เปิดโมเดลแก้รัฐธรรมนูญ 6 พรรคฝ่ายค้าน 19 ขั้นตอน ตั้ง ส.ส.ร. 200 คน

เปิดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 6 พรรคฝ่ายค้าน 19 ขั้นตอน ตั้ง ส.ส.ร. 200 คน

ในสัปดาห์นี้ (10-14 สิงหาคม 2563) ทั้ง 6 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เพื่อชาติ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตีประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ร้อนต่อเนื่อง

ต้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของฝ่ายค้าน 6 พรรค ซุ่มร่างกันมา ตั้งแต่ปี 2562 เดินสายการเมืองร่วมกับภาคประชาชน จัดตั้ง “ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย” เปิดวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

กระทั่งรัฐบาลได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ขึ้นในสภา

แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ การปรากฏกายของไวรัสร้ายโควิด -19 ทำให้เกมแก้รัฐธรรมนูญต้องสะดุดไป

เมื่อเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง พรรคฝ่ายค้านที่เหลืออยู่ 6 พรรค ก็นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับเดิมกลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง และจะยื่นให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรพร้อมลายชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้าน มากกว่า 100 ชีวิต

ใน “พิมพ์เขียว” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน ไล่ตั้งแต่การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรคือ 50 คน หรือ จาก ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา คือ 75 คน

แก้ไขจำนวนเสียง ส.ว.ในการโหวตชั้น “รับหลักการ” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติในมาตรา 256 ว่า ต้องได้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 (84 เสียง) ออกไป โดยให้ใช้ “เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” แทน

ขณะที่การเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน วาระที่ 3 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ว่า “ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิก มิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า หนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

แก้ไขเป็น “ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” หรือ 375 เสียง

แปลว่าไม่จำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง รวมถึงไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.84 เสียงในการร่วมลงมติ

สำหรับ (ร่าง) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช….มีกระบวนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นั้น ใน “พิมพ์เขียว” ของฝ่ายค้าน ถอดออกมาได้ 19 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ให้มี ส.ส.ร. 200 คนทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่
  2. ให้ กกต.จัดให้มีการเลือก ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
  3. กำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร
  4. ให้ กกต.แนะนำตัวผู้สมัครอย่าง “เท่าเทียมกัน”
  5. การลงคะแนนให้ลงคะแนนโดยตรงและลับ ให้มีผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามจำนวน ส.ส.ร.พึงมีในจังหวัดนั้น และจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด หรือไม่ลงคะแนนให้ก็ได้
  6. ส.ส.ร.ให้มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน โดยให้คำนวนจำนวน ส.ส.ร.ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน
  7. จังหวัดไหนที่ราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน
  8. จังหวัดไหนที่ราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน
  9. ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดไหนที่มีเศษเหลือจาการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.ด้วยวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือลำดับรองลงมา จนครบจำนวน 200 คน
  10. ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
  11. ให้ ส.ส.ร.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คณะ จำนวน 29 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูยตามแนวทางท่ ส.ส.ร.กำหนด ประกอบด้วย ส.ส.ร.15 คน โดยคำนึงถึงภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขานิติศาสตร์ 5 คน ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ 5 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน
  12. ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูให้เสร็จภายใน 240 วัน นับแต่ที่มีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก ซึ่งต้องจัดไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
  13. การยุบสภา หรือ สภาครบวาระไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ร.
  14. หลังจาก ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้เสนอต่อประธานรัฐสภา และให้ส่งต่อไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน นับแต่ที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.ร.
  15. ให้ กกต.กำหนดวันลงประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐะรรมนูญจากสภา
  16. ให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชน เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นและสื่ออิเล็ทรอนิกส์ทุกประเภท
  17. เมื่อออกเสียงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากผลประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ หากไม่เห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป
  18. หากร่างรัฐธรรมนูญตกไป คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.และ ส.ว.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้” การออกเสียงลงคะแนนจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภา
  19. บุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร.จะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้

สำหรับสเป๊กของ ส.ส.ร.ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน มีคุณสมบัติหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ ดังนี้

  1. คุณสมบัติต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีชื่อในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่จะลงรับสมัครติดต่อไม่น้อยกว่ 5 ปี เคยศึกษาหรือไอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือรับราชการ ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือ เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. ไม่เคยดำรงตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
  3. ต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ไม่เป็น ส.ส. ส.ว.หรือ รัฐมนตรี

คุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ ขีดกรอบ-กีดกันบุคคลจากเครือข่ายรัฐประหาร จากแม่น้ำ 5 สาย ออกจากวงจรแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่