พิธา ก้าวไกล จวกรัฐบาลทำงบฯ 64 ใช้เงินไม่เป็น จี้ช่วยคนตกน้ำ 30 ล้านคน

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ตอนหนึ่งว่า นอกจากเป็นปีที่ประชาชนทุกข์แสนสาหัส ยังต้องจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมใช้งบประมาณแผ่นดินครบ 20 ล้านล้านบาท ใช้งบแผ่นดินต่อเนื่องที่สุด น่าแปลกใจ 20 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้น้อยมาก โตขึ้นเพียง 3 ล้านล้านบาท จาก 13 ล้านล้านเป็น 16 ล้านล้าน เป็นมหาประยุทธภัย แม้ถมงบประมาณไปเท่าไหร่ เศรษฐกิจไม่กระเตื้อง ถ้าเราจะแก้แบบเดิมๆ แล้วหวังจะได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ คงเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่เผชิญเป็นมหาวิกฤตที่ล้อมประเทศ มหาวิกฤตที่โลกกำลังปรับตัว บังคับให้ไทยต้องเปลี่ยน แต่น่าเสียดายที่ตลอดสัปดาห์ตนนั่งอ่านงบ 2564 เป็นการจัดงบประมาณเหมือนประเทศไทยไม่มีวิกฤต ไม่ต่างจากงบปี 63 ถ้ายังเป็นแบบเดิม งบ 65 – 66 ก็จะเหมือนเดิม ทั้งที่ เดือน มิ.ย. ก.ค. จะเป็นเดือนสุดท้ายที่ประชาชน เกษตรกร จะได้รับเงินเยียวยาก้อนสุดท้าย รวมถึงกลุ่มคนเปราะบาง เช่นเดียวกับลูกหนี้ 15 ล้านราย จะต้องกลับมาชำระหนี้ในเดือน ก.ย. รวมถึงคนว่างงานกว่า 8 ล้านคน และเด็กจบใหม่ มีประชาชนกว่า 30 ล้านคน กำลังจำจมหายไปต่อหน้าต่อตา โอกาสจะฟื้นยากมาก เป็นความท้าทายอย่างมาก ซึ่งรายจ่ายของงบประมาณจะชี้ชะตาประเทศ โดยมีชีวิตคนเหล่านี้เป็นเดิมพัน

แต่ 8 เดือนที่ผ่านมา เก็บภาษีหลุดเป้าถึง 2 แสนล้านบาท รายได้หลุดเป้าก็ต้องกู้เพิ่ม หากรายรับ 63-64 หลุดเป้าอาจต้องกู้เพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น การใช้จ่ายแต่ละเม็ดต้องคุ้มค่า

“เวลานี้ไม่ใช่เวลาเรือดำน้ำ รถถัง ติดกล้อง ทำสัมนา สร้างถนน แต่เป็นเวลาของวัคซีน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ประเทศชาติจะรอดได้รัฐบาลต้องใช้เงินเป็นหาเงินเป็นและกู้เงินเป็น”

นายพิธา “ทดสอบงบประมาณมูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท” ผ่านสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยงบกระทรวงแรงงาน ลดลงกว่า 3 พันล้านบาท ไม่มีแผนนำคนงานที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ กรมจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ถูกจัดงบประมาณลดลง สำหรับคนที่ใช้บัตรประกันสังคมไม่ได้อีกต่อไป ก็เสียใจด้วยที่เงินอุดหนุนบัตรทองก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์

ถ้าเป็นชาวภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ฝุ่น pm2.5 แผนยุทธศาสตร์จัดการมลพิษ และสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนงบจัดการไฟป่าเพิ่มขึ้น 260 ล้านบาท แต่ตัวชี้วัดไม่ได้เพิ่มขึ้น มีโอกาสที่ชาวภาคเหนืออาจต้องทนทุกข์ทรมานกับปัญหาเดิมๆ หรืออาจแย่กว่าเดิม

ชาวอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปัญหาโควิด แม้งบกรมชลประทานจะได้รับเพิ่มขึ้น 8 พันล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่างบประมาณนั้นจะสะท้อนความรุนแรงวิกฤตภัยแล้งในประเทศ การรวมศูนย์ เน้นเยียวยามากกว่าการป้องกัน

ถ้าเป็นคนภาคใต้ ที่รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปเกือบ 100% ประสบปัญหาราคายางตกต่ำเพราะส่งออกไม่ได้พร้อมกับปัญหาโควิด กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาควรมีแผนงานบูรณาการสะท้อนกับสถานการณ์จริง แต่กลายเป็นว่าเป็นแผนงานกว่า 7 พันล้านบาท กลับเป็นงบสร้างถนน 25% แถมสมมติฐานการท่องเที่ยวจะโตอีก 8% ปีหน้าโตอีก 8%

ดังนั้น งบประมาณประเทศไทยเป็นงบประมาณของข้าราชการไม่ใช่ของประชาชนงบ 3.3 ล้านล้าน ใช้ได้จริงแค่ 1 ล้านล้าน ที่เหลือเป็นงบผูกพันเอาไว้แล้ว งบที่โยกย้ายได้ตามสถานการณ์ น้อยกว่าค่าใช้จ่ายบุคลากรของภาครัฐ สะท้อนว่ารัฐราชการมีความอุ้ยอ้าย และรัฐบาลใช้เงินเป็นหรือไม่เป็น

นายพิธา กล่าวว่า โลกข้างหน้าเป็นโลกที่เราต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด ระเบียบโลกใหม่คือโลกไร้ระเบียบ ไทยต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แทนการกินบุญเก่าจากอุตสาหกรรมเก่าๆ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา รวมถึงหาฐานภาษีใหม่ที่จะเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลที่ถังแตกสร้างเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน รัฐบาลต้องมีความจริงจัง

งบปี 2564 จะต้องช่วยฐานรายได้ใหม่ แต่รัฐบาลลงทุนด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตเพียงเล็กน้อย ประปราย ส่วนใหญ่เป็นโครงการสัมมนา เราอาจต้องหาภาษีใหม่ๆจากยอดปิระมิดทั้งไทยและเทศ เช่น แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศที่โกยเงินไปจากคนไทยโดยไม่เสียภาษี ทบทวนสิทธิประโยชน์ BOI ที่ให้กับต่างชาติ ทบทวนภาษีที่กระทบสิ่งแวดล้อม ภาษีเหมือง ภาษีขยะ ภาษีสารเคมี อาจต้องทบทวนรัฐวิสาหกิจ ว่ายังเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลหรือไม่ กระจายอำนาจสู่การคลังท้องถิ่นหารายได้ เราต้องกระจายอำนาจให้รัฐไทยหาเงินได้เองมากกว่านี้และตอบสนองความต้องการของคนทันท่วงที

ทุกวันนี้ท้องถิ่นเก็บภาษีได้เองเพียง 10% ที่เหลือ 90% รอเงินอุดหนุนจากส่วนกลาง ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดไว้แล้วว่าท้องถิ่นจะต้องทำอะไร อปท.ไม่มีความอิสระที่จะตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ถ้าท้องถิ่นได้เก็บเงินของตัวเองจะพัฒนาท้องถิ่น ถ้าทำให้คนมีส่วนร่วม ประชาธิปไตยแข็งแรงขึ้น คอรัปชั่นน้อยลง

“วิกฤตครั้งนี้เราคาดหวังความช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ได้อีกต่อไป เพราะลำบากกันทุกประเทศ 270 ล้านล้านบาททั่วโลก IMF มีศักยภาพช่วยเหลือ 1 ใน 9 เท่านั้น เราจะหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศไม่ได้อีกต่อไป งบประมาณที่ตนจะเห็นชอบต้องสะท้อนว่ารัฐบาลใช้เงินเป็น หาเงินเป็น กู้เงินเป็น การใช้เงินของรัฐบาลจะต้องเตรียมสวัสดิการโครงข่ายคการคุ้มครองของสังคมให้เพียงพอต่อความเดือดร้อนของประชาชนในมหาวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลต้องใช้จ่ายสร้างอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตไม่ใช่ตัดถนน 2 แสนล้านกว่าบาท”

“การหาเงินให้เป็นต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นหารายได้เองมากขึ้น และหาภาษีจากยอดปิระมิดไม่ใช่คนจากฐานปิระมิด กู้เงินให้เป็นต้องกู้มาสร้างรายได้ให้กับประเทศ ไม่ใช่กู้มาเพื่อแบ่งเค้กกัน กู้แล้วประเทศไม่เกิดรายประเทศก็ไม่น่าเชื่อถือ ดอกเบี้ยจะยิ่งแพง ถ้าหันมาปราบปรามกับคนที่เห็นต่าง กระทบเสถียรภาพ เศรษฐกิจจะยิ่งวิกฤต ดังนั้น งบ 2564 ร่างมาเหมือนประเทศไม่อยู่ในวิกฤต โลกปรับไทยไม่เปลี่ยน จึงไม่สามารถเห็นชอบงบประมาณ 64 ในวาระ 1 ได้” นายพิธา กล่าว