เรื่องร้อนหู บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม 3 โฆษกหญิง ชิงไมค์โชว์ผลงาน

การปรากฎตัวของ “โฆษกรัฐบาลรุ่นพี่” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เข้ามานั่ง “คุมงาน” ทีมโฆษกสามสาว ในวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เกิดเป็นคำถามถึงความเป็นเอกภาพของทีมโทรโข่งรัฐบาล

ในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ที่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาจาก 6 พรรคการเมือง แต่มี 3 พรรคการเมืองที่มีบทบาทใน “ครม.บิ๊กตู่ 2/1” เพราะได้โควตาเก้าอี้รัฐมนตรี-กระทรวงเกรดเอ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยทำให้การช่วงชิงผลงานในรัฐบาลของ 3 พรรคการเมืองเข้มข้น โดยมี 3 โฆษก-รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จาก 3 พรรคการเมือง เป็นมือไม้ในการสร้างผลงานให้กับรัฐบาลโดยรวม-รัฐมนตรีต้นสังกัด

จึงไม่แปลกที่จะเกิดภาพความ “ไม่เป็นเอกภาพ” เกิดขึ้นในทีมโฆษกรัฐบาลหญิงล้วน-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดพลังประชารัฐ-รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก สังกัดประชาธิปัตย์ และ ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกคนเล็ก สังกัดภูมิใจไทย แม้ก่อนหน้านี้จะตกลงกันถึงกรอบการทำงานในภาพรวมแล้วว่า การแถลงข่าวของโฆษก-รองโฆษกรัฐบาล แบ่งตามกระทรวง-โควตาที่มีรองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีของพรรคการเมืองของตัวเองสังกัด

ทว่าการทำงานตลอด 1 เดือนเต็ม นับตั้งแต่โฆษกรัฐบาล “ครบทีม” เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะผลักดันโครงการ-มาตรการ-งบประมาณออกมา แต่เมื่อการทำงาน-ข้อตกลงถูกตีกรอบว่า “กระทรวงใครกระทรวงมัน” จึงทำให้บางครั้ง “ทีมโฆษก” ไม่มีข่าวแถลงผลงานครบทั้งรอบด้าน โดยเฉพาะ “รองกวาง-ไตรศุลี” ที่รับเหมาเรื่องการแถลงแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการ-ข้าราชการการเมือง ผลงานหน้าไมค์ “ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” ทั้ง ๆ ที่ภูมิใจไทย-ต้นสังกัด มีรองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีรับผิดชอบกระทรวงคมนาคมที่มี “บิ๊กโปรเจ็กต์” จำนวน 44 โครงการ มูลค่ากว่า 1.94 ล้านล้านบาทอยู่ในมือ

ยิ่งผลงานของรัฐบาลออกมาเป็นจำนวนมาก-บิ๊กลอต แต่เมื่อการทำงานถูกผูกติดอยู่กับรูปแบบเดิม-ไม่ปรับให้เท่าทันยุคบิ๊กดาต้า-5G ทำให้เกิดปัญหา “งานหลุด”-“ล้ำเส้น” ในทีมโฆษกรัฐบาลตามมา…โดยไม่ได้ตั้งใจ

ปัญหาการทำงานของทีมโฆษกที่เห็นได้ชัด คือ การประชาสัมพันธ์ผลงานเชิงรับ-เชิงรุกในการแก้ปัญหาอุทกภัยล่าสุด ที่ขาดการรวมศูนย์-เซ็นเตอร์ในการประชุมการทำงานของทุกกระทรวง-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีกลไก “โฆษกกระทรวง” ทำให้เกิดภาพดราม่าท่วมจอ กลบภาพลงช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นอกจากปัญหาการ “แย่งซีน” พี.อาร์.ผลงานของคณะรัฐบาลและการไม่จูนเข้าหากันแล้ว สารพัดวิชายังถูกงัดมาใช้ จนข้อมูล-ผลงานระดับชาติ เช่น นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)-มาตรการเศรษฐกิจระดับปากท้อง-เมกะโปรเจ็กต์ ไม่สามารถสื่อสารสู่สาธารณะ-ต่อสู้กับสงครามเฟกนิวส์

เมื่อปัญหาความ “ไม่เป็นเอกภาพ” สำแดงขึ้นทั้งจากปากต่อปากของ “คนในทำเนียบ” และ “คนกันเอง” จนรู้ถึงตึกไทยคู่ฟ้า-หน่วยขึ้นตรง “ดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และถึงหูพล.อ.ประยุทธ์-หัวหน้ารัฐบาล เรื่องเก่านำมาเล่าใหม่ ไม่เว้นแม้กระทั่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี-ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ จนเกิดเป็นภาพ พล.ท.สรรเสริญ-อดีตโฆษกรัฐบาลยุค คสช. นั่งสังเกตการณ์อยู่แถวหลังเก้าอี้รับฟังแถลงข่าว

เมื่อไม่มีแผนการทำงาน-ไม่แบ่งงานให้ชัดเจน-ไม่หันหน้าเข้าหากันเมื่อแผนและระบบไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม นำไปสู่ผลงานของรัฐบาลหลายเรื่องไม่ออกสู่สาธารณะ ไม่ถึงหู-ไม่ติดตาประชาชน กระทบชิ่งไปถึง “เรตติ้ง” ของรัฐบาล-ครม.ทั้งคณะ

แม้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแบ่งงานอย่างเป็นทางการ จากการแถลงผลงานตามกระทรวงต้นสังกัด-แถลงตามหน้างาน แต่งานที่ทีมโฆษกจะกระชับ-ทิศทางเดียวกันเพื่อแก้ “ปัญหาเฉพาะหน้า” ไปก่อน คือ ผลงานรัฐบาล-มติ ครม.ต้องไม่หลุด-ข้อมูลครบงานรูทีนไม่ให้พลาด โมเดลหนึ่งของทีมโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลผสมบางยุค-บางสมัยใช้ คือ การแบ่งงานเป็นหมวดหมู่การเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม อาจนำมาใช้ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ เพื่อยุติปัญหาเบสิกและไม่ส่งผลถึงผลงานภาพรวมของรัฐบาลทั้งคณะ

ความไม่เข้าใจกันของโฆษกรัฐบาลผสมไม่ว่าจะเป็นชาย-หญิง หรือ หญิงล้วน-ชายล้วน ย่อมเกิดขึ้นได้