วาระใหม่ ‘เพื่อไทย’ เขย่าขวด กก.บห. จับตารื้อดุลอำนาจ ก่อนพรรคแตก-ต่ำร้อย

ไม่ใช่แค่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ชุลมุนทำสงครามปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เคลือบแฝงไว้ด้วยวาระบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องตัดสินใจ “ปรับคณะรัฐมนตรี”

“พรรคเพื่อไทย” ที่ยังไม่ชุลมุนเท่ากับพลังประชารัฐ แต่ก็เริ่มมีเสียง “ปรับสมดุล” ในพรรคดังมาหลายระลอก เมื่อบรรดา ส.ส. ลูกหาบในเพื่อไทย เริ่มรับสภาพ “หัวมังกุท้ายมังกร” ไม่ไหว หากจะคิดกลับมาทวงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่ต้องมีการ “ปรับเปลี่ยน”

เพราะขายุทธศาสตร์พรรคที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม.นั่งในตำแหน่งหัวหอกยุทธศาสตร์ กุมอำนาจใหญ่สุดในพรรค เสียงดังยิ่งกว่าขาข้างหัวหน้าพรรค “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” พ่วงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นเพียง “นิตินัย” แต่มีแบ็กอัพประเภท “พาวเวอร์แบงก์” อย่าง”ภูมิธรรม เวชยชัย” ตามชาร์จ-จ่ายกระแสไฟ กำหนดจังหวะเคลื่อนไหวคล้ายเงาตามตัว แต่พรรคเพื่อไทยในยุค “เจ้าแม่ กทม.” กลายเป็น “พรรคอีเวนต์” ตามสไตล์ เน้นสร้างกระแสฉูดฉาดในโลกออนไลน์ หวือหวาแค่ชั่วข้ามคืน

ในช่วง 1 ปีหลังเลือกตั้ง “คุณหญิงหน่อย” กุมสภาพใหญ่ในพรรค บทบาททางการเมือง-กระแสของเพื่อไทย มักตกเป็นรอง “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” อย่างพรรคอนาคตใหม่ มีการพูดมากในหมู่ ส.ส.ว่า โชคดีที่พรรค “อนาคตใหม่” ถูกยุบ เพราะคู่แข่งในการชิงเรตติ้งทางการเมืองหายไป

อย่างไรก็ตาม การก่อตัวของ CARE อันประกอบด้วยขุนพลไทยรักไทย ข้างกาย “ทักษิณ ชินวัตร” ทั้งนายพงษ์ศักดิ์
รักตพงศ์ไพศาล, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายภูมิธรรม เวชยชัย นั้น ก็มาจากร่องรอยความ “ไม่กินเส้น” กันในพรรค

หลายครั้งที่มีการเรียกนับไพ่ ส.ส.ในมือ เพื่อประลองกำลังอย่างที่เคยเกิดเมื่อค่ำวันที่ 7 ม.ค. 2563 ทั้งบ้านย่านลาดปลาเค้าของฝ่ายเจ๊ และบ้านย่านเหม่งจ๋ายของฝ่ายเฮีย ที่จัดงานปีใหม่เลี้ยง ส.ส.+ทีมงานพร้อมกัน ทำเอา ส.ส. ที่ยังแทงกั๊ก-เหยียบเรือสองแคม ต้องสับราง แยกร่างกันอลหม่าน “หัวค่ำร้องเพลงบ้านเจ๊-ตกดึกร้องเพลงบ้านเฮีย”

เมื่อทางเดินในเพื่อไทยไปต่อลำบาก บวกกับกติกาในรัฐธรรมนูญบีบให้พรรคแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แผนการรวมพลตั้งก่อร่างพรรคใหม่ ลอยแพ เพื่อไทย-สุดารัตน์ จึงบังเกิด “ภูมิธรรม” ที่เป็น “พาวเวอร์แบงก์” นักยุทธศาสตร์ประจำหัวหน้าพรรค

“สมพงษ์” จึงเดินสายให้สัมภาษณ์กับสื่อทุกแขนง เปิดวาระกลุ่ม CARE แต่กระแสข่าวเปิดตัวพรรคใหม่ ปิดฉากจบซีซั่น 1 ตรงที่กลุ่มดังกล่าวยังไม่คิด “ตั้งพรรค” แต่นัดกำหนดวาระเป็นรอบ ๆ สร้างกระแสสังคม ขณะเดียวกัน ก็เกิดปรากฏการณ์ “ชิงอำนาจ” ใน พปชร. ทำให้ข่าวของกลุ่ม CARE จึงถูกฝังกลบเร็วเกินคาด ได้แต่วางไทม์ไลน์เปิดหน้า-เปิดตัวอย่างเร็วคือ พ้นจาก “post COVID” ช่วงท้ายของปีนี้ อย่างช้าคือช่วงคิกออฟ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ทว่า จุดแตกหักอาจเดินทางมาถึงเร็วกว่ากำหนด เพราะในระยะใกล้นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการวิสามัญใหญ่ประจำปีของพรรคตามกฎหมายพรรคการเมือง จึงส่อว่าอาจมีการ “เขย่าขวด” กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ในเพื่อไทยใหม่อีกรอบ ซึ่งนักสังเกตการณ์ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติในพรรคเพื่อไทยต่างจับตา

“ทุกคนโฟกัสที่ปรับใหญ่เพื่อไทย ต้องกลับมาทบทวนให้ดีพอสมควร การตั้งกลุ่ม CARE ของอดีตไทยรักไทย ส.ส.ในพรรค ยังมองไม่ถึงขั้นลอยแพคุณหญิงสุดารัตน์ เพียงแต่เวลานี้ที่คุณหญิงกุมสภาพใหญ่ต้องพบกันครึ่งทาง ควรมีการปรับสัดส่วนใหม่เพราะ กก.บห.ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นทางปีกสุดารัตน์ คนละฝั่งกับทีมหัวหน้าพรรค ดังนั้น จะเดินไปทางไหนก็ติดขัด ยึก ๆ ยัก ๆ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องคิดถึงเรื่องการแตกหัก” แหล่งข่าวระดับยุทธศาสตร์เพื่อไทยกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวในก๊ก ส.ส.อีสานระบุว่า ขณะนี้ 84 ส.ส.อีสานเพื่อไทย เป็นภาคที่มี ส.ส.มากที่สุด แต่จริง ๆ มีบางส่วนเท่านั้นที่ขึ้นตรงกับคุณหญิงสุดารัตน์ กลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มที่ “แทงกั๊ก” อ่านทิศการเมือง แต่ขาข้างหนึ่งค่อนมาทางคุณหญิงสุดารัตน์ กับอีกกลุ่มคืออีสานใต้ที่มี “เกรียง กัลป์ตินันท์” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นทุนใหญ่ เดินการเมืองเป็นเอกเทศ

หากฝ่ายเจ๊ยังต้องรักษาฐานกำลังในพรรค ยังต้องอาศัย ส.ส.อีสานไปเป็นฐานกำลังในพรรคให้มากที่สุด เพิ่มจากขุนพล กทม.เพื่อเป็นแต้มต่อทางการเมือง จึงไม่ส่งลูกน้องเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ กับกลุ่ม ส.ส.อีสานเหมือนช่วงแรก ปรับบทบาท “รอมชอม” มากขึ้น

“พรรคเพื่อไทยควรปรับการทำงานภายในพรรคให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะขณะนี้อยู่ในสภาพต่างคนต่างใหญ่ ไม่รู้ใครเป็นแกนนำตัวจริงในการสั่งการ ควรจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือประธานยุทธศาสตร์ หากเปรียบเทียบการเมืองภายในเพื่อไทย ไม่ต่างกับความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ” แหล่งข่าวสาย ส.ส.อีสานกล่าว

ด้าน “สติธร ธนานิธิโชติ” นักคณิตศาสตร์การเมือง ประจำสถาบันพระปกเกล้า เฝ้ามองความเป็นไปในพรรคเพื่อไทย มองว่าการที่แกนนำไทยรักไทยเก่า ตั้งกลุ่ม CARE ขึ้นมา ในอนาคตอาจเป็นการตั้งเพื่อรองรับคนที่ยังต้องยึดอุดมการณ์เพื่อไทย เสื้อแดง ใครที่ผิดหวังกับท่าทีของคุณหญิงสุดารัตน์ก็ย้ายมาบ้านหลังใหม่ที่รองรับอุดมการณ์เก่า

“กลุ่ม CARE ได้อารมณ์ทิ้งเพื่อไทยสร้างแบรนด์ใหม่อย่างเดียว แต่ไม่ได้ทำให้เพื่อไทยเข้มแข็งขึ้น” สติธรจึงสรุปว่า CARE ไม่ได้เป็นขาใหม่เหมือน “เพื่อไทย” กับ “ไทยรักษาชาติ” แต่แตกออกเพราะ “พรรคแตก”

“สุดท้ายตั้งขึ้นมาก็แชร์เสียงกันเองกับเพื่อไทย แบงก์ร้อย แบงก์พันเหมือนเดิม ไม่ได้เป็นความหวังใหม่ให้คนไม่รู้จะไปไหน ลุงก็ห่วย เพื่อไทยก็เฮงซวย ก้าวไกลก็เท่านั้น ขอมาเชียร์พรรคแคร์ดีกว่า…แต่มันไม่มีอารมณ์นั้น”

ส่วนความสำเร็จ “กลุ่ม CARE จะมีหรือไม่นั้น ก็เกิดแบบ “พรรคกล้า” ของ “กรณ์ จาติกวณิช” เกิดได้แต่แล้วไง…ส.ส.ก็ไม่มีในมือ อย่างมากแค่เปิดตัวหัวหน้าพรรคได้วันหนึ่งแล้วก็จบ ไม่ต่อเนื่อง ถ้าตั้งวันนี้อีก 2-3 ปี เลือกตั้งก็นานเกินในขณะที่ไม่มี ส.ส.ในพรรค

“ขณะที่สูตรแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย สุดท้ายจะกลายเป็นเหรียญบาท ทุกคนมองตลาดของคะแนนเสียงเหมือนกัน จะมีแบงก์สิบ แบงก์ยี่สิบเยอะ มีพรรคกล้า พวกที่อยู่กับพลังประชารัฐ ไม่ไหวก็จะมาตั้งพรรค พรรคสี่กุมาร ก็อาจจะเกิด เพราะทุกคนมองว่าไปอยู่พรรคใหญ่ไม่มีประโยชน์ มาตั้งพรรคใหม่ มี ส.ส. 5-10 ที่ดีกว่าเยอะ ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว ทุกคนหวังโอกาสแบบนี้หมด”

ทางออกสำหรับพรรคเพื่อไทยฝั่ง “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องแตกแค่ 2 พรรค เดินยุทธศาสตร์เดิมเหมือนเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติให้ดี แต่ก็จะไม่ขลังเหมือนเดิมแล้ว เพราะคนที่ได้ประโยชน์จาก พลังประชารัฐ เขารู้สึกสบายใจที่ได้ประโยชน์ ไม่นับแฟนคลับ “ก้าวไกล” ที่เป็นพรรคร่าง 2 ของอนาคตใหม่ ก็คงไม่เลือกพรรคเพื่อไทย

“จริง ๆ ต้องคิดรวมพรรค-สวนโมเดลแตกแบงก์พันเป็นเหรียญบาท ในขณะที่คนอื่นคิดแตกพรรค เราต้องเล่นตลาดใหญ่ แล้วขายแบบพรรคเดียว พอทุกคนแตกหมด”

แต่ทั้งหมดจบที่ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร คนเดียวเท่านั้นจะเล่นต่อหรือไม่ ถ้าปล่อยให้พรรคฟัดกันเอง พรรคก็แตก ยิ่งกระจัดกระจาย เพื่อไทยอาจจะเป็นพรรคต่ำร้อย และยิ่งเป็นฝ่ายค้านสายป่านไม่ยาว อยู่ยาก หากนายใหญ่ไม่จ่าย ปัญหาของเพื่อไทยไม่รู้จะเกาะเกี่ยวได้นานแบบประชาธิปัตย์หรือไม่


ถ้าเกิน 2 สมัยอาจแตกไม่มีชื่อเพื่อไทยแล้วก็ได้ พร้อมที่จะสลาย อยู่ที่นายใหญ่เท่านั้น