
รายงานพิเศษ
กลายเป็นปรากฏการณ์ฝ่าทั้งกระแสโควิด-19 กระแสปรับเก้าอี้คณะรัฐมนตรี
ภายหลังกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth และสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ประกาศนัดรวมตัวสำแดงพลัง เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์
ตัวเลขจริงของคนวัยหนุ่ม-สาว ที่ออกมาแสดงพลัง มากกว่าตัวเลขที่ฝ่ายความมั่นคงคาดการณ์ ขณะที่สื่อหลายสำนักประเมินตัวเลขตรงกันว่า มีผู้ชุมนุมกว่า 2 พันคน
แม้กลุ่มเยาวชนปลดแอกจะประกาศยุติชุมนุมค้างคืน เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ทว่ากระแสแฟลชม็อบกลับถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ถูกไวรัสโควิด-19 เข้ามา “เบรก” การชุมนุมตามรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
เพราะนิสิต-นักศึกษาหลายสถาบันการศึกษาตามหัวเมืองใหญ่ ประกาศรวมตัวสานต่ออีเวนต์แฟลชม็อบภาคแรก
ผ่านเงื่อนไขถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ข้อ 1.ต้องยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
เป็นเงื่อนไขเดิมจากการชุมนุมแฟลชม็อบที่ถูกหยุดไว้ในรอบแรก ที่มีเงื่อนไขแตกหักมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่
สารพัดปมชนวนม็อบรอบ 2
เลาะตะเข็บ-ปัจจัยที่นำมาสู่การจุดชนวนแฟลชม็อบรอบ 2 นั้น อาจกล่าวได้ว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งคุม ทั้งป้องปรามไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เปรียบเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว
เพราะนอกจากจะป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่ระบาด ยังป้องกันไม่ให้การชุมนุมของนักศึกษา นิสิต กลับมารวมตัวได้โดยง่าย เพราะมีเงื่อนไขหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงนำมาใช้ คือ ข้อหาการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ดังตัวอย่าง เคสที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2563 แกนนำ สนท.นัดเคลื่อนไหว “อารยะขัดขืน” หน้า สน.ปทุมวัน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ภายหลังจัดกิจกรรม “ทวงความยุติธรรมให้กับผู้ถูกอุ้มหาย” โดยในกิจกรรม “อารยะขัดขืน” แกนนำ สนท. นำโดย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ได้ “ฉีกหมายเรียก” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อหน้าสื่อมวลชน
เป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการที่ “นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถูกบุคคลนิรนามจับตัวไปที่ประเทศกัมพูชา เมื่อ 5 มิถุนายน สนท.จึงนัดรวมตัวที่หน้าหอศิลป์ กทม. ก่อนถูกหมายเรียก
ขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 อันเป็นวันครบรอบ 88 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในวันดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมมากมาย
และในเย็นวันนั้น สนท.นำโดย “เพนกวิน” กับกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth ได้ทำกิจกรรมรำลึก 88 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน และอ่านประกาศคณะราษฎร พร้อมย้ำถ้อยคำ
ในประกาศคณะราษฎร ที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร” และถูก สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียกเป็นใบที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า
“ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย”
ยังไม่รวมถึงกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม สนท. ที่มีจัดอีเวนต์กันเนือง ๆ ในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย ปมวุ่น ๆ ในจังหวัดระยอง และใจกลางกรุงเทพฯ จากการที่ปล่อยให้แขก V.I.P. เดินทางเข้าประเทศ โดยไม่ได้ถูกกักตัวใน state quarantine เหมือนชาวบ้านร้านถิ่น คนไทยทั่วไปที่เดินทางเข้าราชอาณาจักร จนรัฐบาล+ศบค. ถูกวิจารณ์ว่า “การ์ดตก” พล.อ.ประยุทธ์ ถึงขั้นต้อง “ขอโทษ”
- ‘บอส อยู่วิทยา’ ทายาทกระทิงแดง หลุดคดีขับรถชนตำรวจตาย
- “พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา” เข้าทำงานวันแรก หลัง นายกฯ เซ็นกลับ สตช.
การเมืองแบบ Old Normal
ผสมกับหลังโควิด-19 เริ่มหยุดชะงักการเมืองแบบ old normal การแย่งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเหมือนเก้าอี้ดนตรี กลับมาอีกครั้ง หลังการสละเรือของกลุ่ม 4 กุมารจากคณะรัฐมนตรี การลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของ “เทวัญ ลิปตพัลลภ” พรรคชาติพัฒนา
และการลาออกจากหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล นำมาสู่ใบเบิกทาง การ “ปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2” บนเผือกร้อนการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจระดับ 100 ปี
ทั้งม็อบนักศึกษา ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ขมวดปมเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล
แก้เศรษฐกิจเหลว ตัวเร่งม็อบ
“สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สถานการณ์ร้อน ๆ ว่า แฟลชม็อบรอบแรกของนักศึกษาถูกพักโดยโควิด แต่เป็นการพักเชิง “กายภาพ” แต่ความรู้สึก ความไม่พอใจยังอยู่ ผ่าน 3 ข้อเรียกร้อง ยุบสภา->แก้รัฐธรรมนูญ-หยุดคุกคาม
“แต่ผสมผสานกัน กิจกรรมที่รายล้อมคือการถูกคุกคาม การแก้รัฐธรรมนูญ การยุบสภา เหตุการณ์ที่ระยองไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย แต่ประกอบกัน ในโซเชียลมีเดียมีความไม่พอใจตลอด”
เขาวิเคราะห์ต่อว่า ม็อบนักศึกษาในขณะนี้จุดติดตั้งแต่รอบแรกแล้ว และครั้งนี้ก็ติดแล้วเหมือนเดิม และก็น่าจะเป็นการเริ่มต้น เพื่อจะลุกลามต่อ
“และรอบนี้เปิดเทอมเรียนออนไลน์ เรียนที่ม็อบก็ได้” สติธรระบุ
แต่จะทำให้เกิดการยุบสภาก่อนกำหนดหรือไม่นั้น สติธรบอกว่า ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบ ต้องดูว่ารัฐบาลรับมือกับสถานการณ์ได้หรือไม่ ท่าทีการรับมือเคลื่อนไหว เช่น การนิ่งดูดาย เยาะเย้ยก็จะส่งผลต่อการทำให้ม็อบจุดติดยิ่งขึ้น
ดังนั้น ท่าทีของรัฐบาลต้องระมัดระวัง เพราะมีผลต่อความเคลื่อนไหว ต่อไปจะลุกลามบานปลายไปสู่จุดไหน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองก็สำคัญ
“ถ้ารัฐบาลแก้เศรษฐกิจไม่ได้ก็จะเป็นตัวเร่งแน่นอน คนที่เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของแฟลชม็อบก็จะมาเข้าร่วม”
พ.ร.ก.ฉุกเฉินเสื่อมมนต์ขลัง
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เคยเป็น เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์เอฟเฟ็กต์ของ “แฟลชม็อบ” ภาค 2 เขย่ารัฐบาลได้หรือไม่
“พล.ท.ภราดร” กล่าวอย่างน่าสนใจว่า การที่ม็อบนิสิต นักศึกษา จุดติดขึ้นมา มันทำให้คนที่เหลืออดกับรัฐบาล โดยเฉพาะคนที่เดือดร้อนด้านเศรษฐกิจ จะออกมาร่วมการเคลื่อนไหว เพราะขณะนี้ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีการเพิ่มขึ้นในประเทศ มีเพียงอยู่ใน state quarantine หากรัฐบาลต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คนก็จะไม่กลัว
พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็จะเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง บวกกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหา ทั้งที่การปรับ ครม.ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังทรุดแบบนี้ ถ้านายกฯมีความเป็นผู้นำ น่าจะจัดการปัญหาจบไม่เกิน 7 วัน เพราะเป็นโควตาในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการปรับ ครม.ในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อีก
“มูลเหตุเล็ก ๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นมา น่าจะมาจากรัฐบาลหาคนมาเป็นรัฐมนตรีสายเศรษฐกิจ แทน 4 กุมารไม่ได้ เพราะคนที่จะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจใน ครม.ประยุทธ์ 2/2 แต่ละคนก็เห็นแล้วว่า นอกจากจะต้องแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่ยากลำบากและไม่สามารถควบคุมอะไรได้เบ็ดเสร็จแล้ว ยังจะต้องเจอปัจจัยม็อบที่ควบคุมไม่ได้อีก ทุกอย่างไม่มีอะไรนิ่ง เพราะม็อบนักศึกษาจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่ไม่พอใจรัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ เข้ามาสมทบ” พล.ท.ภราดรวิเคราะห์ปัญหาภาพใหญ่
ผู้ปกครองต้องใจกว้าง
ด้าน “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะที่เคยเป็นแกนนำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยไม้สุดท้าย ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทั้งยังเป็นผู้นำม็อบและนักการเมือง มองว่า “ผู้ปกครองจะต้องใจกว้าง จะต้องมีความอดทนให้ถึงที่สุด”
“ข้อเรียกร้องของบรรดาคนหนุ่มสาว 3 ข้อนั้น ก็ต้องยึดกุมให้แข็งแรง และที่สำคัญ ต้องไม่เลยไปกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือไปก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะทำให้เป็นจุดอ่อนโดยฉับพลัน ดังนั้น กลุ่มนิสิตนักศึกษาต้องยึด 3 ข้อเรียกร้องให้มั่น เพราะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เชื่อว่าสถานการณ์จะสามารถเดินได้ตามปกติ แต่ถ้าเลยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อาจมีจุดจบไม่ต่างกับ6 ตุลา 2519 เพราะประชาชน รวมถึงกลไกรัฐจะไม่ยินยอม”
“แต่ถ้ากลุ่มนิสิต นักศึกษา ยึดหลัก 3 ข้อให้มั่นคง ในภาวการณ์ของประเทศที่คนไร้ทางออกนั้น รัฐต้องยอมรับความเป็นจริงว่า คนไทยอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก การเยียวยาไม่ครบถ้วน อีกทั้งการเยียวยาเท่านั้นไม่สามารถดำรงชีพได้ตลอดไป เหล่านี้ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าความเดือดร้อนดังกล่าวนั้นคนจะไหลไปรวมกับนักศึกษาโดยอัตโนมัติ”
ส่วนข้อเรียกร้องของแฟลชม็อบภาค 2 ให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์นั้น จตุพรมองต่างว่า ผู้มีอำนาจต้องใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นด้วยจิตใจเป็นธรรม เพราะการยุบสภาโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องเลือกตั้งภายในกติกาเดิม ปัญหายังไม่ถูกแก้เหมือนเดิม ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วค่อยยุบสภา
“เวลาทางการเมืองยังมี” จตุพรกล่าวปิดท้ายถึงรัฐบาล