แก้รัฐธรรมนูญ ถอนฟืนจากม็อบ ซ้อนแผนลาก 6 ขั้นตอน รื้อรายมาตรา

รายงานพิเศษ

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแฟลชม็อบนิสิต นักศึกษา คือต้องการให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้นตอของการ “สืบทอดอำนาจ” เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” คัมแบ็กกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนอกจากมีขุมกำลังสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ที่มาจากการแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลยกมือโหวตเห็นชอบแบบ “ไม่แตกแถว” ยังเป็นต้นทางของระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่เสกให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เก็บแต้ม “คะแนนตกน้ำ” ได้เป็นกอบเป็นกำ แม้ไม่เป็นพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับ 1 แต่ก็มีคะแนนพ็อปพูลาร์โหวตเป็นอันดับ 1 ถูกนำมา “ตีความการเมือง” ให้เป็น “แกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม” 20 พรรค

เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นชนวนปัญหาทางการเมือง รัฐบาลไฟเขียวให้ฝ่ายนิติบัญญัติคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวบรวมนักการเมืองซีกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน เข้ามาหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มานั่งคุมเกม ในฐานะประธาน แต่บังเอิญว่าติดไวรัสโควิด-19 ทำให้การศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญถูกลากยาวออกไป

ทว่า การชุมนุมแฟลชม็อบ “แฮมทาโร่” ได้เร่งเกมให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจการแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ต่อไปนี้คือความคืบหน้าของการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในชั้น กมธ.

3 โมเดลแก้รัฐธรรมนูญ

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองประธานกมธ.คนที่ 1 เป็นหัวหอกศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ฉายภาพข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ 3 โมเดล

โมเดลที่ 1 รื้อทั้งฉบับ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แนวทางนี้ต้องทำประชามติถึง 4 รอบ ใช้เงินครั้งละ 3 พันล้าน รวม 12,000 ล้านบาทครั้งแรก ต้องทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันไว้ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถามประชาชนในฐานะเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อน ครั้งที่สอง เข้าสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติ เพื่อเปิดช่องให้มี ส.ส.ร.ครั้งที่สาม อาจจะต้องมีการเลือก ส.ส.ร.จากทั่วประเทศ ใช้งบ 3 พันล้าน ครั้งที่สี่ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จต้องไปทำประชามติรอบสุดท้าย “ใช้เงินมากขนาดนั้นอาจไม่มีความคุ้มค่า และอาจไม่ผ่านการทำประชามติ การให้มี ส.ส.ร.อาจมีความสุดโต่งเกินไป”

โมเดลที่ 2 แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยเป็นความเห็นของ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งการทำประชามติ ใช้งบฯ 3,000 ล้านบาท ต้องถามความเห็น ส.ว.อาจจะทำการแก้ไขเกิดขึ้นได้ยาก

โมเดลที่ 3 แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยใช้ช่องมาตรา 256 แต่ควรยกเว้นมาตรา 256 (8) ไม่แตะมาตราที่จะต้องทำประชามติ 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์” จึงเสนอให้ใช้โมเดลที่ 3 มากกว่า 2 โมเดลแรก

“ไม่ควรแตะ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ เพราะจะต้องทำประชามติ และเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนของบทเฉพาะกาล แม้จะเป็นรายมาตราที่ไม่ต้องทำประชามติ แต่เชื่อว่า ส.ว.ที่มาตามบทเฉพาะกาลซึ่งมีวาระ 5 ปี จะไม่เห็นชอบ”

ไพบูลย์ เชื่อว่า หากมีการแก้ไขโดยใช้โมเดลที่ 3 ส.ว.จะยินยอมไม่น่าขัดขวาง เมื่อนำผลการศึกษาส่งไปให้รัฐบาล จะมีการคิกออฟแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาไม่นาน กลางปีหน้าจะเรียบร้อย

เพื่อไทยไม่สรุปใช้ ส.ส.ร.

ฟากพรรคเพื่อไทย หัวขบวนฝ่ายค้าน “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน สรุปในส่วนของเพื่อไทยว่า ยังไม่ได้สรุปว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือบางมาตรา แต่แก้จำนวนมาก ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องฟังเสียงประชาชน จึงอยากได้เนื้อหารัฐธรรมนูญที่ดีและเวลาที่เหมาะ คิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.เป็นแนวทางดีที่สุด แต่อาจช้าใช้เวลามาก กมธ.กำลังคิดว่าถ้าไม่ใช่ ส.ส.ร.จะเป็นอะไรได้บ้างบางคนบอกว่าแก้มาตรา 256 ก็พอบางส่วนคิดว่าควรจะแก้สาระเลย จะทำให้เร็วขึ้น

ก้าวไกล โละ ส.ว. รื้อคำสั่ง คสช.

ขณะที่พรรคก้าวไกล “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคชงแก้รัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 269, 270, 271 และมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว. ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. อำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการโหวตเลือกนายกฯ เป็นต้น รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เกี่ยวกับการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกในการแก้ปัญหาประเทศ และเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ

ด้าน “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกว่า เตรียมจัดทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อหารือร่วมกับ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวบรวมรายชื่อ ส.ส.ให้ได้ 1 ใน 5 หรือ 100 คนขึ้นไป เพื่อยื่นต่อที่ประชุมรัฐสภาให้พิจารณา มีเนื้อหา 3 เรื่อง คือ 1.ตั้ง ส.ส.ร. โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชน คุณสมบัติคือมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่กำหนดวุฒิการศึกษา

2.ปิดสวิตช์ ส.ว. โดยให้คัดสรร ส.ว.ชุดใหม่ 200 คนที่ยึดเนื้อหาหลักในมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ 2560

3.ยกเลิกการรับรองประกาศและคำสั่ง คสช. หากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ส.ส.และ ส.ว. มุ่งมั่นแก้วิกฤตครั้งนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าที่ประชุมรัฐสภาสามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันในสมัยประชุมนี้

ธง ปชป.รื้อมาตรา 256

ขณะที่ “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากพรรคให้ไปชี้แจงต่อ กมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีหลายมาตราจำเป็นต้องแก้ มาตราที่พรรคตั้งหลักไว้คือมาตรา 256 เปิดช่องทางนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่น ๆ

ส่วนมาตราอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ของประชาชนแต่กลับหายไป อาทิ สิทธิชุมชน สิทธิบริโภค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม การถ่วงดุลการตรวจสอบการทุจริต ทั้งหมดนี้ถ้ามีการแก้ไขในมาตรา 256 นำร่องก่อน จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่จะแก้รัฐธรรมนูญมาตราอื่นได้ ทั้งมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การคำนวณ ส.ส.พึงมี

ชทพ.ไม่กล้าแตะ ส.ว.

ส่วนชาติไทยพัฒนา “นิกร จำนง” แนะว่ายังไม่ควรไปแตะต้องปม ส.ว.ลากตั้ง เพราะจำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว.มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ควรมุ่งเน้นประเด็นเร่งด่วน เช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน การเลือกตั้งและพรรคการเมือง การกระจายอำนาจ การกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้ต้องรายงานต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ซึ่งในทางปฏิบัติจริงทำได้ยาก ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง หลากหลายความเห็นเป็นความคืบหน้ากระบวนการศึกษาปัญหารัฐธรรมนูญที่จะนำมาสู่การ “คิกออฟ” แก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต ที่คนในรัฐบาลตั้งเป้าว่า อย่างน้อยจะปลดชนวนร้อนจากม็อบ แต่เกมแก้รัฐธรรมนูญยังลากยาวออกไปถึงปีหน้า