อนาคตใหม่ ไมเนอร์เชนจ์ ขับเคลื่อน 2 คณะ-ลดดีกรีปะทะชนชั้นนำ

รายงานพิเศษ

นับจากนี้เป็นต้นไป ต้องมอง “พรรคอนาคตใหม่” หรือ อนค. แบ่งเป็น 2 พาร์ตหนึ่ง พาร์ต (อดีต) อนาคตใหม่ สอง พาร์ต (อนาคตใหม่) ของอนาคตใหม่

ในพาร์ตอนาคตใหม่-ยุคใหม่ “พรรณิการ์ วานิช” อดีตโฆษกพรรค 1 ใน 16 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี ทวิตข้อความ 1 มี.ค.ว่า

“ตื่นมาเจอ #ช่วย อนค.ตั้งชื่อพรรคใหม่ อะไรกัน 555 ว่า แต่ตอนนี้ชื่อที่ชอบมี พรรคก้าวใหม่ พรรคก้าวหน้า พรรคอนาคต ใครคิดอะไรออกอีกช่วยกันแชร์ค่ะ”

แกนนำ “ตัวหลัก” อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ผันตัวมาเป็นคอนดักเตอร์เบื้องหลังการเกิดใหม่ของ “อนาคตใหม่ พาร์ต 2” ได้ตัดสินใจ “ปิดเกมเร็ว” เปิดตัวพรรคใหม่ไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังถูกยุบพรรค

เบื้องต้นประกาศเปิดตัวพรรคใหม่ 8 มี.ค. แก้พิษ “งูเห่า” ทิ้งพรรครวดเดียว 10 ตัว ทั้งนี้ 9 ตัวแรกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ไม่ถึง 3 วันหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค

และมีข่าวว่าอีก 1 ตัว คือ “สมัคร ป้องวงษ์” ส.ส.สมุทรสาคร จะโยกไปอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคร่วมรัฐบาล

เบ็ดเสร็จ เหลือ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เดิม ที่จะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ทั้งสิ้น 55 คน อันเป็นตัวเลข ณ วันที่ 2 มี.ค.

เซ้งพรรคเก่า สร้างพรรคใหม่

พรรคใหม่-อนาคตใหม่ เวอร์ชั่น 2 แคนดิเดตหัวหน้าพรรคยังเป็นคนเดิม “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าคณะ ส.ส. 55 คน สู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ผ่านมา ได้รับการไว้วางใจจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค เวอร์ชั่น 1 ให้ถือธงนำขับเคลื่อนอุดมการณ์อนาคตใหม่ต่อไป

“พิธา” กล่าวในวันรับมอบเข็มอนาคตใหม่ ว่า “วันนี้เราจะไม่ละทิ้งเสาหลักของบ้าน เราจะถอดบทเรียนก้าวในพาหนะใหม่ที่พวกเราจะไปด้วยกัน ตนคงสัญญากับพี่น้องประชาชนไม่ได้ว่าพวกเราจะไม่ล้มเหลว แต่สัญญาได้ว่าเส้นทางที่จะก้าวไปไม่เป็นเส้นตรง และไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เราไม่มีวันล้มเลิก แม้จะล้มก็ล้มไปข้างหน้า ขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า พวกเราต้องก้าวต่อไป หากพี่น้องประชาชนยังโดนกดทับด้วยความยากจน นั่นจะเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องก้าวต่อไป”

แผนคือ เซ้งพรรคเก่าที่มีการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้แล้ว และนำมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ด้วยการจัดการประชุมใหญ่พรรค เปลี่ยนชื่อพรรค เลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีต้นแบบจากพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ

ชื่อพรรค 1 ใน 3 ชื่อยังถูกเก็บไว้เป็น “ความลับสุดยอด” ป้องกันการ “ถูกดอง” จาก กกต.เหมือนที่พรรคการเมืองที่เคยถูกวางเป็นพรรคสำรอง คือ “พลังอนาคต” จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ

สรุปบทเรียน-ลดโทนก้าวร้าว

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 55 ส.ส. อดีตอนาคตใหม่ที่ยังเหลือ ได้เข้าแคมป์สัมมนาพรรคแบบ “วงปิด” นอกรอบที่ จ.นครนายก พร้อมด้วยอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่ไปกันพร้อมหน้า

นอกจากวาระ “ตั้งชื่อพรรคใหม่ 3 ชื่อ” ให้กับอนาคตใหม่ เวอร์ชั่น 2 ยังมีวาระ “สรุปบทเรียน” ที่เกิดขึ้นกับพาหนะเก่า เพื่อไม่ให้ “พาหนะ” ลำใหม่ต้องแหกโค้งเป็นคำรบสอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อดีตอนาคตใหม่เมื่อครั้งยังมีลมหายใจอยู่บนถนนการเมือง ได้มีมติแหลมคมที่สุดครั้งหนึ่งคือ การลงมติคว่ำ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

แกนนำอนาคตใหม่รายหนึ่ง สรุปบทเรียนในวันนั้นว่า อดีตอนาคตใหม่ประเมินสถานการณ์น้อยเกินไป เพราะต้องการนำสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งใหม่มาติดตั้งในสภา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยจึงทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่เป็นในปัจจุบัน ถ้าเดินแบบเก่า 60 และเดินแบบใหม่ 40 สถานการณ์ของอนาคตใหม่อาจจะดีกว่านี้

ดังนั้น การขับเคลื่อนพรรคใหม่จึงจำเป็นต้อง “ลดโทน” ความแข็งกร้าว ลดการ “ปะทะ” ในเชิงโครงสร้างอำนาจที่สุ่มเสี่ยง อันตราย ลบภาพความก้าวร้าวในสายตาชนชั้นนำลง นี่คือ บทสรุปที่อนาคตใหม่ เวอร์ชั่น 2 ใช้เป็นลายแทงขับเคลื่อนงานด้านในด้านนิติบัญญัติ การตรวจสอบอำนาจรัฐ

อดีตอนาคตใหม่สู้คดีอาญา

ส่วนพาร์ตอดีตอนาคตใหม่ 11 กรรมการบริหารพรรค ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ยุติบทบาทการเป็น ส.ส. ยังต้องเข้าสู่กระบวนการเคลียร์ตัวเองด้านบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายหลังการพ้นตำแหน่ง แถมยังต้องเดินสายสู้คดีการเมืองสารพัดที่เกิดขึ้นระหว่างทางการต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะ 2 คดีสำคัญ อันเป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

หนึ่ง กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า “ธนาธร” ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเข้าข่ายเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) กกต.อยู่ระหว่างพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดำเนินความผิดทางอาญา “ธนาธร” ในกรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

สอง กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 124 ที่กำหนดเอาผิดผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น 5 ปี ประกอบมาตรา 125 หากเงินที่กู้มา 191.2 ล้านบาท ที่ผิดกฎหมายต้องเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

นอกจากนี้ กกต.เล็งดำเนินคดีอาญา เป็นกรณีที่เข้าข่ายผิดมาตรา 132 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีที่มีการนำเงินรายได้ของพรรคที่ได้จากการระดมทุน การรับบริจาค ขายของที่ระลึก ซึ่งกฎหมายกำหนดห้ามนำไปใช้เพื่อการอื่นใด ไปใช้หนี้เงินกู้ให้กับนายธนาธร ซึ่งไม่ใช่เป็นการใช้จ่ายเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ตามมาตรา 87

ดังนั้น แกนนำอดีตอนาคตใหม่อาจต้องวิ่งขึ้นศาลแก้ต่างคดีอาญา สลับกับการเดินหน้าทำมวลชนนอกสภา ภายใต้ “คณะอนาคตใหม่” ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 15 มี.ค.นี้

ต้องมีแนวร่วม อย่าเก่งเฉพาะตัว

“สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้คลุกคลีการเมือง และยังติดตามทุกลมหายใจการเมือง วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “อดีตอนาคตใหม่” และสิ่งที่ “อนาคตใหม่ เวอร์ชั่น 2” จะต้องปรับเปลี่ยน ปรับปรุง

“พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลงานในการอภิปรายไม่ไว้วางใจดีงามตามความคาดหวังของผู้สนับสนุนและศรัทธา แกนนำพรรคต่างทุ่มเทเชิงรุก จึงตั้งเป้าสูง เล็งผลเลิศเพื่อสร้างพรรคให้เติบโต การตั้งเป้าสูงเป็นสิ่งที่พึงกระทำตามแนวทางการบริหารสมัยใหม่แบบ OKRs แต่องค์กรการเมืองไม่ใช่องค์กรธุรกิจ ยิ่งเป็นการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ย่อมซับซ้อนไม่ง่าย และมีปัจจัยหลากหลายที่มีส่วนกำหนด”

“การเรียกร้องประชาธิปไตย อาศัยการขับเคลื่อนโดยพรรคการเมืองเดียว ไม่มีวันสำเร็จ แต่ต้องมีแนวร่วมที่กว้างขวาง และประชาชนจำนวนมากสนับสนุน การสร้างแนวร่วมจึงสำคัญ ต้องมีการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง, มองภาพรวมเป็นหลัก ไม่ชิงดีชิงเด่น แนวร่วมจึงจะมั่นคง ยากที่ใครยุแหย่และทำลาย”

“คนเก่งมีน้อย แต่คนทำงานแนวร่วมเก่ง ยิ่งมีน้อยกว่า เพราะคนทำงานแนวร่วมเก่ง ไม่เพียงเก่งเฉพาะตัว แต่ต้องเก่งในการทำให้ทั้งขบวนเดินไปอย่างประสานสอดคล้อง เป็นเอกภาพ คนทำงานแนวร่วมเก่ง เห็นประโยชน์ของทั้งขบวนมากกว่าประโยชน์ของตนและพรรค”

“ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกร้องการรวมพลังของฝ่ายประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์ของ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่จึงต้องการยุทธศาสตร์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่ายุทธศาสตร์ของพรรค”