ยุบอนาคตใหม่ สะเทือน “ระบอบประยุทธ์” 3 ทางแพร่ง “คดีเงินกู้” ในหลักประหาร

รายงานพิเศษ

เข้าสู่การนับถอยหลังคดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติในวันที่ 21 ก.พ.นี้

จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

เหตุ อนค.กู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191.2 ล้านบาท เข้าข่ายฝ่าฝืนตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่

ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมืองบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

หรือที่คอการเมืองเรียกทั่วไปว่า “คดีเงินกู้ 191 ล้าน”

อนค.ดิ้นเฮือกสุดท้าย

ยิ่ง อนค.นับถอยหลังเข้าสู่หลักประหารทางการเมือง บรรดาแฟนคลับ-นักวิชาการปีกก้าวหน้า พรรคการเมืองที่เป็น “พันธมิตร” ในฝ่ายค้าน อย่างแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน ต่างเคลื่อนไหวคัดค้านการยุบพรรค อนค.

“ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ในฐานะสมาชิกพรรค อนค. เปิดแคมเปญคัดค้านยุบ อนค.ใน Change.org ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากคิกออฟแคมเปญดังกล่าว มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 3 หมื่นราย

อีกด้านหนึ่ง ตัวแทนสมาชิก อนค.ทั่วประเทศหารือกันเมื่อวันที่ 16 ก.พ. มีมติเอกฉันท์จะฟ้อง กกต. เป็นรายบุคคล เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตัดสินยุบพรรค อนค.

อาจเป็นการ “ดิ้นเฮือกสุดท้าย” ก่อนศาลวินิจฉัยหรือไม่ ?

ไทม์ไลน์ 110 ล้าน สู่ 191 ล้าน

แต่เมื่อย้อนไทม์ไลน์สำคัญปมเงินกู้เริ่มต้นจาก “ธนาธร” หัวหน้าพรรค ได้รับเชิญจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในประเด็น “ที่มาและอนาคตของพรรคอนาคตใหม่” ในช่วงค่ำของวันที่ 15 พ.ค. หลังจาก ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ได้ ส.ส. 80 ที่นั่ง

“ธนาธร” กล่าวตอนหนึ่ง “ผมให้พรรคกู้เงิน 110 ล้าน ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ พรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลาสำหรับการหาเสียง อย่างที่ผมบอกไปว่าพรรคเพิ่งมีตัวตนในทางกฎหมายเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถระดมเงินได้ทันการหาเสียงเลือกตั้ง”

ทว่า 5 วันหลังจากนั้น 20 พ.ค. 2562 “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบว่า การ “ปล่อยกู้” เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 66 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่

เนื่องจากรายได้ของพรรคการเมืองตามมาตรา 62 ที่ประกอบกับมาตรา 66 ของกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้บุคคลใด หรือให้พรรคการเมืองใดสามารถกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจกรรมของพรรคการเมืองได้

เมื่อ กกต.รับคำร้องและส่งให้คณะอนุกรรมการไต่สวนไปสอบสวน แล้ว กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ 20 ก.ย. 2562 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) “เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ของ ส.ส.มีชื่อ “ธนาธร” รวมอยู่

ปรากฏว่า “ธนาธร” มีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 5,632,530,266 บาท ในบัญชีมีการแสดงรายการเงินให้กู้ยืม ให้ อนค.กู้ยืมจำนวน 191,200,000 บาท

ถัดไป 3 วัน 23 ก.ย. 2562 “ศรีสุวรรณ” เจ้าเดิมได้ยื่นหนังสือถึง กกต.อีกครั้ง ให้ตรวจสอบการกู้เงิน 191.2 ล้านบาท เพิ่มเติมจาก 110 ล้านบาททำให้ตัวเลขจึงขยับจาก 110 ล้าน เป็น 191.2 ล้านบาท นับแต่นั้น

ตัดสิทธิ กก.บห. สู่ “ยุบพรรค”

ในคำร้องของ “ศรีสุวรรณ” ชี้โทษ “ธนาธร” และ อนค.ว่า เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ขอให้เอาผิดกับนายธนาธร และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเอาผิดนายธนาธรตามมาตรา 66 วรรคสอง ประกอบมาตรา 125 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ชุดใหญ่ สถานการณ์ของ อนค.กลับพลิก 180 องศา โทษที่จำกัดแค่กรรมการบริหารพรรค เปลี่ยนเป็น “ยุบพรรค”

กกต.มีมติ 5 ต่อ 2 เมื่อ 11 พ.ย. 2562 ว่า อนค.กู้ยืมเงินจากนายธนาธร เป็นเงิน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการ “ยุบพรรค”

สื่อหลายสำนักอ้าง “แหล่งข่าว” จาก กกต.ในขณะนั้นว่า ในกฎหมายพรรคการเมือง 2560 อนค.ไม่สามารถกู้เงินได้ จึงตีความว่าเป็นการบริจาคเงินเกินกว่ากฎหมายกำหนด แล้วทำนิติกรรมอำพราง เป็นการกู้ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ต้องการบริจาค แต่กฎหมายกำหนดเพดานเอาไว้ว่า ห้ามบริจาคเกิน 10 ล้านบาทต่อคน/ปี และพรรคการเมืองจึงใช้วิธีทำสัญญากู้ยืมแทน จึงถือเป็น “นิติกรรมอำพราง”

วันอัปยศขององค์กรอิสระ

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. ตั้งคำถามถึงมติ กกต. ให้หลังที่มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยตั้งคำถามว่าเงินที่ได้จากการกู้เงิน เป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตรงไหน เพราะตามมาตรา 72 พรรคการเมืองที่รับเงินผิดกฎหมาย เช่น ซ่องโจร ฟอกเงิน ค้ายาเสพติด เมื่อสำรวจกฎหมายหมดแล้ว ไม่มีมาตราใดที่เอาผิดได้

“เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่งของการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อยากให้ กกต.ออกมาเจอสังคม เจอประชาชน ลองมาฟังดูว่า สังคมมีความเห็นต่อการทำงานของ กกต.อย่างไร”

ลุ้น 3 ทางตัดสินอนาคต อนค.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ก่อนถึงวันที่ 21 ก.พ. 2563 อันเป็นวันชี้ชะตาพรรคส้มหวาน เมื่อคำร้องของ กกต.ระบุตามมาตรา 92 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ผลของคดีนี้สามารถออกได้ 3 ทาง 1.ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง 2.ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค

อย่างไรก็ตาม แกนนำ อนค.บางรายยังมีความหวัง มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยในทางที่ 3 คือ โทษของการกู้เงินเอาผิดได้ถึงเฉพาะกรรมการบริหารพรรค ไม่ถึงยุบพรรค ตามโทษของมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และยึดเงินเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

ยุบ อนค.สะเทือนบิ๊กตู่

“ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์-ความขัดแย้งในการเมืองไทย วิเคราะห์สถานการณ์ หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “ยุบพรรค” อนค.ว่า ความอึดอัดของคนจะมีมาก เพราะในแง่ timing ไม่ค่อยดี เป็นช่วงรัฐบาลกำลังขาลง กระแสนิยมรัฐบาลกำลังตก ปัญหารุมเร้า

“กรณีการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ คนจะไม่อ่านคำตัดสินในแง่ข้อกฎหมาย แต่คนจะอ่านในฐานะความหมายทางการเมืองมากกว่าในเรื่องความไม่แฟร์”

และเป็น “ผลลบ” กับ “รัฐบาลประยุทธ์” มากกว่าผลบวก

“เพราะถ้าหากยุบ อนค. จะเป็นการปลดปล่อยพลังทางการเมืองออกไปสู่อะไรก็ไม่รู้ เพราะการที่เก็บเขาไว้ในสภา ซึ่งการเมืองในสภาเป็นการประนีประนอมรอมชอม ต่อให้ อนค. radical ขนาดไหน เมื่อเข้าสู่สภาแล้วก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ประนีประนอมระดับหนึ่งเสมอ”

“อนค.มีฐานะเป็นพรรคการเมืองในสภาที่มีกฎระเบียบของสภากำหนดอยู่ โหวตก็ยังแพ้ในหลายเรื่อง และรัฐบาลคุมเกมได้มากกว่าเพราะมีเสียงข้างมาก ดังนั้น การเก็บ อนค.ไว้ในสภาเป็นการทอนความรุนแรงของเขาแล้ว”

“แต่ถ้าผลัก อนค.ออกไป เพราะถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคที่เล่นการเมืองในสภาไม่ได้อีกแล้ว ก็ผลักไปอยู่การเมืองนอกสภาโดยปริยาย ซึ่งการเมืองนอกสภาเป็นการเมืองที่คุมไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่เปิด”

“และการปราศรัยนอกสภาไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่มีประธานสภามาโต้ว่าห้ามพูดต่อ เป็นเรื่องของมวลชน”

ยุคเสื่อมระบอบประยุทธ์

“ประจักษ์” สรุปว่า ถ้ามองจากฝั่งรัฐบาลเสี่ยงมากกว่า ในการผลักอนาคตใหม่ไปอยู่การเมืองนอกสภา เพราะจะควบคุมไม่ได้เลย และในอดีตหลายรัฐบาลก็ล่มเพราะการเมืองนอกสภา เช่น รัฐบาลจอมพลถนอม ปิดพื้นที่จนประชาชนรู้สึกเปลี่ยนไม่ได้ในสภา คนก็ทะลักออกไปนอกสภา เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาทมิฬ สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร

“นี่ไม่ใช่ปีแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งช่วงแรกยังมีความนิยมสูง และคนยังเบื่อความขัดแย้ง คนยังกลัว แต่ตอนนี้คนได้ความสงบจนพอแล้ว พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯมา 6 ปี คนรู้สึกว่าความสงบที่เป็นจุดขายก็เริ่มไม่ได้แล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ดีอีก รัฐบาลในโลกนี้มี 2 อย่าง 1.สงบ ปลอดภัย 2.กินอิ่ม ปากท้องดี ถ้าไม่มี 2 อย่างเมื่อไหร่ ก็เป็นจุดเสื่อมของรัฐบาล”

“สมัยเดิมมีการประท้วง มีระบอบทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เป็นเป้า ตอนนี้มีระบอบประยุทธ์แล้ว เพราะอยู่นาน ไม่มีใครรักษาความนิยมได้ตลอดไปในการเมืองไทย คนก็เบื่อ กลายเป็นเป้าของความขัดแย้งเอง เมื่อความนิยมลดลง กองเชียร์ก็น้อยลง กองต้านมากขึ้นตามเวลา”

เหตุ อนค.ไต่เส้นด้าย

“ประจักษ์” วิเคราะห์สาเหตุที่ อนค.เดินทางมาสู่จุดอันตราย เป็นเพราะ…

“อนค.เป็นพรรคที่พยายามมาเปลี่ยนการเมืองไทยอย่างถอนรากถอนโคน เกินกว่าชนชั้นนำไทยจะยอมรับได้ เพดานของชนชั้นนำไทย คือ พรรคเพื่อไทย สิ่งที่ทำประมาณเพื่อไทย แต่ขนาดนั้นยังโดนยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง พรรคแนวทักษิณโชว์ความเป็นพรรคที่บริหารประเทศดีกว่า มีสมรรถภาพ มีวิสัยทัศน์กว่าในด้านเศรษฐกิจ แต่พรรคเพื่อไทยไม่มาแตะด้านโครงสร้างอำนาจ กองทัพ ทุนผูกขาด แต่ประเด็นเหล่านี้อนาคตใหม่มาแตะ เกินเพดานที่ชนชั้นนำไทยยอมรับได้ เช่น แตะเรื่องอำนาจกองทัพ ทุนผูกขาด เปลี่ยนโครงสร้างรัฐไทย”


“กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอิสระ พูดหลายอย่างที่สะเทือนผลประโยชน์ และอภิสิทธิ์ที่ชนชั้นนำไทยเคยได้”