อภิสิทธิ์ : ขยับเพดานแก้รัฐธรรมนูญ เวลาที่ดีที่สุดของ “ประยุทธ์” ผ่านไปแล้ว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ก่อนเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนเดียวที่คาดการณ์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง เกิดความสูญเสียทางการเมืองกว้างและลึก เดินสู่การแบ่งขั้ว-แตกแยก ทับซ้อนด้วยความคิดต่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า

หลังการเลือกตั้ง “อภิสิทธิ์” โคจรเข้าใกล้ศูนย์รวมอำนาจ-ศูนย์กลางความขัดแย้งมากที่สุด มีชื่อในโผ-อาจจะขึ้นถึงบัลลังก์ประธานรัฐสภา

“อภิสิทธิ์” เฉียดเข้าใกล้รัฐธรรมนูญมากที่สุด ในโผ-ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์-แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถูกเบียดตก เพราะประมุขตึกไทยคู่ฟ้า ส่ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-พล.อ.ประยุทธ์ ส่งเข้าประกวด

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อภิสิทธิ์” ในฐานะนักสังเกตการณ์ทางการเมืองตัวยง ในช่วงที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญพลิกไป-พลิกมา เต็มไปด้วยสารพัดกลเกมเตะตัดขา และเครื่องหมายคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมาทางนี้

ผมมีความหวังมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญเป็นจุดร่วมที่ควรจะแสวงหาได้ชัดเจนที่สุดเพื่อแก้ปัญหา แต่การเดินหน้าในซีกของรัฐบาลไม่ได้ทำบนพื้นฐานของความเชื่อว่าอยากจะทำ คิดว่าควรจะทำ หรือ เป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะทำ แต่ทำเหมือนเป็นปฏิกิริยาว่า จำเป็นต้องทำ เช่น จำเป็นต้องบรรจุเป็นนโยบาย เพราะเป็นข้อตกลงในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

จนถึงวันนี้ ยังไม่ได้ยินรัฐบาลพูดว่า ตัวท่านนายกฯ คิดอย่างไรและมีจุดยืนอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากพยามจะบอกว่าเป็นเรื่องของสภา

ประเมินท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

ท่านพูดเพียงแต่ว่า ในเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเสนอแก้ไขมาตรา 256 ก็ให้สนับสนุนในสิ่งที่ตัวเสนอ ผมยังไม่ได้ยินว่า ท่านนายกฯ วันนี้พร้อมที่จะช่วยผลักดัน และเหตุผลอะไรที่ยังไม่ครอบคลุมถึงร่างของฝ่ายค้าน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่แสดงท่าทีว่าคัดค้าน ได้บอกหรือไม่ว่า เมื่อเป็นพรรครัฐบาลด้วยกันควรจะมาสนับสนุนร่างนี้ เครื่องหมายคำถามใหญ่ที่สุด คือ แล้วท่านนายกฯ กับ ส.ว. มีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้

จังหวะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมายืนยัน หรือยังมีจังหวะที่ดีกว่านี้รออยู่

ทำไมไม่คิดว่า จังหวะที่ดีที่สุดมันผ่านไปแล้ว

จังหวะที่ดีที่สุดที่ผ่านไปแล้ว ตั้งแต่ตอนไหน

ตั้งแต่ช่วงที่การชุมนุมของประชาชนให้น้ำหนักสูงสุดในเรื่องนี้ แทนที่จะทิ้งไว้จนลุกลามไปเรื่องอื่น ถ้าแสดงท่าทีตอบรับก่อนหน้านี้ จะทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมสร้างพื้นที่ ช่องทางพูดคุย สื่อสารกับคนที่เคลื่อนไหวหรือคนรุ่นใหม่

ยิ่งปล่อยช้าจะถูกตั้งคำถามถึงความจริงใจ วันนี้การพูดถึงมาตรา 256 มีคำถามว่า เป็นการซื้อเวลา เพราะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกระบวนการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ค่อนข้างสูง เช่น การหยิบประเด็นส่งศาลรัฐธรรมนูญว่าทำได้หรือไม่

การผ่านวาระที่ 1 เดิมคิดว่าจะผ่านตั้งแต่ก่อนปิดสมัยประชุมสภาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 สมมุติว่า ผ่านเดือนตุลาคม ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ก่อนพิจารณาในวาระที่ 2 เพราะจะมีการแปรญัตติได้หลายแง่หลายมุมมาก

การตั้ง ส.ส.ร.กี่คน มาจากไหน วิธีใด ร่างนานเท่าไหร่ ร่างเสร็จแล้วจะต้องมีการทำประชามติอีกรอบหรือไม่ และยังต้องไปสู่การประชามติเพื่อให้ร่างนี้ผ่านอีก ไม่รู้ว่าจะมีการรณรงค์ไม่ให้ผ่าน หรือ อำนาจรัฐจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการลงคะแนนแค่ไหน อย่างไร

กฎหมายประชามติยังไม่มีจะทำอย่างไร ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเลือก ส.ส.ร. ใช้เวลานานเท่าไหร่ ปัญหาใบเหลือง-ใบแดง ไปจนถึงเวลาร่างจริง ซึ่งตอนนี้มีการโต้เถียงกันว่า ถ้ามี ส.ส.ร.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วจะมีความพยายามในการคัดสรรคนที่มีความคิดในบางแง่มุมเข้าไป เพื่อไปมีอิทธิพลต่อการเขียนแค่ไหน จนถึงร่างเสร็จแล้วจะผ่านสภา หรือ จะผ่านประชามติหรือไม่ คำนวณเวลาดูว่า อย่างน้อยกลางปี 2565 เสร็จแล้วยังต้องทำกฎหมายลูก ครบวาระรัฐบาลพอดี

ผมไม่แน่ใจว่าการพูดเพียงมาตรา 256 เพียงพอแล้ว เพราะทุกคนรู้ว่าระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องกลับมาใช้กติกาเดิม และอำนาจของ ส.ว.เป็นสิ่งที่ไม่มีทางยอมรับได้ ไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกมองว่า สืบทอดอำนาจ เอาเปรียบทางการเมือง

ผมไม่เชื่อว่า จุดยืนการตั้ง ส.ส.ร.เพียงพอที่จะทำให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวรู้สึกว่ารัฐบาลฟังหรือรัฐบาลอยากมาแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน ยิ่งช้ายิ่งมีประเด็นสะสมมากขึ้น

วันนี้คนตีความ ว่า ไม่มีสัญญาณอะไรที่บอกว่า นายกฯ เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่มีสัญญาณอะไรที่นายกฯ พร้อมจะแก้กติกาในส่วนที่ตัวเองได้ประโยชน์ และถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมือง คนทั่วไปเชื่อหรือไม่ และมวลชนที่เคลื่อนไหวทั้งหมดไม่มีใครเชื่อว่า ท่านนายกฯ ไม่มีอิทธิพลกับ ส.ว. หรือท่านนายกฯ สั่ง ส.ว.ไม่ได้

คนมองว่า การขยับเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นการขยับตามความจำเป็น และจะพยามยามหาทางที่จะให้อะไรที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มากกว่าการยอมรับว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งนี้ หรือ เข้าใจว่าทำไมถึงเรียกร้องประเด็นเหล่านี้

ต้องแค่ไหนถึงจะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าหากว่า ตั้งแต่ต้นรัฐบาลเสนอร่างในนามคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯ มีการสื่อสารถึง ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นโดยตรง ส่วนตัว หรือสาธารณะ ว่า คือสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจแล้วว่าควรจะต้องเดิน

มาตรา 272 ถ้ามีการแก้ไข คือ รูปธรรมที่สุด ที่จะเป็นตัวบอกว่า วันนี้รัฐบาลได้ยินเสียงคนที่เรียกร้องว่า กติกาของบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจ สร้างความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

การเลือกตั้งครั้งใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือว่าถูกปิดทุกประตูหรือยัง

ยังมีความหวัง เพราะการขยับเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับกระแส ผมไม่รู้ว่าเดือนตุลาคมจะเกิดอะไรขึ้น ในแง่กระแสการชุมนุม เป็นไปได้ว่าในเดือนพฤศจิกายนเมื่อมีการประชุมสภาสมัยหน้า กระแสอาจจะเป็นตัวกำหนดว่า รัฐบาลจะยอมมากขึ้นหรือจะยอมน้อยลง

ยิ่งการประชุมเมื่อวันที่ 23-24 กันยายน 2563 เพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 มีท่าทีกร้าว เพราะประเมินว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 พูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญน้อยมาก ขณะที่พรรคพลังประชารัฐอาจจะกังวลว่าเมื่อคว่ำไป กระแสจะตีกลับ จึงใช้วิธีซื้อเวลาด้วยการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาก่อนรับหลักการ

เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะถูกกำหนดจากนอกสภามากกว่าในสภา

ได้รับอิทธิพลจากกระแส แต่ถึงวันนี้การตอบสนองต่อกระแสเป็นไปในลักษณะขอให้ทำน้อยที่สุด ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยังไม่ใช่ลักษณะตอบรับ

จะทำอย่างไรให้ขาในสภา และขานอกสภาเคลื่อนไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงจัง

ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปโครงสร้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยในแบบสากลมากขึ้น แต่การยื้อกันไปมา กลับทำให้สภาพสังคมกลายเป็นเหมือนกับไปเข้าทางของคนที่สุดโต่งมากกว่า

ด้านหนึ่ง ยิ่งยื้อจะมีคนที่เคลื่อนไหวสุดโต่ง ยิ่งจะอ้างได้มากขึ้นว่า โครงสร้างผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่ตอบสนอง ไม่สนใจ ดังนั้น ต้องถึงขั้นแตกหักกัน

สุดขั้วอีกข้างหนึ่ง ไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย จะอาศัยความสุดโต่งของอีกฝ่ายสร้างความกลัว ใช้เป็นวาทกรรมโจมตี ว่า ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ต้องการแค่นี้ ต้องการไปไกลกว่านี้ อย่าไปยอม

กลายเป็นว่า ไปเข้าทางคนที่ต้องการแตกหัก หรือ คนที่อยู่ในสุดโต่งทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นผลดีกับใครเลย

ใครเคยอ้างไว้ว่าจุดร่วมกันคือความเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่กลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่งถูกมองว่า รักสถาบันแต่ไม่เอาประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งถูกมองว่าเอาประชาธิปไตยที่ไม่มีสถาบัน

แต่ทุกฝ่ายพูดกันตรงกันหมดว่า ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมเชื่อว่าเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่กลายเป็นสังคมถูกผลักให้ออกเป็นสองขั้วแบบนี้

เวลาของนายกรัฐมนตรีจะอยู่ไปตามธรรมชาติแบบนี้ หรืออยู่ไม่จบวาระ

ตอบยาก ผมยังไม่เห็นว่า อะไรจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันเห็นชัดเจนว่า การอยู่ไปอย่างนี้เรื่อย ๆ มีแต่ทำให้การต่อต้าน แตกแยกในสังคมก็จะมีมากขึ้น

ประเด็น คือ สิ่งที่เป็นปัญหาในสายตาของคนที่มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่เป็นธรรม หรือ ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่พึงแก้ไขได้ โดยไม่ต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ คือ ตัวบทเฉพาะกาลที่มีปัญหาอยู่หลายมาตรา

คำถาม คือว่า เหตุผลอะไรที่เราเห็นว่าไม่ควรแก้สิ่งเหล่านี้ ในขณะที่ยังไม่สามารถเขียนฉบับใหม่เสร็จ เพราะไม่มีคำตอบ ไม่มีเหตุผล นอกเสียจากตีความเป็นอื่นไม่ได้ว่า คนที่ได้ประโยชน์จากบทบัญญัติที่มีอยู่ยังไม่ต้องการ ยังไม่ยอมที่จะแก้ไข

ถ้าพูดกันตรง ๆ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอา ส.ว.เข้ามาโดยอ้างว่า จะมาเป็นกลไกช่วยเรื่องความปรองดอง เวลา ส.ส.ขัดแย้งกันมาก ซึ่งเป็นตรรกะที่รับฟังได้ ถ้า ส.ว.มีความเป็นกลาง

แต่ปรากฏว่า หลังรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว คนที่เกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับกลายเป็นผู้เล่นเสียเอง คนที่เป็นผู้นำสูงสุด กลับมาเล่นการเมืองได้และยังตีความได้ว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ทำให้คิดว่า ส.ว.เป็นตัวกลางเพื่อสร้างความปรองดองไม่เป็นจริง เพราะส.ว.ถูกคัดเลือกโดยบทเฉพาะกาลเพื่อกลับมาเลือกคนที่คัดเลือก ส.ว.มา กลายเป็นอีกฝ่ายหนึ่งทางการเมือง จึงกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง

กลับกันถ้าเสียงของพรรคการเมืองในสภาไม่ได้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ท่วมท้นเห็นด้วยให้เป็นนายกฯ 500 เสียง ส.ว.ก็คงไม่เลือกตาม

สมมุติว่า ส.ว.250 คน ไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ เอาผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ออกมาเป็นตัวตั้ง ผมไม่เชื่อว่า หน้าตารัฐบาลจะเป็นแบบนี้ แต่กติกาเขียนให้ ส.ว.เลือกนายกฯได้ ทำให้รูปร่าง หน้าตาของรัฐบาลอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นมันเกิดไม่ได้ เพราะต้องไปหา 375 เสียง ไม่ใช่หา 250 เสียงแล้วได้เป็นรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลนี้เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่เสียงเกิน 125 คนในสภาผู้แทนฯ สนับสนุน ทำให้พรรคการเมืองต้องตัดสินใจ ว่า เมื่อกติกาเป็นอย่างนี้ รูปร่างหน้าตารัฐบาลก็ออกมาเป็นอย่างนี้

ยังไม่นับถ้ากกต. คำนวณที่นั่ง ส.ส.ตามหลักที่ควรจะเป็น 1 สิทธิ์ 1 เสียง ไม่ใช่พรรค 30,000 ได้ ส.ส. 1 คน พรรคคะแนนมีเศษเป็นแสนไม่มี ส.ส.เพิ่ม ตัวเลขก็ไม่ออกมาเป็นแบบนี้อีก

ประเมินกำลังนอกสภาจะไปไกลสุดถึงแค่ไหน

คงไม่มีใครคาดการณ์ได้ในระยะสั้น ระยะกลาง แต่ผมมองไม่เห็นว่า สิ่งที่กลายเป็นความต้องการร่วมของคนรุ่นใหม่จะถูกปฏิเสธของสังคมตลอดไปได้อย่างไร

วันนี้ สิ่งที่ผมสัมผัสชัดเจน คือ ประเด็นการต่อสู้กลายเป็นประเด็นที่เป็นตัวนิยามความเป็นคนรุ่นใหม่ ความเป็นคนรุ่นนั้น คนในวัย 15-35 ปี คิดไปในทางเดียวกันชัดเจน คนที่อายุ 11-14 ปีตอนนี้ จะเติมในฝ่ายที่จะคิดแบบคนอายุ 15-35 คิด

ผมมองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะปฏิเสธความหวัง กรอบความคิดของคนกลุ่มนี้ คนเป็นรัฐบาลและผู้มีอำนาจต้องคิด ต้องฟัง ไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วย หรือต้องตอบสนองทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยต้องแสดงความเข้าใจ

อย่าไปติดเพียงว่า อาจจะมีการแสดงออกของแกนนำบางคน บางกลุ่มที่อาจจะมีความไม่เหมาะสม หรือเลยเถิด เพราะผมเชื่อว่า คนที่มาชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปหมดกับสิ่งที่แกนนำพูดบนเวที แต่ถามใจเขาว่า การมาของเขามีเหตุผลไหม เขามีเหตุผลอยู่ในใจ ถ้ายิ่งเขาไม่มา เขายิ่งไม่มีวันที่จะได้รับคำตอบจากคนที่มีอำนาจ

ผมค่อนข้างผิดหวังที่ไม่มีความพยายามที่จะดึงเอาแก่นของความรู้สึก ของคนกลุ่มใหญ่ตรงนี้ เข้ามาเพื่อหาทางออกและตอบสนอง ผมคิดว่า มีทางออก เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ

แม้กระทั่งเรื่องละเอียดอ่อนกว่านี้ ซึ่งมีวิธีการบริหารจัดการได้ ไม่ใช่ในที่สุด ก็กลับไปเถียงกันไปกันมาว่า ชังชาติหรือเปล่า รอหมายจับ รอถูกขัง อีกฝ่ายหยิบเป็นประเด็นว่ามีการคุกคาม หรือ เลือกปฏิบัติ วนเป็นวงจรและตอกย้ำช่องว่างที่มีอยู่

ถ้าคนตั้งประเด็นว่าคุณอภิสิทธิ์พูดอย่างนี้ได้ เพราะไม่ได้มีฐานะเป็นรัฐบาล แต่ตอนเป็นรัฐบาลอาจจะดีลไม่ได้

ผมไม่ได้บอกว่าจะสำเร็จนะครับ ผมไม่เห็นสัญญาณของความพยายามหรือความเข้าใจ ตอนผมเป็นนายกฯ เป็นนายกฯคนเดียวที่พร้อมมานั่งเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุม เพียงแต่ไม่สำเร็จ ไม่อยากว่าย้อนกลับไปเพราะอะไร แต่เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า เราพยายามที่จะหาทางออก และผมเสนอยุบสภาพร้อมวันที่ให้ด้วยเพื่อหาทางออก

แต่ขณะนี้ฟังท่านนายกฯมา ผมยังไม่ได้ยินอะไรเลยที่บ่งบอกว่า ท่านเห็นว่า คนที่มาชุมนุมมีประเด็น สะท้อนว่าท่านนายกฯ รู้ เข้าใจว่า เขาเรียกร้องอะไร เพราะอะไร ถึงแม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่มี เพียงแต่บอกว่า ชุมนุมได้ คิดต่างได้ ทำตามกฎหมาย อย่าวุ่นวาย แต่เนื้อหาสาระไม่มี ถ้ามีก็กลับไปทำนองว่า ต้องคำนึงถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีบทบาท รับมือกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้

ทุกพรรคที่อยู่กับรัฐบาลต้องมีบทบาท

ทำไมไม่เห็นท่าทีของประชาธิปัตย์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญมากกว่านี้

ผมก็ถามคำถามเดียวกัน กับคนในพรรคผมก็ถาม แต่ไม่มีคำตอบ นอกจากการพูดถึงมารยาทการร่วมรัฐบาล ซึ่งไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะ ข้อที่ 1 รัฐบาลแถลงนโยบายสนับสนุนกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อที่ 2 เมื่อรัฐบาลตัดสินใจว่า ไม่เป็นกฎหมายของรัฐบาลจึงควรเป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่จะดำเนินการ

หลายคนเข้าใจระบบรัฐสภาผิด จริงต้องมีเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้แปลว่าทุกเรื่องจะต้องบังคับให้ทำเหมือนกัน ในต่างประเทศมีบ่อยครั้งที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พรรคเดียวกันด้วยซ้ำ รัฐบาลพรรคเดียว ยังสามารถสงวนสิทธิ์ หรือ มีเอกสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยในสิ่งที่รัฐบาลเสนอมา ถ้าไม่ได้ขัดต่อนโยบายของรัฐบาล

ถ้าเป็นนโยบายรัฐบาล เสร็จแล้วคุณไปแตกแถว คัดค้านต่างหาก คือ ปัญหาการทำงานในระบบรัฐสภา เพราะ 1.ไม่ได้ขัดกับนโยบายรัฐบาล 2.สามารถเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง หรือ ส.ส.ใช้สิทธิและความคิดของตัวเองได้

จะมีจุดที่พลิกให้เสียงของการแก้รัฐธรรมนูญในสภาดังขึ้นมาอีกรอบหรือไม่

ประเด็นไม่ได้หายไป แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเร็ว หรือ แรงแค่ไหน และจะส่งผลในเดือนพฤศจิกายนอย่างไร

รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้แก้ได้ยากมาก และคงจะมีความพยายามสกัดกั้น เช่น กลุ่มไทยภักดีสนับสนุนให้มีการตีความ ซึ่งการตั้ง ส.ส.ร.มีการไปเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องผ่านประชามติ

รัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้าสภาผ่าน ส.ส.ร.เกิดขึ้นทันทีและจะสามารถรื้อรัฐธรรมนูญได้ จึงมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญและมีคำวินิจฉัย ซึ่งศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าต้องทำประชามติ

ศาลเขียนในลักษณะความเห็นว่า รัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาก่อนที่จะไปรื้อควรจะต้องถามประชาชนก่อน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยว่า ต้องทำ

ความแตกต่าง คือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ถึงสภาลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม แต่ไม่ได้มี ส.ส.ร.ทันที ต้องให้ประชาชนไปลงประชามติก่อน จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องหยิบมาเป็นประเด็นต้องทำประชามติก่อน

จะแก้เฉพาะมาตราที่มีปัญหาก่อนเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่

ตอนนี้มีร่างของฝ่ายค้านอยู่ อยู่ที่ว่า สมาชิกในสภาจะสนับสนุนหรือไม่ หรือเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนหวังว่า ร่างของประชาน (ร่าง iLaw) จะถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ซึ่งครอบคลุมทั้ง ส.ส.ร.และบทเฉพาะกาลหลายประเด็น

ส่วนตัวเห็นด้วยกับร่างใดมากที่สุด

ควรจะทำทั้งหมด หนึ่ง มาตรา 256 ต้องแก้เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น สอง การเขียนรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.เพราะบทบัญญัติที่เป็นปัญหา หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานของระบบประชาธิปไตยมีมาก เขียนใหม่เป็นวิธีการที่ดีกว่า สิ่งที่เป็นตัวปัญหาในบทเฉพาะกาลควรจะเอาออกไป

ฝ่ายรัฐบาลคงไม่สนับสนุนร่างเหล่านี้ เพราะขนาด ส.ส.พรรครัฐบาลไปเข้าชื่อกับร่างฝ่ายค้านยังถูกกดดันให้ถอนชื่อ ไม่ได้บอกว่า มีใครกดดัน แต่มีกระบวนการกดดัน

ประชาธิปัตย์อยู่ในสถานภาพแบบนี้ จะส่งผลอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งหน้า

ต้องถามพรรคและผู้บริหารพรรค ไม่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์พรรคในที่สาธารณะ แต่ผมห่วงเพราะประชาธิปัตย์มีจุดเด่นในอดีตหลายเรื่องและต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่เกิดขึ้นและล้มหายตายจากไป รวมถึงอุดมการณ์พื้นฐานและเรื่องประชาธิปไตย

วางโรดแมปทางการเมืองของตัวเองไว้อย่างไร

ผมไม่ได้นั่งคิดว่าจะต้องมีตำแหน่งอะไร ผมออกมาแล้ว เป็นประชาชนที่ห่วงใยบ้านเมือง มีสถานะที่พอจะให้ความเห็นตรงไหนก็ให้ ผมคงจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ผมไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร หนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ สอง ภายใต้กติกาอะไร สาม สภาพของสังคมการเมือง และสังคมทั่วไปเป็นอย่างไร

ผมใช้หลักเกณฑ์เดิมจะสมัครหรืออยู่ในการเมืองต่อเมื่อ หนึ่ง ทำประโยชน์ได้ สอง สิ่งที่พยายามทำมีคนสนับสนุนเพียงพอที่จะทำให้เรามีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีสองอย่างนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะกลับเข้าไปสู่การเมือง

ผมออกมาด้วยเหตุผลนี้ เพราะไม่อยู่ในสถานะที่ผมสามารถทำงานการเมืองภายใต้อุดมการณ์ที่มีอยู่ได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และชัดเจนว่าแนวทางที่ผมนำเสนอไม่ประสบความสำเร็จในการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้งผมก็ต้องถอยออกไป ผมจะกลับเข้าไปก็ต้องมีอะไรที่เป็นเหตุผลที่รองรับการกลับเข้าไป

ยากมากแค่ไหน ที่จะกลับเข้าไปในการเมืองอีกครั้ง

ไม่มีอะไรยาก ผมมีความชัดเจนในวิธี หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจ ถ้ากลับไปแล้วทำประโยชน์ได้ ผมก็กลับ ผมชอบ ผมรักงานนี้ ทำมาทั้งชีวิต แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขที่จะกลับไป ผมก็เป็นห่วงประเทศ

รู้สึกว่าแนวทางตัวเอง กับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างกันหรือไม่ในเวลานี้

มันยากตั้งแต่พรรคตัดสินใจร่วมรัฐบาล และผมต้องออกมา แต่ผมอยากเห็นพรรคมีความชัดเจนในหลายเรื่อง ซึ่งเคยเป็นและควรจะเป็นหลักการของพรรค

จะเป็นเส้นขนานกับประชาธิปัตย์ตลอดไป หรือแค่ไหน จะบรรจบกันอีกครั้งเมื่อไหร่

ผมเป็นสมาชิกพรรค และคนในพรรคยังพูดคุยกับผมอยู่ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีก๊วน เพียงแต่ว่า พอใครไปเคลื่อนไหวอะไรก็มักจะโยนว่า เป็นก๊วนผม