“ประยุทธ์” หักโผรัฐมนตรี พปชร. กู้วิกฤตศรัทธา รัฐบาลเรือเหล็ก ปีที่ 2

การก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มไปด้วยวาระเดือดทางเศรษฐกิจ-การเมือง เมื่อการปรับคณะรัฐมนตรียังอยู่ในจุดฝุ่นตลบ เมื่อที่ประชุมพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทุบโต๊ะยื่นโผ ครม.ของพรรค ส่งตรงไปยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ใครสมหวัง-ผิดหวัง จะนัดก่อหวอดสร้างคลื่นใต้น้ำในอนาคตหรือไม่ ชื่อ-ตัวบุคคลที่จะมาเป็นตัวตายตัวแทน
ทีมเศรษฐกิจ 4 กุมาร จะได้รับการยอมรับ-คำชม หรือเสียงยี้ เสียงต้าน

แต่ที่แน่ ๆ การยื้อแย่ง “กระทรวงพลังงาน” ที่สังคมเริ่มตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดทำไมจึงยื้อแย่งเก้าอี้ที่มีงบประมาณปี 2564 แค่ 2,390.7 ล้านบาท ถือเป็นกระทรวงที่ได้งบฯน้อยยิ่งกว่าน้อย แต่อาจแฝงด้วยสัมปทานพลังงานที่มีมูลค่ามหาศาล

แผน 2 โรเตชั่นรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์มีรายชื่อไว้เป็นตัวหลัก-ตัวเลือกหลายคน เพราะมีว่าที่รัฐมนตรีบางรายยังมีชนักคดีติดตัวอยู่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเตรียมคนในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไว้ rotation (หมุน) ผู้เล่น เพื่อให้ผู้เล่นตัวจริง-ผู้เล่นตัวสำรองได้พัก อาทิ นายปิติ ตัณฑเกษม กรรมการธนาคารทหารไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย

และ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพลังงาน เป็นอดีตประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กรรมการ บริษัท PTTGC International Private Limited

แม้กระทั่ง นายบุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตซีอีโอธนาคารทหารไทย ซึ่งขณะนี้เป็นบอร์ดการบินไทย ชุดกู้วิกฤตการบินไทยในศาลล้มละลาย ก็ยังมีตัวเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ rotation

บิ๊กตู่หักโผ “พลังประชารัฐ”

แต่ปรากฏว่า 24 ชั่วโมง หลังพรรคพลังประชารัฐเคาะโผคณะรัฐมนตรี ให้นายกฯเลือก ปรากฏว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เลือกคนในโควตากลางของนายกฯ และโควตาพรรค ดังนี้

โควตากลางของ “พล.อ.ประยุทธ์” คือ นายปรีดี ดาวฉาย เป็น รมว.การคลัง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็น รมว.พลังงาน

โควตาพรรคพลังประชารัฐ คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.อุตสาหกรรม ยังอยู่ที่เดิม พลาดหวังเก้าอี้กระทรวงพลังงาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ลูกหาบพรรคพลังประชารัฐต่างออกมาตีปี๊บสนับสนุน

นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็ผิดโผพลังประชารัฐ เพราะในโผที่ส่งไปถึงมือ “พล.อ.ประยุทธ์” ถูกวางเป็น รมว.อุตสาหกรรม

นายสุชาติ ชมกลิ่น ได้รับการต่อรองให้เป็น รมว.แรงงาน และโควตากับพรรคของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ให้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็น รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ส่วน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หลังชวดทุกเก้าอี้รัฐมนตรี แต่มีแรงผลักจากค่ายบิ๊กป้อมนาทีสุดท้ายได้กลับเข้าสู่โผเป็น รมช.แรงงาน

รัฐบาลเจอวิกฤตในบ้านตัวเอง

ดังนั้น การขึ้นปีที่ 2 ของ “พล.อ.ประยุทธ์”จึงมีแต่เรื่องท้าทาย การปรับ ครม.มีทั้งคนสมหวัง-ผิดหวัง จะอยู่ได้นานแค่ไหนทั้งการบริหาร การเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล276 เสียง เหมือนเป็นเอกภาพพ้นน้ำ แต่ก็ไม่อาจประมาทสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนได้

“สุรชาติ บำรุงสุข” นักรัฐศาสตร์ ด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวรัฐบาลทหารมาทุกยุค กล่าวถึงการขึ้นปีที่ 2 ของรัฐบาลประยุทธ์ว่า

ปีที่ 2 เกือบทุกรัฐบาลจะเผชิญปัญหาที่มากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลที่ไม่ประสบความสำเร็จในปีที่ 1 ปัญหาจะเพิ่มมากขึ้นในปีที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

แต่ปีที่ 2 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เผชิญโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดคือ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผลการบริหารจัดการที่หลายฝ่ายอาจรู้สึกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยน้อยลง เริ่มไม่รุนแรงมีแต่คนไทยที่กลับจากต่างประเทศที่ติดเชื้อ

แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าคือ ความชัดเจนและไม่เห็นทิศทางว่าจะไปต่ออย่างไรคือ ทิศทางการบริหารประเทศไทยหลังโควิด-19 เมื่อ 1 กรกฎาคม หลังโรงเรียนเปิดภาคเรียน ถือว่าเราเข้าสู่ช่วงหลังโควิด-19 แล้ว ไม่ว่าจะมีวัคซีนหรือไม่ เพราะเริ่มเห็นการใช้ชีวิตที่กลับมาสู่ความเป็นปกติ สิ่งที่ต้องการอย่างมากจากภาครัฐ ด้านหนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจ และด้านประชาชนทั่วไปที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

“วันนี้การปรับ ครม.ที่ควรจะเกิดขึ้นและเกิดขึ้นเร็ว แต่เห็นความละล้าละลังที่ยังไม่มีความชัดเจน เมื่อไม่มีความชัดเจนก็ยิ่งสะท้อนความเป็นวิกฤตของรัฐบาลประยุทธ์ในตัวเองอยู่ เพราะรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมจะมีวิกฤตการปรับ ครม.ของตนเองอยู่เสมอ แต่คราวนี้ปัญหาวิกฤตกลับอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคของตัวเอง

แปลว่าวันนี้รัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤตการเมืองที่มาจากปัญหาในบ้านตัวเอง เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากปัญหาโควิด-19 เผชิญกับปัญหาการตกงานของคนเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาชัดเจน”

“นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตธรรมชาติคือ ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้บางส่วน ซึ่งยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน การปรับ ครม.จะเกิดหรือไม่เกิดหรือเกิดในแบบไหน แต่สิ่งที่เห็นคือ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลหมดไปเรื่อย ๆ และคิดว่ารัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤตอีกชุดคือ วิกฤตศรัทธาในตัวเอง”

“แต่สิ่งที่เห็นคือ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลหมดไปเรื่อย ๆ และคิดว่ารัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาในตัวเอง”

การปรับ ครม.เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางส่วน แต่บทเรียนการเมืองไทยนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพราะคนที่ได้ตำแหน่งมีจำนวนน้อย และมีคนที่เสียตำแหน่งบวกคนที่ไม่ได้ตำแหน่ง ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตในตัวรัฐบาลเองเสมอ สิ่งที่น่าคิดต่อคือ การปรับ ครม.ชุดนี้สุดท้ายจะเป็นวิกฤตของตัวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

เพราะหลายคนมักจะคาดหวังว่าการปรับ ครม.จะพยุงรัฐบาลให้เดินต่อไป แต่ก็ต้องคิดว่าหากการปรับ ครม.กลายเป็นวิกฤต นั่นหมายความว่าการปรับ ครม.จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลถดถอย

ฝ่ายนิติบัญญัติมีรอยร้าว

และเราต้องดูการวอล์กเอาต์ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในสาย ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ที่เราเริ่มเห็นรอยแตกในกรณีของพรรคร่วมรัฐบาล คือภาวะปกติของรัฐบาลผสม ซึ่งโจทย์นี้เป็นโจทย์สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำทหาร

“เพราะผู้นำทหารไม่มีความคุ้นเคยกับการบริหารรัฐบาลที่มีลักษณะเป็นรัฐบาลผสมแล้วไม่สามารถคุมได้บทเรียนในอดีตของ จอมพลถนอม กิตติขจรคือการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจตนเอง หวังว่ารัฐบาลไม่ทำอย่างนั้น”

ปราบม็อบ น.ศ.น้ำผึ้งหยดเดียว

“สุรชาติ” ยังมองการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาว่า ถ้าจัดการไม่ดีอาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

แฟลชม็อบรอบ 2 ความชัดเจนที่เห็นคือ ขยายออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่พื้นที่ภายนอก ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก หวังอย่างเดียวว่ารัฐบาลสามารถจัดการวิกฤตชุดนี้ได้จริง ๆ แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินใจใช้ความรุนแรงสลายม็อบด้วยความเชื่อเหมือนกับเหตุการณ์ปี 2553 ก็จะยิ่งทำให้วิกฤตบานปลาย หรือรัฐบาลตัดสินใจจับกุมโดยใช้อำนาจกฎหมายของตำรวจ วิกฤตก็จะบานปลายไม่ต่างกัน

“เมื่อไหร่ที่การจับกุมเริ่มต้นขึ้น นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียวไม่ต่างกับกรณี 14 ตุลาฯ 2516”

ถามว่าทางเลือกของรัฐบาลในการจัดการปัญหาม็อบนักศึกษาคืออะไร “สุรชาติ” ตอบว่า ในปัญหาม็อบรัฐบาลคงต้องยอมรับว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาคือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ารัฐธรรมนูญชุดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้รัฐบาลทหารสามารถดำรงอยู่ต่อได้

และรัฐธรรมนูญกลายเป็นต้นทางวิกฤตปัญหาทางการเมืองไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองไทย ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แล้วอาจจะต้องยุติบทบาทของ ส.ว.ที่ทำหน้าที่เป็นไม้ค้ำยันรัฐบาล

เสี่ยงวิกฤตศรัทธา

“ส่วนองค์กรอิสระถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ องค์กรอิสระไม่มีความหมาย เป็นเพียงองค์กรที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผู้นำทหารให้นายมีชัยร่างขึ้น ผลพวงรัฐธรรมนูญกลายเป็นสร้างวิกฤตมากกว่าแก้ปัญหาการเมืองไทย”

ถ้ารัฐบาลเปิดใจแก้รัฐธรรมนูญ จะต่อเวลาให้รัฐบาลอยู่ยาวหรือไม่

“สุรชาติ” วิเคราะห์ว่า ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลมองเห็นอนาคตของตัวเองแค่ไหน ถ้าเชื่อว่ามี ส.ว. 250 เป็นไม้ค้ำยันและมีเสียงข้างมากในสภาล่าง แต่ต้องตระหนักว่าเสียงพรรคร่วมรัฐบาลในสภาล่างอาจไม่มั่นคงเหมือนเดิม หลังจากเห็น กมธ.

งบประมาณล่ม พร้อมกับต้องดูการปรับ ครม.ครั้งนี้ ตัวบุคคลจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ หรือยิ่งทำให้สังคมรู้สึกว่ารัฐบาลเดินต่อไม่ได้แล้วเพราะประชาชนไม่มีความน่าเชื่อถือและความศรัทธาของรัฐบาล

โดยเฉพาะการยื้อ-แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรค แค่กระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง “สุรชาติ” เชื่อว่า วิกฤตศรัทธาจะเป็นจุดตายของรัฐบาลที่เกิดจากการหาตัวบุคคลที่ไม่เหมาะสมมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรี