ฉากจบ 10 นายกฯ นายพล “ม็อบไล่-ลาออก” ถูกยึดอำนาจ

นายกฯนายพล
รายงานพิเศษ

ในวงสนทนาการเมือง ทั้งในสภาและนอกสภาไปจนถึงวงทำเนียบรัฐบาล ต่างเดาฉากจบของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ไปต่าง ๆ นานา

เพราะรัฐบาลอยู่ในภาวะถดถอย เผชิญวิกฤตทั้งเศรษฐกิจ-การเมือง

ฉากจบเลวร้ายที่สุดคือ การรัฐประหาร-เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ด้วยกลไกนอกรัฐธรรมนูญ หากเบาขึ้นมาหน่อย คือการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภา ใช้กลไกรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เปลี่ยนตัวนายกฯ

อีก scenario ที่หักมุม 180 องศา

พล.อ.ประยุทธ์ ชิงลาออก-ยุบสภา

พลิกดูนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารในประวัติศาสตร์ มีเส้นทางลงจากอำนาจไม่ค่อยสวยงาม บางคนถูกรัฐประหาร บางคนถูกชุมนุมไล่ลงจากตำแหน่ง บางรายถูกรัฐประหารเงียบ

ต่อจากนี้คือฉากจบของนายกฯทหารที่มาจากการรัฐประหาร และจากการเลือกตั้ง ทั้งหมด 10 คน

พระยาพหลพลพยุหเสนา

หรือ พจน์ พหลโยธิน เป็นนายกฯคนที่ 2 แต่เป็นนายทหารคนแรกที่ได้เป็นนายกฯ หลังจาก 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพฯ แกนนำคณะราษฎรใช้กำลังทหารยึดอำนาจกลับคืนมาจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ทำการรัฐประหารเงียบด้วยการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ตราพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 1 เมษายน 2476

จากนั้น พ.อ.พระยาพหลฯได้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 ปี ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 2476 ถึง 21 ธ.ค. 2481 แต่ระหว่างที่เป็นนายกฯ พ.อ.พระยาพหลฯตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เพราะพ่ายแพ้มติเรื่องพิจารณาระเบียบงบประมาณเมื่อเดือนกันยายน 2481 ก่อนจะตัดสินใจไม่รับตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นนายกฯแทน

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เจ้าของสมญา “จอมพลกระดูกเหล็ก” ขึ้นเป็นนายกฯถึง 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นนายกฯแทน พ.อ.พระยาพหลฯ ก่อนลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 1 สิงหาคม 2487 เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 จากนั้น จอมพล ป.กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯอีกครั้งหลังการรัฐประหาร ปี 2490 อยู่ยาว9 ปี 5 เดือน

แต่เพราะถูกนายทหารรุ่นน้อง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจ ทำให้จอมพล ป. ลี้ภัยไปที่ประเทศญี่ปุ่น และจบชีวิตที่นั่น

พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ไม่ได้มาจากการปฏิวัติ-รัฐประหาร แต่มาจากการเลือกตั้ง เขาเป็น ส.ส.บ้านเดียวกับ “ปรีดี พนมยงค์” ทว่าหลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 เกิดแรงบีบให้ “ปรีดี” ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แม้เลือกตั้งใหม่ ปรีดีจะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯอีกครั้ง แต่ก็ปฏิเสธ โดยให้ “พล.ร.ต.ถวัลย์” ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เป็นนายกฯแทน เพื่อลดแรงเสียดทาน

อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศของรัฐบาลถวัลย์กลับเกิดสารพัดปัญหา ซึ่งเป็นเอฟเฟ็กต์ต่อเนื่องจากกรณีสวรรคต ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำสะเทือนถึงปากท้องคนในประเทศ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงความขัดแย้งสะสมที่กองทัพบกมองว่า ถูกขบวนการเสรีไทยแย่งซีน มีการเดินขบวนพร้อมอาวุธที่ทันสมัยกว่าเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา หลาย ๆ ปัจจัยมาพันกันจนทำให้การเมืองระเบิด-เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

หลังจากถูกรัฐประหาร เขาได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ฮ่องกงระยะหนึ่ง ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 87 ปี

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังการยึดอำนาจจอมพล ป.สำเร็จ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 “จอมพลสฤษดิ์” ได้ตั้ง นายพจน์ สารสิน อดีต รมว.การต่างประเทศ นั่งเก้าอี้นายกฯ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งใหม่ ต่อมาได้เลือก พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศขณะนั้น) นั่งเก้าอี้นายกฯแทนอีกครั้ง เนื่องจากไปรักษาตัวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อกลับถึงเมืองไทยจึงปฏิบัติการ “ขอเก้าอี้คืน”ขึ้นนั่งตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ในขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง เมื่อ 8 ธันวาคม 2506

ว่ากันว่า หลังจากเดินทางกลับจากสหรัฐ “จอมพลสฤษดิ์” รับรู้ถึงสภาพสังขารตัวเองว่าอยู่ได้ไม่นาน จึงวางแผนสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางของสหรัฐสปอนเซอร์ใหญ่ในทางการเมืองขณะนั้น แล้วเก้าอี้นายกฯก็ถูกส่งต่อให้ จอมพลถนอม กิตติขจร

จอมพลถนอม กิตติขจร

“จอมพลถนอม” สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ 9 ธันวาคม 2506เว้นวรรคเผด็จการ เปิดให้มีการเลือกตั้งช่วงสั้น ๆ โดยเป็นหัวหน้าพรรคสหประชาไทย และเป็นนายกฯจากการเลือกตั้ง กระทั่งยึดอำนาจตนเองอีกครั้ง ก่อนลงเอยด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ไปที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา พร้อมครอบครัว

แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกคนไทยที่นั่นต่อต้าน ก่อนจะมาปักหลักที่สิงคโปร์ พร้อมบวชเป็นเณรกลับประเทศไทย และกลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

“พล.อ.เกรียงศักดิ์” ขึ้นเป็นนายกฯ แทน “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และเปิดให้มีการเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 แม้กลุ่มกิจสังคม ที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด ด้วยเสียง 82 คน จากสมาชิกทั้งหมด 301 คน แต่ “พล.อ.เกรียงศักดิ์” ก็อาศัยเสียงวุฒิสภา+เสียง ส.ส. พาเข้าทำเนียบรัฐบาล รอบสองด้วย 311 เสียง

ทว่า “รัฐบาลเกรียงศักดิ์” ต้องเจอกับแผนซ้อนบีบให้ออกกลางอากาศ หลังจากเสียการสนับสนุนจากนักการเมือง ส.ส.และ ส.ว. ครั้นเจอวิกฤตศรัทธาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ-รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาน้ำมันตามราคาตลาดโลก บรรดานักการเมืองจึงรวมเสียงยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยกำหนดไว้วันที่ 3 มีนาคม 2523

แต่ปรากฏว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชิงประกาศลาออกในสภาเสียก่อน ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 แล้วเสียงในสภาทั้ง ส.ส.-ส.ว.ก็พร้อมใจหนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ “รัฐประหารเงียบ” เป็นแผนสมคบคิดเปลี่ยนตัวนายกฯ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ก่อน พล.อ.เกรียงศักดิ์ จะสละเก้าอี้นายกฯ พล.อ.เปรม ถูกพรรคการเมืองทาบทามให้มานั่งในตำแหน่งผู้นำประเทศแทน ทว่า พล.อ.เปรม บอกกับนักการเมืองที่มาทาบทามว่า “ผมไม่พร้อม”

พล.อ.เปรมเล่าว่า “ตั้งแต่พี่เกรียงเริ่มซวนเซนะ เริ่มมีปัญหาในสภา เพราะว่าพี่เกรียงไม่มีพรรคการเมือง ฝ่ายพี่เกรียงมีแต่พวกที่ไม่สังกัดพรรค พี่เกรียงก็เริ่มมีปัญหา แล้วพวกพรรคต่าง ๆ อย่าง คุณวีระ มุสิกพงศ์ คุณสัมพันธ์ ทองสมัคร คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งอยู่พรรคประชาธิปัตย์ พวกนี้มาทาบทามชักชวนว่าช่วยไปเป็นหน่อยได้ไหม ตอนนี้ไม่มีใครแล้ว”

“ผมก็ตอบไป เพราะ 1.ไม่อยากเป็น 2.ผมไม่พร้อมที่จะเป็น คุณเกษม ศิริสัมพันธ์ คุณไกรสร ตันติพงษ์ จากพรรคกิจสังคม เคยมาหาที่บ้าน มาทาบทาม แต่ในที่สุดก็ต้องเป็น เพราะว่าตอนหลังพรรคการเมืองเริ่มมาหาผม นั่งคุยกัน อย่างพี่”

พล.อ.เปรม รับตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 และอยู่ในตำแหน่งนานถึง 8 ปี ไม่เคยลงสนามเลือกตั้ง เพราะได้รับเทียบเชิญจากพรรคแกนนำรัฐบาลให้ขึ้นเป็นนายกฯทุกครั้ง กระทั่งเอ่ยวลีว่า “ผมพอแล้ว”

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

“พล.อ.ชาติชาย” เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง แม้ว่าเขาจะเป็นลูกชายของ “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” ผู้นำรัฐประหาร ปี 2490 ก็ตาม แต่เหมือนเหรียญกลับด้าน รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยึดอำนาจคาเครื่องบิน C130 ที่กำลังเดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อนำ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ไปถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมช.กลาโหม และถูกควบคุมตัวอยู่ 15 วัน จึงได้รับการปล่อยตัวออกมา ไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษระยะหนึ่ง

พล.อ.สุจินดา คราประยูร

“พล.อ.สุจินดา” ผู้บัญชาการทหารบก ผู้อยู่เบื้องหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งว่า ตนและสมาชิกใน รสช. จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองหลังคืนอำนาจ แต่กลับลำรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การเดินขบวนขับไล่ จนลงเอยด้วยเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่ง เป็นนายกฯเพียง 47 วัน และยุติบทบาททางการเมือง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ในช่วงที่ พล.อ.ชวลิต หรือ “บิ๊กจิ๋ว”ได้รับการขนานนามว่า “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” มีอำนาจสูงสุดในกองทัพในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขาได้ลุกออกจากตำแหน่งท่ามกลางเสียงเชียร์จากคนการเมืองนักเลือกตั้ง และนายทหาร ให้ลงสู่การเมืองเต็มรูปแบบ และเขาลาออกจากกองทัพ 27 มีนาคม 2533 มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ทว่าการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีโดยไม่มีกำลังหนุนในสนามการเมืองราษฎร ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง การเมือง กับ กองทัพ หนึ่งในคนการเมืองที่ “บิ๊กจิ๋ว” เปิดศึก คือ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ที่เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ “พล.อ.ชวลิต” ลาออกจากทั้งสองตำแหน่งเมื่อ 11 มิถุนายน 2533 ก่อนที่มาตั้งพรรคความหวังใหม่ ก่อนจะนำพรรคความหวังใหม่ชนะเลือกตั้ง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2540

แต่ต้องพ้นไปด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง จากนั้น”บิ๊กจิ๋ว” ยุบพรรคความหวังใหม่ รวมกับพรรคไทยรักไทย ของ “ทักษิณ ชินวัตร” แล้วลดดีกรีมาเป็นรองนายกฯ จนถึงพรรคพลังประชาชน และลาออกในวันการเมืองเดือด 7 ตุลาคม 2551 กระทั่งประกาศยุติบทบาททางการเมือง 20 ธันวาคม 2560

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

“พล.อ.สุรยุทธ์” เป็นนายกฯคนที่ 24 จากการเชิญของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เส้นทางไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะเป็นนายกฯที่ประคองสถานการณ์ พร้อมลงจากอำนาจหลังจากมีรัฐบาลใหม่ คือ พรรคพลังประชาชน เมื่อปี 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯกลับไปเป็นองคมนตรี

ส่วน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่เข้าสู่อำนาจจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในฐานะนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ


ทุกฝ่ายยังเฝ้ามองจุดสิ้นสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยใจระทึก