“ก้าวหน้า” ปักธงสร้างขุนศึกท้องถิ่น “พปชร.-พท.-ภท.” ย่องตามขบวน

ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นดูเหมือนใกล้ แต่ยังอีกไกล เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้มีอำนาจสูงสุดกล่าวว่า

“การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังไม่ทราบวันชัดเจน เนื่องจากต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมา แต่น่าจะมีในปีนี้ิ ส่วนจะเป็นพื้นที่ไหนบ้าง ส่วนตัวจะตัดสินใจเอง” และแม้ว่า กกต.จะแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เสร็จครบแล้วทั้ง 77 จังหวัด

ทว่า การคิกออฟฤดูเลือกตั้งท้องถิ่นวัน ว. เวลา น. จึงขึ้นอยู่กับ “พล.อ.ประยุทธ์”จะเคาะเป็นด่านสุดท้าย

แต่หากวัดดีกรีความพร้อมของพรรคการเมืองที่จะส่งตัวแทนลงเลือกตั้งสนามท้องถิ่น พรรคที่ใกล้ชิด-อินไซด์ที่สุดอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อาจบอก “ทิศทาง” การเลือกตั้งท้องถิ่นว่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด กลับยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

“วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลบอกว่า ยังไม่มีการพูดคุยในพรรค สอดคล้องกับ “อนุชา นาคาศัย” เลขาธิการพรรค ก็บอกตรงกันว่า ยังไม่ได้พูดคุยเรื่องนี้ในพรรค ดูเหมือนว่าในพรรคพลังประชารัฐกำลังยุ่ง ๆ กับเกมปรับ ครม.มากกว่าเลือกตั้งท้องถิ่น

ขณะที่พรรคใหญ่ฝ่ายค้าน-เพื่อไทยแอ็กชั่นที่ชัดเจนที่สุดมาจาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่ประกาศรับสมัครคนลงเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ-และสภาเขต กทม. เนื่องจากเธอเป็น “เจ้าแม่ กทม.” แต่ในภาพรวมทั้งประเทศนั้น “คุณหญิงสุดารัตน์” ตอบว่ายังไม่รู้ ต้องถาม “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรค ในฐานะผู้ตัดสินใจ

ระหว่างการประชุมพรรคเพื่อไทย “อดิศร เพียงเกษ” โฆษกผู้นำฝ่ายค้าน ลุกขึ้นถามถึงความชัดเจนเรื่องการส่งคนลงเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะไปไหนมีแต่ “คนมาถามแล้วตอบไม่ได้”

“สมพงษ์” ตอบว่า “เราเตรียมตัวเยอะมากมายก่ายกอง แต่ถ้าถามว่าจะต้องส่งคนโน้นคนนี้ยังตอบไม่ได้ เอาเป็นว่าถ้าจะส่งพรรคต้องแถลงการณ์อย่างเด็ดขาด จะเป็น อบต. อบจ. เพื่อไทยเราพร้อม ยินดีที่จะต่อสู้เชิงประชาธิปไตยในสนามเลือกตั้ง”

เบื้องต้นพรรคตั้ง “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” อดีตหัวหน้าพรรค เป็น “หัวหน้าชุด” หาคนลงเลือกตั้งท้องถิ่น

แต่กลุ่มที่ออกตัวแรงที่สุดคือ “คณะก้าวหน้า” ของอดีตแกนนำอนาคตใหม่เดิม ทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล จัดโรดโชว์ขายความคิดทั่วทุกภาค เพื่อหาคนลงเลือกตั้งท้องถิ่นของกลุ่ม

“ชำนาญ จันทร์เรือง” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่รับผิดชอบเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นระบุว่า ตอนนี้เปิดรับสมัครผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ในนามคณะก้าวหน้าผ่านทางออนไลน์เท่านั้น เพราะต้องการความทันสมัย ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควร

คุณสมบัติคณะก้าวหน้ามาจากรากเดิมคือ อนาคตใหม่ คือศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย เดินตามแนวการเมืองใหม่ ไม่ซื้อสิทธิขายเสียงโดยเด็ดขาด ไม่มีลักษณะผู้มีอิทธิพล เป็นเจ้าพ่อ ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะไม่อยู่ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ต้องนำเสนอนโยบายเพราะเราลงพื้นที่มาตลอด รู้ว่า อปท.มีปัญหา เช่น ความโปร่งใส การขนส่งสาธารณะ การศึกษา สิ่งแวดล้อม open government ปัญหาที่เขามีอยู่ในพื้นที่ก็เสนอมาได้

คณะก้าวหน้า เตรียมชื่อที่จะใช้รณรงค์ “คณะก้าวหน้า” ต่อด้วย อปท.นั้น ๆ ในการหาเสียง เช่น คณะก้าวหน้าเชียงใหม่ คณะก้าวหน้าอมก๋อย “เราจะให้แบรนด์คณะก้าวหน้าไปทั่วประเทศ เพราะ อปท.มีทุกตารางนิ้วของประเทศไทย” ชำนาญกล่าว

ส่วนสนามท้องถิ่น กทม. คณะก้าวหน้า ปล่อยมือให้ “ก้าวไกล” เป็นฝ่ายจัดการเดินเกมแบ่งพื้นที่กันเล่นชัดเจน

ขณะที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกว่า มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในการสรรหา การปักธงส่งคนลงสมัครจะเดินตามยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของเรา ดูข้อมูลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การทำโพลเพื่อให้เลือกได้ถูกต้องว่าจะปักธงที่ไหน สเป็กของคนที่จะมาลงสมัครในนามก้าวไกลต้องเป็นคนที่มีหัวก้าวหน้า พร้อมที่จะทำการเปลี่ยนแปลง เข้าใจปัญหาประชาชน กทม.เป็นอย่างดี ตั้งใจทำงาน มีนโยบายที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ก็ต้องว่ากันตามยุทธศาสตร์ คณะกรรมการกำลังทำงานกันอยู่ว่าจังหวัดไหนมีความพร้อมก็จะทำตามขั้นตอนของพรรค

“ด้วยหลักการทำให้เรารู้สึกว่า กทม.เป็นที่แรกที่เป็นศูนย์กลางของประเทศไทย มีการกระจายอำนาจเป็นจังหวัดแรก ๆ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกปี 2518 แต่ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯยังไม่มีอำนาจในการตอบสนองคนกรุงเทพฯได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ จึงคิดว่าการที่เราจะเขย่า ส.ก. ส.ข. และผู้ว่าฯ น่าจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในระดับประเทศและระดับการปกครองในหลายมิติ”

ฟากประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกเพียงว่า มีการกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ทั้งหมด ทั้ง กทม. ภาคใต้ ส่วนภาคอีสานจะมีการลงพื้นที่ รวมถึงภาคเหนือด้วย โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่ไว้เกือบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของทุกภาคแล้วว่าใครจะเป็นผู้สมัคร

ขณะที่ “ภูมิใจไทย” แน่นอนว่าต้องการปักหมุดท้องถิ่นในพื้นที่อีสาน และจะขยายอาณาเขตมาสู่ภาคใต้ เตรียมคนลง อบจ.ทั้งในจังหวัดระนอง สตูล พัทลุง อาจรวมถึงปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่การเมืองใหม่ของ “ภูมิใจไทย” โดยมีตระกูล “รัชกิจประการ” เป็นกำลังหลัก

นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาภูมิใจไทยทำหนังสือสอบถามถึง กกต.ในระหว่างที่ตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นยังไม่ว่างลง และยังไม่มีประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นผู้ที่ประสงค์แสดงตนว่าจะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้จะสามารถหาเสียง เช่น ขึ้นป้ายแนะนำตัว จัดเวทีปราศรัย แจกแผ่นพับ แนะนำตัวว่าตนจะสมัครรับเลือกตั้ง จะสามารถกระทำได้หรือไม่อย่างไร

กกต.ตอบว่า สามารถดำเนินการได้เท่าที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่

พรรคการเมืองเริ่มขยับปมเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ยังไม่ใช่ขยับใหญ่ ยังรอความชัดเจนจากผู้มีอำนาจ