“อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ” แผนล็อกตัว “นายก” ขึ้นเขียง

แม้แรงกดดันปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ 161 ถาโถมใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่นายกฯคนที่ 29 ลำดับที่ 30 เลือก “ปิดปากเงียบ” ตัดวงจรการตอบโต้ผ่านสื่อ แต่ใช่ว่ากระแสจะซาลง เมื่อ 7 พรรคฝ่ายค้านยื่นกระทู้ถามสด “พล.อ.ประยุทธ์” ให้มาตอบคำถาม ที่ยัง “คาใจ” ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ด้วยกำหนดการที่ไม่อาจปฏิเสธได้ “พล.อ.ประยุทธ์” จึงไม่ไปตอบกระทู้ในสภา

“ไม่ใช่ ไม่ให้เกียรติสภา แต่เรื่องเข้ากระบวนการแล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนการตามกฎหมายที่รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อไป” นายกฯ กล่าว

สำทับกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ บอกว่า “ปมถวายสัตย์ฯสุดท้ายต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อกระทู้ในสภาถูกปฏิเสธ 7 พรรคฝ่ายค้านจึงใช้สิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ อันเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้

“น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าฝ่ายค้านไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะใช้เรื่องถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน มาเป็นเครื่องมือโจมตีนายกฯ และรัฐบาล ตามที่นายกฯกล่าวหา แต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการ ฝ่ายค้านก็ต้องถูกดำเนินการในข้อหาละเว้นเช่นกัน ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจอำนาจหน้าที่ของตนเอง และให้เกียรติการทำงานของแต่ละฝ่าย

“จากนี้หวังว่าฝ่ายค้านจะไม่ได้ยินนายกฯปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสภาเช่นนี้อีก หากยังอ้างว่าเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในช่องทางอื่น ๆ ไปแล้ว และไม่เข้าสู่การตรวจสอบของสภา ฝ่ายค้านจำเป็นต้องใช้อำนาจสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ซักถามข้อเท็จจริงจากนายกฯ และจะไม่มีแค่ประเด็นกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญเรื่องถวายสัตย์ฯเท่านั้น แต่จะมีประเด็นบกพร่อง ผิดพลาด และอาจผิดกฎหมายอื่น ๆ อีกด้วย”

ช่องทาง “อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เป็นการบัญญัติขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดช่องให้ “เสียงข้างน้อย” ในสภา ได้มีปากมีเสียง ถกเถียงในสภา

Advertisment

“ชาติชาย ณ เชียงใหม่” อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า เพื่อไม่เป็นการปิดปากเสียงข้างน้อย ที่ผ่านมาเสียงข้างน้อยไม่มีพื้นที่ ก็จะบ่นว่า ก็เสียงไม่ถึงที่จะอภิปราย จึงไปด่ากันนอกสภา

เช่นเดียวกับ “อุดม รัฐอมฤต” อดีต กรธ. บอกว่า การเปิดอภิปรายไม่ลงมติ เป็นครั้งแรกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคที่เสียงข้างน้อยในสภา และเสียงไม่พอ

Advertisment

ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือนายกฯ ได้มีช่องทางอภิปราย แต่ไม่เป็นการลงมติ แต่ในกรณี 7 พรรคฝ่ายค้าน แม้เสียงพอที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ก็มีสิทธิขออภิปรายโดยไม่ลงมติได้เช่นเดียวกัน และนายกฯ หรือรัฐมนตรีจะต้องมาตอบอภิปราย ไม่สามารถเลี่ยงได้

ฝ่ายค้านได้ที…ใช้แผนนี้ล็อกตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ตอบคำถามในสภา