ท่ามกลางทั้งก้อนหิน และก้อนอิฐ การตั้งคำถามเรื่องการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งอาจนำมาซึ่งเสียงวิจารณ์มากที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ ทั้งที่ 7 อรหันต์ กกต.เพิ่งทำงานครบทั้ง 7 คน เพียงแค่ 1 ปี ในวันที่ 5 ธ.ค. กับเคสล่าสุดที่ “อนาคตใหม่” เปิดหนังสือลับที่อ้างว่าหลุดมาจาก กกต. ซึ่งชี้นำคดีให้เอาผิดอนาคตใหม่
ทว่าผลงานในรอบ 1 ปี คดีของพรรคการเมือง-นักการเมือง กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคสำคัญที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ไปแล้ว 1 พรรค คือ ไทยรักษาชาติ (ทษช.)
สืบเนื่องจากกรณีที่ ทษช.ยื่นชื่อแคนดิเดตนายกฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 กกต.ได้พิจารณา และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ ทษช.เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ในวันที่ 13 ก.พ. ต่อมาเมื่อ 7 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค ทษช.
ในขณะเดียวกัน เครือข่ายพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติการส่งชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐว่า เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้าม เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งเป็นตำแหน่งต้องห้าม-ห้ามลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่ โดย กกต.มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ เมื่อ 20 มี.ค.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
การันตีการกลับเข้าทำเนียบของ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯสมัยที่ 2 อย่างไรก็ตาม หลัง กกต.มีมติดังกล่าว “เครือข่าย” เพื่อไทย ได้นัดแนะให้ “สุรทิน พิจารณ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรค ยื่นฟ้อง 7 กกต.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง เหตุไม่ตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้แคนดิเดตนายกฯของพรรคอื่นเสียเปรียบ
กระทั่ง 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตฯสั่งรับคดีไว้ตรวจฟ้อง แต่ปรากฏว่า “สุรทิน” ซึ่งขณะนี้เป็น ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลได้เปลี่ยนใจถอนฟ้องในวันเดียวกันนั้น
แต่ก็เป็น “บรรทัดฐาน” ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ประชาชนสามารถยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯได้
และเปิดช่องให้พรรคอนาคตใหม่ ยื่นฟ้อง 7 กกต.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ฐานที่ กกต.ประพฤติมิชอบในการไม่ใช้อำนาจในการไต่สวนพยานหลักฐานสืบหาข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ ในคดีการกล่าวหา “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จากเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ธนาธร” สิ้นสภาพการเป็น ส.ส. เมื่อ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
ในคดีที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นศาลอาญาคดีทุจริตฯ เอาผิด กกต. ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 24 ธ.ค. 2562
และกำลังพิจารณาขยายผล เอาผิด “ธนาธร” ตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. แต่ไปลงสมัคร โทษจำคุก 1-10 ปี ตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ปรับ 2 หมื่น-2 แสนบาท ไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะเดียวกัน กกต.ยังตรวจสอบกรณีมีผู้กล่าวหาว่า นายธนาธรให้พรรคกู้ยืมเงินของตนเอง จำนวน 191 ล้านบาท ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยได้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง เกิน 10 ล้านบาท ต่อพรรคการเมืองต่อปีหรือไม่
ในคดีที่เกี่ยวข้องกับจัดการ “เอาผิด” พรรคการเมือง-นักการเมือง ผลักให้ กกต.เป็นทั้งผู้ร้อง-ผู้ถูกฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ในด้านการปฏิบัติงาน “รูทีน” สานจัดการเลือกตั้ง 24 มี.ค. กกต.ให้ใบส้มไป 1 ใบ (เพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้ง) คือ “สุรพล เกียรติไชยากร” ว่าที่ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย และใบเหลือง (สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่) 1 ใบ นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ จากกรณีบุคคลใกล้ชิดใส่ซองช่วยงานศพ
ให้มีการเลือกตั้งซ่อม 3 ครั้ง เลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ เลือกตั้งซ่อมเขต 5 นครปฐม และเลือกตั้งซ่อมเขต 7 ขอนแก่น
นอกจากนี้ กกต.ยังเผชิญคำครหาเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกลี่ยคะแนนพรรคเล็ก 25 พรรค ซึ่งมีคะแนนไม่ถึง 7 หมื่นคะแนน เปิดโอกาสให้พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรคหรือไม่
ในอนาคตอันใกล้ หากมีการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดจากการทุจริตที่สมุทรปราการ ไม่เกิน 24 มี.ค. 2563 กกต.ยังต้องคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่อีกรอบ
นั่นจะทำให้กระดานการเมืองผันผวนอีกครั้ง
คลิกอ่านเพิ่มเติม… กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคอนาคตใหม่