ข่าวปล่อย CPTPP “รัชดา” ปัดเป็นเหตุเกาเหลา “จุรินทร์-เฉลิมชัย”

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 63 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ไม่มีวาระพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (19 พ.ค.63) แต่มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหารือนอกรอบหลังการประชุมครม.

เมื่อถามว่าข่าวรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงรอยกันระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎร์ รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรค กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร ฯ และเลขาธิการพรรค น.ส.รัชดากล่าวว่า ไม่มีปัญหา ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันได้ว่าไม่มีปัญหา

“อย่ามองในพรรคเลย ขอชี้แจงในส่วนของรองโฆษกรัฐบาลว่า “ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้มีปัญหา และเข้าใจทั้งสองด้านในข้อกังวลที่ภาคส่วน องค์กรมีข้อกังวล และเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้”

“ที่สำคัญต้องขอย้ำว่า ณ เวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการขออนุมัติจากครม.ให้ไปเจรจา ขอย้ำว่า เพียงแค่เจรจา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการไปรับข้อตกลงใด ๆ เลย”

“สิ่งที่สำคัญที่สุด ในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ถอนไปในครั้งที่แล้ว คือ ต้องทำให้ทุกกลุ่ม ทุกด้านมีความเข้าใจเหมือนกัน อะไรที่เป็นข้อกังวลต้องชี้แจง สิ่งใดที่ต้องไปเจรจาก็ต้องหยิบเป็นประเด็นให้ชัดเจน”

น.ส.รัชดากล่าวว่า 2 เรื่องหลักที่เป็นกังวล คือ เรื่องสิทธิบัตรยา และเรื่องพันธุ์พืช ประเทศอื่นที่ลงนามไปแล้ว เช่น นิวซีแลนด์ เวียดนาม สามารถเขียนข้อสงวนได้ เป็นเรื่องของการทำหน้าที่ของผู้เจรจา

“วันนี้ที่ท่านรองนายกฯ จุรินทร์ ได้ถอนไป เพราะเข้าใจในข้อกังวลของภาคส่วนต่าง ๆ เพราะฉะนั้นต้องพูดคุยกันให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อความสบายใจของคนทั้งประเทศ ไม่ได้มีข้อขัดแย้ง”

เมื่อถามว่า เรื่องนี้เร่งด่วนแค่ไหน น.ส.รัชดากล่าวว่า จะมีการประชุมในเดือนสิงหาคม เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องมีท่าทีว่า จะไปร่วมเจรจาหรือไม่

“แต่ว่าขอย้ำนะคะ ว่า เป็นเพียงแค่ไปเจรจา ถ้าจะไปก็เป็นเพียงการเจรจา ขอย้ำว่า แค่ไปเจรจาเท่านั้น ย้ำ”

เมื่อถามว่า วันนี้ยังไม่มีการนำเข้าครม.เพื่อขออนุมัติไปเจรจา น.ส.รัชดากล่าวว่า ยังค่ะ ๆ

เมื่อถามว่า เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน น.ส.รัชดากล่าวว่า ที่ยังมีข้อกังวลอยู่ จริง ๆ แล้วต้องใช้คำว่า ข้อกังวลดีกว่า เพราะทุกภาคส่วนที่ยังกังวลอยู่ ประเทศที่เขาลงนามไปแล้ว ก็เคยมีข้อกังวลเหมือนกัน แต่เมื่อพอไปเจรจาแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเข้าใจก่อนว่า ไปเจรจาแล้วข้อกังวลนั้นจะหายไป

“อย่างนิวซีแลนด์ เวียดนามก็มีข้อกังวลของคล้ายกับเรา เขาก็ไปเขียนข้อสงวนว่า อย่างเรื่อพันธุ์พืชก็ยังไม่ขอให้ยังไม่มีบังคับใช้ทันที ขอเว้นบังคับใช้ไปก่อน 10 ปี หรือ 15 ปี”

“เพราะฉะนั้น อยากจะให้ประชาชนอย่าเพิ่งกังวล รัฐบาลไม่ไปตอบตกลงอะไรใด ๆ เพียงแต่ว่า กำลังจะพิจารณาว่า จะไปเจรจาเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ส่วนข้อกังวลก็ต้องไปคุยกัน หลักเจรจาถ้าเราไม่ได้ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรา เราก็ไม่รับข้อตกลง”

โดยมีทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องหารือกับกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ เพราะเรื่องหลัก ๆ คือ เรื่องสิทธิบัตรยา และเรื่องพันธุ์พืช

“ผู้ประกอบการและธุรกิจก็มองเห็นประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) หอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย อยากให้ทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่มีข้อกังวลและอธิบายกระบวนการให้เข้าใจ”

ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมด สมมุติไปเจรจาแล้วและได้ผลตอบรับที่น่าพึงพอใจ ฝ่ายที่กังวลไม่กังวลแล้ว สมมุติถ้าไปถึงจุดนั้นจริง ๆ ก่อนจะลงนามก็ต้องเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 เพื่อแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดคุยกับภาคส่วนต่าง ๆ คนที่มีความกังวลใจก็ยังกังวลอยู่ เพราะฉะนั้น ต้องคุยไปเรื่อย ๆ ทุกฝ่ายต้องเปิดใจ สิ่งที่ไปเจรจาต้องเปิดเผย ไม่สามารถหมกเม็ดได้”

เมื่อถามว่า นายกฯ กำชับอะไรเป็นพิเศษ-เร่งด่วนแค่ไหน น.ส.รัชดากล่าวว่า ท่านนายกฯ เข้าใจประชาสังคม แต่ขณะเดียวกับรัฐบาลก็มองเห็นประโยชน์ทางด้านอื่นด้วย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดความสบายใจว่า ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง และข้อกังวลต่าง ๆ เราสามารถป้องกันและจัดการได้

“ท่านรองนายกฯ จุรินทร์ไม่อยากเอาเข้าเพราะว่า ณ จังหวะ สถานการณ์วันนี้ มีโควิด-19 หลายเรื่องไม่ต้องเข้าครม. เราสามารถดำเนินการได้ด้วยการอธิบายให้แต่ละฝ่ายเข้าใจ ไม่ใช่ว่า ไม่เข้าครม.แล้วจบ ข้อกังวลใจก็ต้องรับฟัง อะไรที่อธิบายได้ ซึ่งเรื่องนี้มีเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนมากที่อธิบายเคสตัวอย่าง”

“ต้องขอสรุปว่า รัฐบาลเข้าใจและตระหนักถึงข้อกังวลของภาคประชาสังคม แต่ขณะเดียวกันเราก็มองเห็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP”

“สิ่งที่ดีที่สุด คือ การพูดคุย การเปิดรับฟังทั้งสองฝ่าย”

เมื่อถามว่า ภายในเดือนนี้ต้องเข้าครม. น.ส.รัชดากล่าวว่า “ไม่ได้มีการพูดถึงว่าต้องจบเมื่อไหร่”

เมื่อถามว่า หากตกขบวนในการประชุมเดือนสิงหาคมจะต้องรอไปอีกกี่เดือน น.ส.รัชดากล่าวว่า ถ้าเราเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้ง CPTPP มันก็เป็นสิ่งที่ดี ทั้งนี้ ถ้าเป็นประโยชน์จริง ๆ ทุกฝ่ายเข้าใจดันให้เป็นสมาชิกเร็ว มันก็เกิดประโยชน์เร็ว แต่ถ้าไม่สามารถเจรจาได้ในประเด็นที่เรากังวลก็ยังไม่ต้องรีบ

“หัวใจสำคัญ คือ เจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยให้ได้มากที่สุด โดยยึดหลักกฎหมาย หัวใจไม่ใช่ตกขบวนหรือไม่ตกขบวน”

“หัวใจ คือ สิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศต้องพิจารณาให้รอบคอบ เจรจาให้เกิดประโยชน์กับประเทศให้ได้มากที่สุด”

น.ส.รัชดากล่าวว่า ถ้าดูกระแสขณะนี้ ดูเหมือนคนกำลังเข้าใจว่า เรากำลังจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สบายใจ อยากจะให้เข้าใจว่า ยังมีขั้นตอนอื่น ขณะนี้เป็นเพียงแค่กำลังจะไปเจรจา อะไรที่กังวลก็บอกมา เราจะไปอธิบาย เราจะไปต่อสู้ให้ ถ้าไม่ได้ก็เลื่อนไปก่อน เพราะการจะไปลงนามยังมีกระบวนการของรัฐสภาเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องหมกเม็ดน่าจะคลี่คลายไปได้ เพราะมีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ