“ประยุทธ์” ลั่น “ไม่ลาออก” ขอสงวนสิทธิ์ไม่ทำตามม็อบ หากสวนทางกับคนส่วนใหญ่ 

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ)  เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวปิดอภิปรายของฝ่ายรัฐบาลว่า หลายอย่างที่พูดกันในสภาและโจมตีตนเองในสภานั้นส่วนตัวรับได้และยิ้มรับไปทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ ตัวเลขเศรษฐกิจหลายอย่างที่นำมาอภิปรายในสภาหลายตัวก็บิดเบือน

“ส่วนประเด็นที่ต้องการให้ผมลาออกเพราะบริหารประเทศ เพราะบริหารประเทศล้มเหลว ถ้าย้อนกลับไปปี 2549 กับ 2557 มีการชุมนุม แต่มีใครลาออกหรือไม่ มีการกระทำความผิดหรือเปล่า ไม่กล่าวหาใครทั้งสิ้น แล้ววันนี้คนเหล่านั้นอยู่ที่ไหน กรณีการชุมนุมผมรักลูกหลานทุกคน ผมรักเด็กนิสิตนักศึกษาทุกคนเป็นพลังแผ่นดินในวันข้างหน้า แต่เราควรสร้างความเข้าใจได้หรือไม่ ชี้ทางที่ถูกต้อง แต่ทุกคนเป็นเสียงหนึ่งของคนไทย ผมยอมรับฟังมีทั้งทำได้และทำไม่ได้ กรณีของชุดนักเรียน ถ้าจำได้ไม่ผิดจะทำให้เกิดการประหยัดและไม่มีการแข่งขัน ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย ส่วนทรงผมก็เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนว่าคนเหล่านี้ไปเดินพื้นที่ต่างๆ นอกเวลาเรียนจะไม่ถูกทำร้าย แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนแล้วผมยอมรับได้ แต่ก็ไปคิดกันก็แล้วกัน ไม่อยากให้ฟังด้านหนึ่งด้านเดียวทุกอย่างมีอดีตที่มาทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การใช้สื่อออนไลน์ในการขับเคลื่อนนั้นในฐานะเป็นรมว.กลาโหม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยติดตามก็ทราบว่าการแพร่ข้อความต่างๆมีโพสต์ครั้งแรก 200 คน จากนั้นไม่กี่นาทีแอคเคาท์เดียวกันเพิ่มเป็น 5 หมื่นคน ไม่ทราบว่าใช้เทคโนโลยีอะไร ตนอาจไม่ทันสมัย หรือแอคเคาท์เดียวกันแพร่ไปหลายช่องทาง มันมีเครือข่ายหรือเปล่าไม่แน่ใจ ต้องช่วยเช็คให้ตนด้วย มีการใช้ระบบ AI โพสต์ข้อมูลต่างๆ รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นแต่หากละเมิดเกินไป ไม่สุภาพ คิดว่าสังคมก็รับไม่ได้ เห็นอยู่แล้วว่าสังคมมีปัญหาในโทรศัพท์ขึ้นมาทุกชั่วโมงในสิ่งที่ไม่ควรขึ้นมา ทั้งชวนเที่ยว นัดแนะ ขายหัว ขอหวย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตลอดการประชุม 2 วัน ที่รัฐสภาเสนอความเห็น เรื่องใดที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ขอนำไปปฏิบัติให้เกิดความเป็นจริง เรื่องไหนที่เป็นคำเตือน ข้อจำกัด ข้อคิดก็จะรับไว้พิจารณา สำหรับตนเองนั้นมีความเป็นห่วงมากที่สุด สองเรื่อง ได้แก่ 1.ห่วงประเทศชาติว่าจะไปทางไหนอย่างไร เดินทางไปทางไหนในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยควบคุมโควิดประสบความสำเร็จจนมีผู้ติดเชื้อต่ำ มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่าเราทำได้ดีมาก ซึ่งเป็นระบบสาธารณสุขที่สะสมมาจากคนรุ่นเก่าและพัฒนามาถึงคนรุ่นปัจจุบัน และเป็นผลจากการร่วมมือของคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรร่วมภาคภูมิใจและจารึกในประวัติศาสตร์ แต่เราต้องระวังเพราะทุกภูมิภาคของโลกยังระบาดอยู่ แต่อยู่ที่เราจะรับมือได้มากเพียงใด

ผมห่วงเพราะผมรัก ไม่ได้ข่มขู่ใคร ห่วงประชาชนทุกคน การระบาดโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรงรวมถึงประเทศไทย เราถูกรุมล้อมด้วยสถานการณ์รอบบ้านและจากภูมิภาคอื่นๆ  ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน แก้ปัญหาการว่างงาน แจกเงินเยียวยา กระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นกำลังซื้อ ให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ไม่ใช่ไปสนับสนุนผู้ประกอบการ เพียงแต่ไม่ให้ยกเลิกการจ้างงาน  เราไม่สามารถให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มากหรือน้อยกว่ากันได้ เราดูตามความเหมาะสม เราดูแลคน 60 ล้านคน ดูทุกกลุ่ม คาดว่าเมื่อวัคซีนผลิตออกมาได้ก็พร้อมจะใช้ในประเทศและอาเซียนเพื่อควบคุมการระบาดได้ และเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวในกลางปีหน้า

“หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจไทยแย่ แต่ต้องติดตามอย่างเป็นธรรม จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยก้าวเดินขึ้นอย่างช้าๆ เพราะไปเร็วไม่ได้ ที่ลดลงก็ลดลงในอัตราที่ช้าลงกว่าเดิม แสดงว่าหลายอย่างเริ่มดีขึ้น แต่ถ้าถามพ่อค้า แม่ค้า ตลาดทั่วไป แน่นอนว่าคนออกมาน้อยลง นักท่องเที่ยวน้อยลงเขาต้องรายได้ตกแน่นอน แต่รัฐบาลมีมาตรการเสริมเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในระบบ วันนี้อยากให้ย้อนนึกไปเดือนเมษายนที่ผ่านมา ความรู้สึกตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกันหรือไม่ ผมไม่อยากกลับไปสู่เวลานั้นอีก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แต่ขณะนี้เราเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาประเทศ 41 คน มีการตรวจโควิด – 19 มาตรฐานของเรา เราเปิดประเทศได้แล้วครับแต่ต้องค่อยๆ แง้มไม่ผลีผลาม วันนี้ข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศพบว่ามีคนเสนอความต้องการเข้าประเทศไทยอีกเป็นพันเป็นหมื่นราย ซึ่งต้องมีการจัดเที่ยวบิน เจรจาและพูดคุยโดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะทำให้ประเทศเดินไปได้

“แต่การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ผมไม่โทษเขา แต่ผมโทษว่ามีอะไรหรือเปล่าผมไม่ทราบ หลายคนอาจทราบก็บอกผมด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อนในเรื่องความเชื่อมั่น เรื่องความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ บรรยากาศเศรษฐกิจปลายปีที่อาจดีขึ้นอาจถูกกดทับด้วยการเมืองที่เราจะต้องหาวิธีแก้ไขให้ได้ มีอีกหลายมาตรการผ่อนคลายอีกหลายอย่าง ถ้าไม่ฟังก็ไม่เข้าใจ โจมตีรัฐบาลเรื่อยไปเป็นเรื่องธรรมดา ผมรับได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 2.ห่วงเรื่องความแตกแยกในสังคมไทย โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวและความคิดเห็นต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ควรจะแยกออกจากกัน คือพ่อแม่ พี่น้อง ประเทศไทยเป็นครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่กันยาวนานในแผ่นดินนี้ เคยรักกัน เอื้อเฟื้อกัน เคยเคารพซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้รากฐานวัฒนธรรมอันดีงามแตกร้าวไปเพราะความไม่เข้าใจกันของคนแต่ละรุ่น

นอกจากนี้กลุ่มที่ถูกชักชวนในโลกโชเชี่ยลมีเดีย จะถูกจัดกลุ่มการใช้โซเชียลมีเดีย บันทึกเป็นอุปนิสัยว่านิสัยการเสพโซเชียลแต่ละคนเป็นอย่างไร จะมีกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางที่ไม่เคยรับข้อมูลใดมาก่อนเลย จะถูกป้อนข้อมูลเฉพาะทางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว จึงจำเป็นต้องมีสติปัญญา การตรวจสอบคัดกรอง ขอให้คนไทยทุกคนสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยเผชิญอยู่ เพื่อให้เข้าใจว่าคนกลุ่มใดไม่ว่าที่ใดก็ตามสามารถนำข้อมูลของกลุ่มคนเปราะบางไปปรุงแต่งความคิดของคนกลุ่มเปราะบางได้เสมอ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า  รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกกลุ่ม ยินดีรับฟังข้อเรียกร้องและพร้อมร่วมมือกันแก้ปัญหา แต่ต้องตระหนักว่าเราต้องไม่ไปลิดรอนสิทธิของคนอื่น รวมถึงความคิดความเชื่อที่แตกต่างของแต่ละคน ทั้งแง่มุมวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ค่านิยมและความศรัทธา ซึ่งทุกฝ่ายควรเข้าใจดีอยู่แล้ว

“การประชุมสภาครั้งนี้ผมเห็นด้วยหากจะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางที่เสนอในสภาตลอด 2 วัน นำไปสู่การพูดคุยหาทางออก นำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและฝ่ายที่เห็นต่างเพื่อนำมาสู่การปฏิบัติให้ได้ มิเข่นนั้นก็นั่งเปล่าๆ แล้วหามาให้ได้ว่าใครจะมาร่วม ผมกังวลอยู่ว่าจะไปเจรจากับใคร เพราะทุกคนเป็นหัวหน้าหมด อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่สอดคล้องกับคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ออกมาชุมนุมผมยินดีจะรับไปดำเนินการ ถ้าข้อเรียกร้องใดไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ผมขอสงวนสิทธิ์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ก็อยู่ในขั้นตอนและเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ตนก็สนับสนุนในฝ่ายบริหาร หน้าที่ใคร หน้าที่ใครก็ทำ ร่วมมือได้ก็ร่วมแต่ไม่ไปก้าวล่วง ตนไม่เคยคิดกับตำแหน่ง หลายท่านบอกว่าตนอยากอยู่นาน อยู่ยาว ก็ไปถามคนร่างรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเป็นธรรมกับตนบ้าง

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผมจะไม่ตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพื่อหนีปัญหา จะไม่ละทิ้งหน้าที่ในยามที่ชาติบ้านเมืองมีปัญหา เหมือนคนที่เพิ่งฟื้นไข้ หรือ เหมือนคนอื่นๆ ที่หนีปัญหา ในยามที่ทุกคนต้องช่วยกันประคับประคองให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมยังคงแก้ปัญหาที่รอรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ว่างงาน ช่วยเหลือ SMEs ดูแลสินค้าเกษตร บริหารจัดการน้ำ หลายคนบอกว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ใช้เงินอย่างเดียว ถามว่าถนน รถไฟ รถไฟฟ้าเกิดขึ้นสมัยไหน ก่อนหน้านั้นทำแค่ไหน มีกี่สาย มีกี่เส้น หนี้สาธารณะควรจะเพิ่มขึ้นแต่ประชาชนมีความสุขใช่ไหม เรามีกำลังที่จะดำเนินการได้ก็ทำ หนี้สาธรณะก็ไม่ต่างกัน คงสภาพ 41-43%  อย่าเอาตัวเลขมั่วๆ มาพูด วันนี้กู้เพราะโควิดมาดูแลประชาชน ผมไม่ได้บริหารงานอยู่บนหอคอยอย่างที่คิด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า การได้ชัยชนะกันท่ามกลางซากปะรักหักพังของบ้านเมืองคุ้มค่ากันหรือไม่ จะไม่เหลืออะไรอีกเลย สิ่งที่คาดหวังเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ จะไม่เหลือแม้แต่น้อยนิด สงสารลูกหลาน ประชาชน ที่ท่านว่าห่วงท่านรัก ท่านคิดถึงพวกเขาหรือเปล่า จะเอามาขับเคลื่อนทางการเมืองไปด้วย

“ขอขอบคุณประธานสภาและส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านและส.ว.ทุกคนที่เสนอความคิดเห็นและชี้แนะทางออกให้รัฐบาล เรื่องใดที่ทำและเป็นประโยชน์ รัฐบาลจะรับไปพิจารณา คนไทยอย่าทำอะไรที่เกิดความเสียหายให้กับบ้านเมืองและอย่าเอาต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการในประเทศไทย เรามีอธิปไตยของเราเอง มันอันตรายที่สุด เพราะเป็นช่วงของขั้วอำนาจ มันจะไม่ได้ปัญหาเฉพาะเราอย่างเดียว”