ม็อบเดือด ส.ว.-รัฐบาลเปิดเกมคว่ำญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง กมธ. ศึกษา 1 เดือน

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ในช่วงเย็นภายหลังที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายสรุปว่า ตอนหนึ่งที่ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพูดคุยระหว่าง ส.ส.และ ส.ว.ว่า

รู้สึกว่าก่อนที่ไม่มีญัตติร่างรัฐธรรมนูญเข้ามา สภามีความปรองดองสมานฉันท์กันอย่างเต็มที่ แต่ในการประชุม 2 วันที่ผ่านมา กลับเห็นถ้อยคำแปลก เสียดสีกันบ่อยขึ้น เกิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราไม่มีช่องทางในการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพูดคุยหารือกันก่อน ซึ่งก่อนหน้าที่ตนไม่เคยเข้าใจว่า ข้อบังคับการประชุมฯ ข้อที่ 121 วรรคสามนั้น มีไว้เพื่ออะไร วันนี้ตนเข้าใจแล้ว

“เมื่อเดินมาถึงจุดนี้ ผมไม่มีทางยอมให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 206 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลตกไป ดังนั้น หากจะช้าไป 1 เดือนก่อนที่จะนำกลับเข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาสมัยหน้า เพราะถ้าวันนี้เดินหน้าแล้วคว่ำจะทำอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าเสียงของ ส.ว.เป็นเสียงที่มีความสำคัญ ดังนั้น หากมีความจำเป็นในการเปิดประตู มาตรา 256 โดยเปิดโอกาสให้พวกเราทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ได้คุยกันบ้าง เพื่อให้เห็นสอดคล้องกันบ้าง โดยใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน คิดว่าคุ้ม” นายวิรัช กล่าว

ทำให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอให้ตั้งคณะ กมธ.พิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมา 1 คณะ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 121 วรรคสาม เพื่อให้ตัวแทนทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว.ได้ร่วมกันศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วน

ซึ่งทำให้มีเสียงคัดค้านจากประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า ถ้าจะศึกษาโดยตั้ง กมธ.ขึ้นมาไม่จำเป็น และเสียเวลาเปล่า เพราะเราเคยได้ศึกษามาแล้ว โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รวมทั้งจะเกิดข้อกังวลใหม่ อย่างที่ภาษาวัยรุ่นบอกว่า ถูกหลอกให้ออกโรงเรียนหรือเปล่า เพราะถ้าเราไปศึกษา 1 เดือน จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ว่าญัตตินี้จะไม่ตก ดังนั้น จะตกวันนี้หรือจะตกวันหน้าก็เหมือนกัน ดีกว่าหลอกให้เราศึกษาอีก 1 เดือน สุดท้ายก็ตกอยู่ดี หากสภา สมัยหน้าลงมติตกแล้ว จะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ด้วย แต่ถ้าตกวันนี้ สมัยหน้าเรายังยื่นญัตติใหม่ได้ โดยไปรวมกับร่างของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายกัน ซึ่งทราบว่าร่างของไอลอว์กำลังตรวจสอบรายชื่ออยู่ คาดว่าจะนำเข้าพิจารณาในสมัยหน้า หากญัตติไม่ตกวันนี้แล้วไปตกในสมัยหน้าอาจทำให้ร่างขอไอลอว์ตกไปด้วยหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาพร้อมกัน

“วันนี้เราพยายามมองเจตนาดี แต่ประชาชนข้างนอกมองออกหรือไม่ เขามองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเราอู้ เตะถ่วง ถ้าเขามองว่าสภาไม่จริงใจ ฝ่ายค้านเป็นเครื่องมือเขาด้วยก็เจ็บอีก เสียหายอีก ไม่ใช่เสียหายเฉพาะตน แต่สภาเสียหายไปด้วย ในอดีตไม่เคยมีการตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการ ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ขอให้คิดดีๆ ถ้าจะตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษา แต่ถ้าจะตั้งจริง เราขอไม่ขอร่วมศึกษาด้วย”

ก่อนที่จะมีการพักการประชุม จากนั้น เวลา 20.00 น. หลังการประชุมกลับมาประชุมอีกครั้ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล ได้เผยผลการหารือว่า วิปรัฐบาลยืนยันตามญัตติที่นายไพบูลย์ ที่เสนอให้ตั้งกมธ.ศึกษาญัตติทั้ง 6 ร่าง ตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 121 วรรคสาม

ทำให้ ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ นายวิโรจน์ ลักษณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทักท้วงทันทีว่า ประชาชนต้องการรู้ที่สุดว่า สภาฯจะรับหลักการเพื่อให้มีโอกาสได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช้มรดกบาปของคสช.หรือไม่ เพราะถ้าวันนี้ยอมให้มีการตั้งกมธ.ยื้อเวลาออกไปอีก 1เดือน แล้วมีการโหวตคว่ำ นั่นหมายความว่า สภาฯจะไม่สามารถเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในสมับประชุมหน้าได้หรือไม่ ต้องรอถึงอีกสมัยประชุมหนึ่ง หรือหลัง 22 พฤษภาคม 2564 ใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น พรรคก้าวไกล จะร่วมสังฆกรรมด้วย

ท่ามกลางการการขอลุกขึ้นอภิปรายกันเป็นจำนวนมาก นายชวนจึงตัดบทจนลงมติในเวลา 20.10 น. ที่ประชุมให้มีการลงมีมติ ผลปรากฎว่า เสียงยข้างมากเห็นว่าควรตั้ง กมธ.ศึกษาพิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐะรรมนูญจำนวน 45 คน ด้วยเสียง 432 ต่อ 255 งดออกเสียง 28 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกด้านนอกสภาเป็นไปอย่างตึงเครียด โดยนายอานนท์ นำพา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีปราศรัย หลังทราบข่าวว่ารัฐสภา มีมติตั้ง กมธ.ศึกษาออกไป 1 เดือน ว่า

“เราสู้ให้มีการเลือกตั้งตั้งแต่สมัยคนอยากเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร จะสืบทอดอำนาจและไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เราจับไต๋ได้ วันนี้ก็จับได้ ล่าสุด เสนอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาอีก 1 เดือน จะตั้งไปศึกษาทำไมในเรื่องที่รู้อยู่แล้ว เขาต้องการจะซื้อเวลา สภาเปิดลงมติพฤศจิกายน เราจะไม่สามารถแก้ได้ จนถึงพฤษภาคมปีหน้า ดูความคิด คิดแผนการ คว่ำร่าง มาตั้งอะไรวันนี้ คนทั้งประเทศนี้รู้แล้วว่ารัฐธรรมนูญแย่ขนาดไหน ไปตั้ง กมธ.เพื่อถ่วงทำไม เลื่อนไป 1 เดือน เผด็จการก็อยู่ไปอีก 1 เดือน ศึกษา 1 ปี กินภาษีเราไปอีก 1 ปี คือ ส.ว.ที่กดปุ่มได้เหมือนหุ่นยนต์”

“พวกคุณได้ยินเสียงประชาชนที่มาอยู่ตรงนี้ไหม หรืออาคารรัฐสภาปิดหูปิดตาพวกคุณแล้ว น่ากลัวกว่านั้น จะผ่านร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อลดกระแสว่าให้มีการแก้ไปก่อน แล้วค่อยไปลักไก่คว่ำทีหลัง การแก้ต้องยกร่างทั้งฉบับ หากร่างฝ่านค้าน ร่างไอลอว์คว่ำ พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดินแน่นอน ภายในเดือนตุลาคมนี้ ถ้าไม่มีอะไรชัดเจน ช่วงหยุดยาว ขายข้าวเตรียมชุมนุมยืดเยื้อไล่เผด็จการได้เลย” นายอานนท์กล่าว


ด้าน 6 พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทยก้าวไกล -เสรีรวมไทย-เศรษฐกิจใหม่ – ประชาชาติ ไม่ร่วมสังฆกรรม ในกรรมธิการ จากนั้นได้มีการ ปิดสมัยประชุมรัฐสภาทันที