ประชาธิปัตย์ อ้างปิดสวิตช์ คสช. โหวต “ประยุทธ์” ปิดดีลร่วมรัฐบาล พปชร.ยึดกระทรวงเกรดเอ

และแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็มีมติเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)-สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็น “นายกฯ ลำดับที่ 30” ปิดดีลพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค 254 เสียง

กว่า 6 ชั่วโมง ของการประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค ก่อนจะมีมติร่วมรัฐบาลที่มี พปชร.เป็นแกนนำจัดตั้ง 61 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียงและบัตรเสีย 2 ใบ ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรี ไม่ถึง 24 ชั่วโมง

“ในที่ประชุมวันนี้ท่านเลขาธิการพรรค คือท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า บัดนี้การประสานงานทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงและเป็นอันได้ข้อยุติแล้ว โดยเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอนั้น ได้รับการตอบรับทั้ง 3 ข้อ”

ข้อที่ 1 ในเรื่องของนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร ได้รับการยอมรับที่จะบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

ข้อที่ 2 ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เงื่อนไขประการนี้ก็ได้รับการตอบรับ

และ ข้อที่ 3 เงื่อนไขในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็ได้รับการตอบรับเช่นเดียวกัน

“หากผิดไปจากเงื่อนไขดังกล่าว พรรคฯ สามารถสงวนสิทธิ์ในการที่จะทบทวนในอนาคตได้ ในเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล”

ทันทีที่ประชาธิปัตย์มีมติเสียงข้างมาก-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค เปิดห้องประชุมร่วม ส.ส.-กก.บห.พรรค บนชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แถลงข่าวร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการ

“ประชาธิปัตย์ตระหนักดีว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนได้ตัดสินผลการเลือกตั้งให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 53 ท่าน ซึ่งวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นขนาดกลาง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าย่อมมีข้อจำกัดบางประการที่ไม่อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถที่จะบรรลุความประสงค์ของพรรคฯ ได้ทุกอย่าง”

“พรรคฯ ได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือ ทางลบ กลับมามีผลกระทบต่อพรรคฯ อย่างกว้างขวาง อย่างแน่นอน การตัดสินใจของพรรคฯ จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค หรือยึดประโยชน์ของประเทศเหนือประโยชน์ของพรรค”

แฟ้มภาพ

2 ใน 5 ประการ ที่ทำให้ประชาธิปัตย์ “ฉีกอุดมการณ์พรรค” 73 ปี คือ การ “ปิดสวิตช์ คสช.” และ “ปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

ประการที่ 1 ต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้ ประการที่ 2 ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ และในประการที่ 3 ให้ประเทศสามารถที่จะมีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก สามารถมีหลักประกันในเรื่องรายได้ในการนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฎผลเป็นรูปธรรม

“ประการที่ 4 การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในอีกนัยยะหนึ่ง ก็เสมือนกับการหยุดอำนาจ หรือการปิดสวิตช์ คสช. เพราะว่า คสช.จะหมดอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น”

“และประการที่ 5 การปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ถ้าสามารถคลี่คลายประเด็นนี้ได้ ให้อนาคตเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกติกาปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ก่อน ก็เสมือนกับเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้”

เป็นอันปิดดีล-โควตาของประชาธิปัตย์ 8 ตำแหน่ง ได้แก่ 1 รองนายกรัฐมนตรี  4 รัฐมนตรีว่าการ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ 3  รัฐมนตรีช่วย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ไปโดยปริยาย 

ขณะที่ 1 ในปัจจัยที่ประชาธิปัตย์นำมาพิจารณาตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ทางการของพรรค-ชี้ชะตารัฐบาลที่มีพลังประชารัฐเป็นแกนนำ คือ การแสดงท่าทีของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคที่ได้ประกาศไปในช่วงของระยะเวลาการหาเสียงไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์-คสช.

มติร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ-ยกมือโหวต พล.อ.ประยุทธ์ “เบิ้ลเก้าอี้นายก ฯ” ทำให้ “กลุ่มอภิสิทธิ์” และ “กลุ่มนิวเดม” ที่มี “จุดยืน” เป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” และไม่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ โดยเฉพาะกลุ่มนิวเดมที่ประกาศ “แยกทาง” ประกาศออกจากการเป็นสมาชิกพรรคทันควัน

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์มีมติเสียงข้างมากเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ว่า ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยให้โอกาสลงรับสมัครเลือกตั้ง และให้การสนับสนุนต่างๆ ทำให้มีประสบการณ์ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย “แต่เมื่อแนวทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน คงขออนุญาตที่จะลาออกจากสมาชิกพรรค”

“นัฏฐิกา โล่ห์วีระ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยภูมิ เขต 1 ประชาธิปัตย์ และ กลุ่มนิวเดม โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ดิฉันขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้โอกาสดิฉันเป็น 1 ในผู้สมัคร ส.ส. และขอบคุณทุกคะแนนเสียงของจังหวัดชัยภูมิ เขต 1 ที่มอบให้ แต่การตัดสินใจและมติของพรรคในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐไม่ตรงกับความคิดเห็นและอุดมการณ์ส่วนตัว”

“ดิฉันจึงขอยุติบทบาททางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้พรรคได้ทำงานอย่างมีเอกภาพและเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้กับ ส.ส. ของพรรคในการผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง”

“ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” หรือ “ไฮโซลูกนัท” ทายาทนักธุรกิจเครือโนเบิล บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 15 กทม.ประชาธิปัตย์ กลุ่มนิวเดม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” หลังพรรคประชาธิปัตย์ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐว่า

“ผมยินดีที่ได้รู้จักและร่วมงานกันกับทุกท่านนะครับ และต้องขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่เลือกให้ผมใน เขต 15 มีนบุรี/คันนายาว ร่วมถึงทุกคะแนนทั่วประเทศ สมาชิกพรรคทุกท่าน”

“ในเมื่อคำพูดต้องเป็นคำพูด ผมขอยุติบทบาททางการเมืองไว้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอเป็นกำลังใจให้พรรคประชาธิปัตย์เสมอ และเชื่อในฝีมือของ ส.ส. และว่าที่ รมต.ทุกท่านว่าจะทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองได้แน่นอน untill next time – god bless”

“ทัดชนม์ กลิ่นชำนิ” สมาชิกกลุ่มนิวเดม โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ และได้ตัดสินใจยืนยันการเป็นสมาชิกอีกครั้งเมื่อ คสช. ประกาศให้มีการยืนยันสมาชิกภาพใหม่ แม้ในยุคที่ความนิยมตกต่ำ ผมยังคงยืนยันที่จะอยู่เคียงข้างพรรคภายใต้ภาวะกดดันทางการเมืองมากมายที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความหวังว่าสุดท้ายจะร่วมกันรักษาจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคเอาไว้ได้และกลับมาเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

วันนี้ คณะกรรมบริหาร และ ส.ส.ได้มีมติเสียงข้างมากถึง 61 : 16 เสียง ในการตัดสินใจทางการเมืองที่ขัดต่ออุดมการณ์พรรคอย่างชัดเจน และไม่เห็นความสำคัญต่อคะแนนเสียง 3.9 ล้านเสียง ที่ลงคะแนนด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค ผมไม่มั่นใจว่า ก่อนการลงมติดังกล่าว ที่ประชุมได้ขอ มติเพื่องดเว้นการบังคับใช้อุดมการณ์พรรคข้อที่ 4 และจุดธูปขอขมาดวงวิญญาณผู้ก่อตั้งและอดีตสมาชิกพรรคก่อนหรือไม่ ว่าวันนี้จะมีมติที่อัปยศที่สุดต่อการดำรงอยู่ของพรรคประชาธิปัตย์

“แต่ด้วยความเป็นสมาชิกตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จึงไม่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือขัดขืนใดๆ ได้ แต่ผมขอเลือกที่จะรักษาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์เอาไว้กับตัว แล้วขอออกมาจากพรรคปลอมๆ ที่ไม่เหลือแก่นแท้ของประชาธิปัตย์อีกต่อไปแล้ว โดยการลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และยุติการสนับสนุนทุกรูปแบบ”

“พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” ทายาทของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊ก “Parit Ratanakul Serirengri” ว่า “ขอขอบพระคุณประสบการณ์และมิตรภาพ ที่พรรคประชาธิปัตย์มอบให้ครับ ผมขอลาออกจากสมาชิกพรรคทันทีครับ คำไหนคำนั้นครับ”

หลังจากนี้ ยังต้องจับตาว่า “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” แกนนำกลุ่มนิวเดมคนสำคัญจะประกาศวางมือ-ลาออกจากสมาชิกประชาธิปัตย์หรือไม่

รวมถึง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่มี “ข่าวลือ-ข่าวปล่อย” เตรียมโบกมือลาต้นสังกัด-ไขก็อกจากบัญชี ส.ส.อาจกลายเป็น “ข่าวจริง” ในวันนี้-หลัง “ยกมือสวนมติพรรค” ไม่โหวตพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายก ฯ อีกสมัย เพื่อรักษาจุดยืน-คำสัญญา

ภายหลังใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง อภิปรายในที่ประชุมร่วม ส.ส.-กก.บห.พรรค เพื่อโน้มน้าวที่ประชุมไม่ร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ-สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ไม่เป็นผล

สุดท้ายแล้ว “พรรคแตก” !!! หรือไม่ ต้องลุ้นระทึก

วันเดียวกัน ต่างเวลา-สถานที่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จับมือ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคประชาชนปฏิรูป แสดงเสถียรภาพรัฐบาล-เสถียรภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ในสภาผู้แทน ฯ ก่อนวันโหวตนายก ฯ

“ความตั้งใจนี้ คือ เชิญพรรคที่มีเจตารมณ์ร่วมกัน มาพูดคุย มาหารือ เนื่องจากเหลือเวลาไม่มาก พรุ่งนี้ก็เลือกนายกฯ แล้ว เราเริ่มพูดคุยในเชิงนโยบาย ก็จะนำไปสู่การจัดสรรโครงสร้าง บุคลากรเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้มีประสิทธิภาพ”

“ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ความตั้งใจของเรา คือ มุ่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนได้” อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร.  

ก่อนที่ ชพน.- รปช. จะมีมติร่วมรัฐบาล พปชร.อย่างเป็นทางการ ในเวลา 14.00 น. และ 17.00 น. ตามลำดับ

วันนี้คงไม่พูดว่ามาปิดดีล วันนี้มาแสดงตัว แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เรามุ่งมั่น ตั้งเป้าที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเพื่อทำงานให้พี่น้องประชาชนได้ ไม่กังวล เรามาด้วยความตั้งใจ เพื่อประเทศชาติ เราเชื่อว่าจะลงตัวได้

ส่วนเงื่อนไชการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์ “อุตตม” แบ่งรับ-แบ่งสู้ ภายหลัง “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่การันตี-ไม่อยู่ในเงื่อนไขการร่วมรัฐบาล “เป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง”

ขณะที่ “ ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปเตรียมเป็น “องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่”

“การโหวตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับเสียงข้างมากให้เป็นนายก ฯ ส่วนการยื้ออภิปรายข้ามวัน ข้ามคืน ผมไม่เชื่อว่าทำได้ เพราะจะฝ่าฝืนข้อบังคับ ผมมั่นใจท่านชวน ประธานรัฐสภา ท่านไม่ทำอะไรที่ฝ่าฝืนข้อบังคับแน่นอน”

“การประชุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมั่นใจว่าหลังจากวันพรุ่งนี้ประชาชนรอคอยมานานแล้ว ฝ่ายที่ใช้เกมปลุกปั่น บิดเบือน ขอให้เห็นใจประชาชนที่ต้องการเห็นให้รัฐบาลเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหา”

5 พรรคดาหน้าแถลง…หน้าชื่นอกตรม

คล้อยหลังตั้งโต๊ะแถลงจับมือ 5 พรรคการเมือง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน-นายอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่มสามมิตร พร้อม ส.ส.ในสังกัด กว่า 30 คน แสดงแสนยานุภาพ-กำลังต่อรอง พร้อมตั้ง “ทีมองครักษ์พิทักษ์บิ๊กตู่”

“ในวันที่ 5 มิ.ย.รัฐสภาจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เราจึงมาปรึกษาหารือกันว่า จะกำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปราย สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากฯและหัวหน้าคสช.ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ได้รับเลือกเป็นนายกฯ”

“วันนี้ที่เรานัดหารือกันไม่ได้มีเจตนาเพื่อไปต่อรองตำแหน่งใดๆทั้งสิ้น ที่ผ่านมาแม้ว่าตนจะเป็นหนึ่งในแกนนำ แต่ไม่เคยออกมาพูดขอตำแหน่งใดๆ สำคัญที่สุดคือ ทางพรรคเองต้องมีกระทรวงที่ตอบสนองกับนโยบายการหาเสียง หากพรรคไม่เก็บกระทรวงสำคัญๆไว้เลย การเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ส.ของเราจะไม่มีที่ยืน…เรามั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯอีกครั้ง ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ”

“สามมิตร” ยังคงดิ้นไม่หยุด จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่