“ส.ส.พึงมี” แผลงฤทธิ์ ป่วนการเมือง ถ้ายุบอนาคตใหม่ 38 ปาร์ตี้ลิสต์วงแตก ?

รายงานพิเศษ

 

ทั้งการเลือกตั้งใหญ่-การเลือกตั้งซ่อมภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ปั่นป่วน อลหม่านเพราะระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” เจ้าปัญหา ออกฤทธิ์ทำให้ระบบปั่นป่วน

นอกจากทำให้พรรคที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าสภาได้เป็นอันดับ 1 อย่างเพื่อไทย ต้องตกกระไดไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วเข็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ด้วยคำอ้าง “พ็อปพูลาร์โหวต” 8,433,137 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ได้ 7,920,630 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ขณะเดียวกัน ระบบคะแนน ส.ส.พึงมี ที่นำคะแนนโหวตทั่วประเทศมาหาสัดส่วน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองควรได้ ทำให้พรรคเพื่อไทยสูญพันธุ์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จนทำให้เกิดแผนแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ตั้งพรรคเล็ก ๆ ขึ้นมากวาด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แทน

ขณะเดียวกัน ยังเสกให้พรรคเกิดใหม่-อนาคตใหม่ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากถึง 50 ที่นั่ง + ส.ส.เขต 31 ที่นั่ง = 81 กลายเป็นพรรคลำดับ 3 บนกระดานเลือกตั้งทันที แม้เป็นพรรคน้องใหม่

ขณะที่เลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่ เขต 8 แทน ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งถูกใบเหลืองจากเหตุทุจริตเลือกตั้ง ส่งผล “น.ส.ศรีนวล บุญลือ” จากพรรคอนาคตใหม่ ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.แทน

พร้อมกับนำ “คะแนน ส.ส.พึงมี” มาคำนวณใหม่ ใช้คะแนนชนะเพียง “จุดทศนิยม” มาตัดสินการอยู่-ไปของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ผลปรากฏว่า พปชร.และประชาธิปัตย์รับอานิสงส์ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มพรรคละ 1 คน ดัน น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี จาก พปชร. และ น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร จากประชาธิปัตย์ เลื่อนเป็น ส.ส.อัตโนมัติ ส่วนพรรคที่รับเคราะห์ คือ “ไทรักธรรม” ต้องเสียสละ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน คือ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค เพราะคำนวณแล้วไม่ได้ ส.ส.พึงมี

เลือกตั้งซ่อมอลหม่าน

และกับการเลือกตั้งซ่อมรอบล่าสุด เขต 5 นครปฐม เมื่อ “เผดิมชัย สะสมทรัพย์” จากชาติไทยพัฒนา เอาชนะ “ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร” จากอนาคตใหม่ แชมป์เก่า สามารถกู้ศักดิ์ศรีบ้านใหญ่นครปฐมได้สำเร็จ

แต่ปัญหาหลังการเลือกตั้งซ่อมนครปฐมเกิดขึ้น เมื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทักท้วงว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (3) ระบุว่า ให้นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองพึงมีพึงได้ลบด้วย ส.ส.ที่พรรคนั้นได้ในแบบเเบ่งเขต ที่เหลือเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่การเลือกตั้งซ่อมนครปฐมไม่ได้นำคะแนนมารวม เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งซ่อมที่เกิดจากการทุจริต

“ดังนั้น จึงใช้กระดานเดิมในการคำนวณ ส.ส.พึงมีของพรรคอนาคตใหม่ยังมี 81 คน แต่ ส.ส.ปัจจุบันมีเพียง 80 คน จึงอยากฝากนักกฎหมายมหาชนทั่วประเทศช่วยไตร่ตรองว่า นายมานพ คีรีภูวดล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต่อไปควรได้ขึ้นเป็น ส.ส.แทนหรือไม่”

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเดิมมีจำนวน ส.ส.พึงมี 10 คน เมื่อ “เผดิมชัย” เก็บแต้ม ส.ส.เขตได้เพิ่มอีก 1 ที่นั่ง เท่ากับเพิ่มเป็น 11 ที่นั่ง ส.ส.พึงมี จึงเกินโควตา บนคำถามว่าอาจถูกริบเก้าอี้คืน 1 ที่นั่งหรือไม่ ?

อนค.ถูกยุบ ส.ส.ซบพรรคใหม่ได้

ในเวลาไล่เลี่ยกัน กระแสข่าวเรื่องพรรคอนาคตใหม่เสี่ยงจะถูกยุบพรรคดังขึ้นหนาหู สอดรับกับ “คดีความ” อันเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เช่น กรณีที่นายธนาธรปล่อยกู้ให้กับพรรคอนาคตใหม่จำนวน 191 ล้านบาท สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายพรรคการเมืองหรือไม่

กับกรณีที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยร้องกกต.ให้ตรวจสอบกรณีที่ “พรรณิการ์ วานิช” โฆษกพรรคและกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาท เมื่อ พ.ย. 2561 ให้กับพรรค แต่บัญชีรายการทรัพย์สินหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.มีเงินฝากเพียงหลักหมื่น มีข้อน่าสังเกตว่า เงินบริจาคอาจไม่ใช่เงินส่วนตัว แต่เป็นเงินที่ได้มาจากผู้อื่น หรือได้มาโดยวิธีการอื่นหรือไม่

ด้วย 2 เหตุดังกล่าว บวกกับการขับเคลื่อนประเด็นที่แหลมคมหลายครั้งของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ทำให้คนการเมืองมองข้ามชอตล่วงหน้าถึง “พรรคอนาคตใหม่” ถูกยุบ

มีการวิเคราะห์ต่อว่า ถ้าอนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วปาร์ตี้ลิสต์ 50 คนของพรรคจะย้ายไปอยู่สังกัดใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.พรรคที่ถูกยุบต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วันได้หรือไม่ เพราะติดกรอบจำนวน “ส.ส.พึงมี”

ทว่า…ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คนของอนาคตใหม่มีกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็น ส.ส.อยู่ 12 คน หากพรรคถูกยุบ 12 คนอาจถูกเว้นวรรคการเมือง ทำให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะย้ายค่ายได้มี 38 คน

ระบบพึงมี เสี่ยงเดดล็อก

แหล่งข่าวฝ่ายกฎหมาย กกต.ที่รับภาระคำนวณจำนวน ส.ส.ทั้งการเลือกตั้งทั่วไป-เลือกตั้งซ่อม ไขปริศนากฎหมาย ว่า ในกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบภายใน 1 ปี นับจากวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้มีอิสระในการไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน ซึ่งจำนวน ส.ส.พึงมีจะไม่ถูกนำมาคำนวณ เพราะไม่มีการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้นจากการทุจริต

“ถ้าอนาคตใหม่ถูกยุบจริง ๆ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อนาคตใหม่ทั้ง 30 กว่าคนสามารถไปหาสังกัดใหม่ได้ แม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องภาวนาว่าอย่าให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษาให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี หลังจากเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 (24 มี.ค. 2563) เพราะจะทำให้เกิดการคำนวณ ส.ส.พึงมีใหม่ทั้งกระดาน แล้วจะเกิดปัญหาว่า ส.ส.อนาคตใหม่ที่ไปอยู่ใน พปชร. จะกลายเป็นสัดส่วนที่เกิน ส.ส.พึงมีของ พปชร.”

“เช่นเดียวกับกรณี นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ยุบพรรคตนเองแล้วไปอยู่กับ พปชร. ถ้ามีการเลือกตั้งซ่อมจากเหตุทุจริตภายใน 1 ปีหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แล้วมีการคำนวณคะแนน ส.ส.พึงมีใหม่ทั้งกระดาน ถ้าปรากฏว่า ส.ส.พึงมีของ พปชร.เต็มแล้ว 19 คน แต่นายไพบูลย์ซึ่งบอกว่าเป็น ส.ส.พปชร.เช่นกัน แต่เป็นไส้ติ่ง อยู่ในลำดับที่ 20 ถามว่านายไพบูลย์เป็น ส.ส.พปชร.หรือไม่ อาจจะเป็น แต่ถามว่าอยู่ใน พปชร.ได้ไหม…ยังเป็นปัญหาที่ระบบเลือกตั้งก็ไปต่อไม่ถูก”

“ได้แต่ภาวนาว่าอย่ามีเลือกตั้งซ่อมจากเหตุทุจริต จนต้องคำนวณ ส.ส.พึงมีใหม่ทั้งกระดานก่อน 24 มี.ค. 2563”

เพราะถ้าพ้นเลือกตั้งใหญ่ 1 ปี ส.ส.พึงมีจะไม่ถูกคำนวณใหม่อีกต่อไป

ชาติไทยฯกำไร-อนค.ขาดทุน

ส่วนปัญหาการเลือกตั้งซ่อมนครปฐมที่ “ธนาธร” ทักท้วงว่า พรรคอนาคตใหม่จะต้องได้ ส.ส.เต็มโควตา ส.ส.พึงมี 81 ที่นั่ง และชาติไทยพัฒนาจะต้องลดลง 1 ที่นั่งนั้น

แหล่งข่าว กกต.รายเดิม ระบุว่า หลักเกณฑ์คำนวณ ส.ส.พึงมีใหม่ ใช้สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปกับการเลือกตั้งไม่สุจริตเท่านั้น ดังนั้น กกต.ไม่เอาการคิด ส.ส.พึงมีครั้งแรกมาอธิบายสถานการณ์เลือกตั้งซ่อมในนครปฐม เขต 5 เพราะไม่ได้มาจากเหตุทุจริต เว้นแต่หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งซ่อมจากเหตุทุจริตภายใน 1 ปี นับจากเลือกตั้งใหญ่

สารพัดปัจจัย ขมวดปมมาสู่การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะถูกผลักมาเป็นวาระเร่งด่วนหลังเปิดสภา 1 พ.ย. 2562

ก่อนการเมืองเข้าสู่เดดล็อก กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บางรายเริ่มยอมรับว่า เมื่อระบบเลือกตั้งที่คิดกันมามีปัญหา


“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไข”