถอย ตนก็ยินดี”

ทำให้รู้สึกว่าตัวละครในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงกว้างกว่าพรรคการเมือง และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ตัวละครการเลือกตั้งนี้รวมชนชั้นนำไทยโดยรวม ซึ่งเป็นชนชั้นนำที่ไม่เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และชนชั้นนำที่เข้าสู่การเลือกตั้งและคนที่เข้าสู่การเลือกตั้งต้องคิดถึงชนชั้นนำไทยเดิม

การเดินหมากเล่ห์กลของชนชั้นนำเดินหมากกันอย่างไร ไม่ทำต่อหน้าสาธารณชน เกิดขึ้นหลังม่าน เป็นนาฏกรรมการเลือกตั้ง เกิดขึ้นในต่างแดนก็ได้ เมื่อเกิดขึ้นหลังม่านจึงไม่กำกับโดยลายลักษณ์อักษรรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย เคยทำกันอย่างนี้ในหมู่ชนชั้นนำซึ่งจะยุ่ง รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยกำลังเปลี่ยนในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมู่รากหญ้าปัจจุบัน และคนรุ่นใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คุมไม่ได้ และสะท้อนไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยด้วย

ฟ้ารักพ่อ เหนือจินตนาการ คสช.

การมองดูชนชั้นนำไทยโดยรวม อาจดูเหมือนมีเอกภาพหากมองจากด้านล่าง แต่มันแบ่งเป็นเสี่ยง และกำลังจับกลุ่มจับขั้วกันใหม่ซึ่งยังไม่ลงตัว ถ้านึกถึงยี่เกหลังม่าน รัฐพันลึก รัฐซ้อนรัฐ ถ้าคิดแบบนี้การเมืองหลังม่าน รัฐของเราคงไม่ใช่รัฐเดี่ยวเสียแล้ว สภาพคงกลายเป็นสมาพันธรัฐพันลึก และเครือข่ายอำนาจต่าง ๆ ที่ยังไม่ลงตัว

การเลือกตั้งครั้งนี้ในหมู่ประชาชนเป็นจังหวะประชานิยมทางการเมือง บ่าล้น เป็นสึนามิบ่าล้นพ้นท่วมสังคมการเมืองไทย ของมวลมหาประชาชนที่แห่แหนไปเลือกตั้ง ฟ้ารักพ่อ อยู่เหนือการคาดการณ์ของ คสช.ในรอบ 5 ปี และสะท้อน คสช.ไม่ประสบความสำเร็จแม้จะสยบประชาชนให้สงบราบคาบ

แนวโน้มการเมืองหลังเลือกตั้ง พลังอุปสงค์ประชานิยมภายในที่ตื่นตัวขึ้นจากการหาเสียง และผลการเลือกตั้งจะประทับชนในเวลาอันรวดเร็วกับขอบเขตจำกัดของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงต่อไป ในทิศทางประชาธิปไตยจากโครงสร้างอำนาจรัฐธรรมนูญ 2560 กับผู้รักประชานิยมทางการเมืองที่ตื่นตัวจากการเลือกตั้งจะชนระเบียบอำนาจที่ออกแบบเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอื้อให้เกิดการปฏิรูปต่อไปได้ ไม่ว่า ส.ว. 250 คน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ถ้าเกิดการแข็งขืนขัดขวางไม่ให้กระบวนการปฏิรูปการเมืองสืบต่อไป จะเพิ่มความผิดหวังและอาการตาสว่างกับอำนาจเดิมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เขาหวังเห็นความเปลี่ยนแปลง และก็เห็นข้อเท็จจริง จะส่งแรงผลักดันความขัดแย้งให้กระฉอกทะลักล้นออกไปนอกกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งในลักษณะการเมืองภาคประชาชน ตามสิทธิเสรีภาพที่มีตามรัฐธรรมนูญ

ถ้าไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ถ้ามีการเปิดขยายพื้นที่ที่เป็นไปได้ภายในกรอบสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง ให้เป็นเวทีการเจรจาต่อรองที่เชื่อมโยงกับคนภายนอก เชื่อมโยงกับจังหวะประชานิยมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อรองรับกระบวนการปฏิรูประเบียบอำนาจมากขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การค่อย ๆ หาจุดบรรจบผสาน ระหว่างเจตนารมณ์ทั่วไป เพื่อการปฏิรูปไปสู่การเมืองใหม่ และเจตนารมณ์ทั่วไปเพื่อการปฏิรูปจากประชาชน การปฏิรูปครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่สำเร็จได้ในลักษณะร่วมมือ จากเจตนารมณ์เบื้องบนผสานกับเจตนารมณ์ร่วมกัน ผสานแล้วโอกาสก็เกิดได้

4 ดัชนี ลดเหลื่อมล้ำ

ขณะที่ “ผาสุก พงษ์ไพจิตร” นักเศรษฐศาสตร์จากรั้วจุฬาฯ แนะให้ดู 4 เรื่องหลังเลือกตั้ง ที่จะชี้วัดการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ หลังจาก “เครดิตสวิส” จัดอันดับความเหลื่อมล้ำ

ด้านทรัพย์สินเป็นอันดับ 1 ของโลก 1.ประเด็นการจัดให้มีสวัสดิการสังคมที่เป็นระบบ ไม่ใช่คิดแก้เป็นจุด ๆ โดยมีเป้าให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่เริ่มจากขั้นพื้นฐาน แล้วค่อยขยับขึ้นไปตามความสามารถของระบบเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจริง ๆ หรือไม่ ไม่ใช่สงเคราะห์ไปวัน ๆ โดยไม่มีการตรวจสอบ และต้องมีรายได้ภาษีที่เอามาจัดการระบบนี้ได้ภายใต้หลักการที่ทุกคนที่จ่ายภาษีจะได้รับสวัสดิการ ภายใต้หลักการมีมากจ่ายมาก มีเท่ากันจ่ายเท่ากัน มีน้อยจ่ายน้อยกว่า และจะมีการปรับโครงสร้างงบประมาณประจำปีตามสังคมโดยรวม ไม่ใช่ปรับไปตามกลุ่มใกล้ชิดภาครัฐบาล หรือความมั่นคงที่ไม่จำเป็น

2.จะมีการพยายามให้มีการใช้จ่ายด้านการศึกษาเน้นคุณภาพทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ 3.ปัญหาการผูกขาดจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ เศรษฐกิจไทยผูกขาดสูงมาก โดยเฉพาะนักธุรกิจในประเทศและต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย และพบว่าบริษัทใหญ่จะโตเร็วกว่าปกติ หากไม่มีการแก้การผูกขาด ขณะที่ SMEs จะไม่มีโอกาสเติบโตได้เร็วเท่ากับบริษัทใหญ่ 4.ในทุกประเทศที่มีความเสมอภาคสูง การกระจายอำนาจ เป็นยุทธศาสตร์ของการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นใกล้ชิดกับประชาชน รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน มากกว่ารัฐบาลส่วนกลาง จึงสนองความต้องการได้ถูกจุด ทั้งสวัสดิการสังคม การหารายได้จากภาษี

รวมถึงการใช้ระบบเลือกตั้งเพื่อเลือก อปท.ทุกรูปแบบ จัดระเบียบความสำคัญ ถ่ายโอนงานระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะมีโอกาสทำให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีในระยะกลาง ระยะยาว รัฐบาลใหม่จะเข้าดำเนินการเรื่องหลัก ๆ นี้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ ถ้าไม่ทำ ความเหลื่อมล้ำ ไม่ลดลงแน่นอน