แก้รัฐธรรมนูญ : เปิด 7 ร่าง ปัจจัยชี้ขาด ร่างไหนจะผ่าน

อินไฟ กราฟิกแก้รัฐะรรมนูญ

17-18 พฤศจิกายน 2563 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญประจำครั้งที่สอง เพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วนกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง หลังจากถูกตัดจบกลางตอน

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี-แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แห่งพรรคประชาธิปัตย์ จับตามอง-ดักคอล่วงหน้าว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับในวาระแรก-ขั้นรับหลักการจะโหวตรับบางฉบับ-ไม่รับบางฉบับ

“ผมคาดการณ์ว่า แนวโน้มตอนนี้จะรับบางร่างและไม่รับบางร่าง ทำให้สังคมทั่วไปสับสนว่า ตกลงจะแก้หรือไม่แก้ หรือ จะแก้มากแก้น้อยแค่ไหนอย่างไรซึ่งตรงนี้ก็ต้องจับตา”

ก่อนจะ “ฟันธง” ว่า ถึงแม้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 แต่ต้องผ่านอีกถึง 3 ด่าน

ด่านที่หนึ่ง การทำประชามติ

ด่านที่สอง การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ด่านที่สาม-ด่านพิเศษ หลังจาก 48 ส.ว. กับ 25 ส.ส.ซีกพรรคพลังประชารัฐ นำทีมโดย “อดีต 40 ส.ว.” นายสมชาย แสวงการ ส.ว.และ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.พลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอำนาจ-หน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ในร่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 – ตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และร่างฉบับประชาชน หรือ “ฉบับไอลอว์”

ด่านที่สามจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า เมื่อ ส.ว. 48 คน กับ ส.ส.พลังประชารัฐ 25 คน “ลงชื่อ” ยื่นต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “อำนาจตัวเอง” ทำให้มี ส.ว.อย่างน้อย 48 คน และ ส.ส.พลังประชารัฐ อย่างน้อย 25 คน คาดว่าจะลงมติ “งดออกเสียง” เลวร้ายที่สุด คือ ลงมติ “ไม่เห็นด้วย” กับ 3 ร่าง ฯ ดังกล่าว

ขณะที่ยังมีอีก 1 พรรคการเมืองที่ “ออกตัวชัดเจน” ว่า “คัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” คือ “พรรคของลุงกำนัน” – พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี ส.ส. 5 เสียงอยู่ในมือ
ก่อนถึงฉากจบ-ภาคต่อของการแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการ ดังนี้

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติม “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ส.ส.+ส.ว.)

ขณะที่ “องค์ประชุม” ล่าสุดในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยที่ประชุมร่วมกันของสภา โดยไม่ลงมติเมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมามีสมาชิกสภาปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 732 คน แบ่งออกเป็น ส.ส.487 คน และ ส.ว.245 คน ดังนั้น “เสียงเห็นชอบ” ในวาระที่ 1 หรือ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” จึงเท่ากับ 366 เสียง

ขณะที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” รวมกันแล้ว 19 พรรค 276 เสียง ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 120 เสียง ภูมิใจไทย 61 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 และเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง

10 พรรคเล็ก พรรคละ 1 เสียง ประกอบด้วย ประชาภิวัฒน์ พลังไทยรักไทย ครูไทยเพื่อประชาชน ประชานิยม พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ พลังธรรมใหม่ ไทยศรีวิไลย์ ประชาธรรมไทย ไทรักธรรม

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ประกอบด้วย เพื่อไทย 134 เสียง ก้าวไกล 54 เสียง เสรีรวมไทย 10 เสียง ประชาชาติ 7 เสียง เพื่อชาติ 5 เสียง และพลังปวงชนไทย 1 เสียง บวกกับอีก 1 เสียง ของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (เศรษฐกิจใหม่)

  • ในจำนวนนี้ (366 เสียง) ต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นชอบด้วย “ไม่ต้องกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ ส.ว.84 เสียง
  • การพิจารณาในวาระที่สองขึ้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ให้ถือ “เสียงข้างมาก” เป็นประมาณ

ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ (ฉบับไอลอว์) ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ “สิบห้าวัน” เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญ “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน) ประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย “ไม่น้อยกว่าร้อยละสี่ยิบ” ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วย “ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ดังนั้น “ความยาก” ของ “วาระสุดท้าย” ต้องลุ้นกันถึง 3 ชอต

  • ชอตที่ 1 ต้องมีเสียงเห็นด้วยจากทั้งส.ส.-ส.ว. “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” หรือ 366 เสียง
  • ชอตที่ 2 ต้องมีเสียงเห็นชอบ ส.ส.ฝ่ายค้าน ประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร “ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ” ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน
  • ชอตที่ 3 ต้องมีเสียงเห็นด้วยของ ส.ว. “ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม” หรือ 84 เสียง
    นายคำนูณ สิทธิสมาน “ส.ว.เสียงข้างน้อย” ยกมือโหวตล่วงหน้า-รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ 3 ร่าง โดยเห็นว่า 1.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และ 2.ไม่ขัดคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ของศาลรัฐธรรมนูญ

“ผมรับหลักการในร่างที่ 1 ร่างที่ 2 และร่างที่ 4 ตัดอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภาออก ส่วนร่างที่ 6 ระบบการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ยังคงไม่ลงตัวนัก จะบัตรใบเดียว บัตรสองใบ เพราะมีส่วนได้ ส่วนเสียของพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างกัน”

เมื่อมีการลงมติเห็นชอบวาระที่สามแล้ว ให้รอสิบห้าวัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 จึงพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ว่าจะจบแบบ happy ending หรือ โศกนาฏกรรม

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรครัฐบาล-ฝ่ายค้าน และฉบับประชาชาชน จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายวิรัช รัตนเศรษฐกับคณะ เป็นผู้เสนอ)

3. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
4.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 259 และยกเลิกมาตรา 272 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

5. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 279 (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

6. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม (นายสมพงษ์กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

7. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยกเลิกมาตรา 65 มาตรา 88 มาตรา 203 มาตรา 217 มาตรา 270 มาตรา 272 มาตรา 275 และมาตรา 279

และยกเลิกหมวด 16 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 มาตรา 159 วรรคแรก มาตรา 162 วรรคแรก มาตรา 252 วรรคสอง มาตรา 256 และมาตรา 269 และเพิ่มหมวด 17 (นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือ ฉบับไอลอว์เป็นผู้เสนอ)