รวมดราม่า ม็อบที่ SCB แกงสถานที่ มีคนเจ็บ แบงก์เป็ดผิดกฎหมาย?

ดราม่าม็อบ

การนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ นับว่าเป็นการชุมนุมที่มีดราม่าตั้งแต่ต้นจนจบ และกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ต่อเนื่องข้ามวัน 

แกงสถานที่ชุมนุม

แกงหม้อใหญ่ของม็อบ 25 พ.ย. คือเรื่องสถานที่นัดชุมนุม ซึ่งเดิมแกนนำคณะราษฎร 63 ประกาศว่าจะจัดที่ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องขอความร่วมมือให้สถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง หยุดการเรียนการสอน เช่น โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ขณะที่บริเวณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือ วังแดง ทั้งด้านถนนพิษณุโลก ถนนราชสีมา และถนนลูกหลวง ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นเขตพระราชฐาน ได้มีการนำลวดหนามมาทำแนวกั้นไว้ตลอดริมกำแพง ทุกด้าน

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เผยว่า ตำรวจเตรียมกำลังไว้ดูแลความสงบเรียบร้อยรวม 9 กองร้อย 3 ผลัด ตลอด 24 ชั่วโมง และกองร้อยควบคุมฝูงชนหญิงอีก 1 กองร้อย เพราะบริเวณจุดดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนใกล้เขตพระราชฐาน และสถานที่สำคัญต่างๆ

ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เท่านั้น แม้กระทั่งผู้สื่อข่าวเอง หลายสำนักข่าวก็ได้รายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อให้เข้ากับกระแส

แต่สุดท้าย เมื่อเวลา 22.26 น. คืนวันที่ 24 พ.ย. ก็ได้มีการแจ้งเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมกระทันหัน จากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แทน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อลดการปะทะจากม็อบจัดตั้ง

#รถติด ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์

สืบเนื่องจากการเตรียมความพร้อมรับมือม็อบที่เดิมนัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นแบริเออร์ปิดกั้นเส้นทางต่างๆ ได้แก่ บริเวณสะพานมัฆวาน ตลอดแนวถนนราชวิถี แยกซังฮี้ ถนนสามเสน เทเวศร์ แยกอุภัยฯ แยกเสาวนีย์ หน้าธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งหน้าเทเวศร์ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ มุ่งหน้าวังแดง แยกเทวกรรม แยกสะพานขาว (ตามการรายงานผ่านเพจเฟซบุ๊กของ “วาสนา นาน่วม” ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคง)

จากเพจเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam

แน่นอนว่าการปิดกั้นเส้นทางหลายแห่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางในช่วงเช้า ทำให้โซเชียลพากันพิมพ์ข้อความบ่นเรื่องการจราจรอัมพาต จนแฮชแท็ก #รถติด ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์

ตู้คอนเทนเนอร์ติดโลโก้ชิปปิ้งยักษ์ใหญ่

ดราม่าที่ลุกลามไปถึงบริษัทชิปปิ้งยักษ์ระดับโลก คือภาพตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีโลโก้ของบริษัทชิปปิ้งดัง MAERSK ถูกนำไปวางปิดถนนเพื่อสกัดม็อบ

 

ภาพจาก มติชน

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวไทยจำนวนมากได้เข้าไปรีพลายทวีตของบริษัท MAERSK ในทวิตเตอร์ พร้อมกับถามว่าทำไมตู้คอนเทนเนอร์ ของ MAERSK จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดการกับการชุมนุมในประเทศไทย ขณะที่บางส่วนถาม MAERSK ว่า บริษัท MAERSK สนับสนุนเผด็จการในประเทศไทยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอาจเป็นตู้คอนเทนเนอร์ปลดระวางที่ถูกขายออกมายังคนกลาง และรัฐบาลอาจไปเช่าหรือซื้อต่อมาเพื่อใช้ในการปิดถนนดังกล่าว ขณะที่ต่อมามีรายงานว่าเริ่มมีเจ้าหน้าที่รัฐนำสีมาทาปิดทับโลโก้บนตู้คอนเทนเนอร์แล้ว

ล่าสุด MAERSK ได้ออกมาชี้แจงผ่านทวิตเตอร์แล้วว่า ทางบริษัทได้เห็นภาพตู้คอนเทนเนอร์ของ MAERSK ถูกนำมาใช้เป็นสิ่งกีดขวางกิจกรรมในประเทศไทยบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งบริษัทแจงว่า ตู้ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในการครอบครองบริษัท แต่ได้ขายออกไปยังตลาดให้บุคคลที่ 3 แล้ว และทางบริษัทจะพิจารณาเรื่องมาตราการเพิ่มเติมต่อการขายตู้คอนเทนเนอร์ในอนาคต

แบงก์เป็ดเจ้าปัญหา

ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ 1 วัน ทางเพจเฟซบุ๊ก คณะราษฎร โพสต์ข้อความระบุว่า ในการชุมนุม จะมีการใช้ธนบัตรจำลอง (เอกสารคล้ายธนบัตร) ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษ ประเดิมแจกจำนวน 3,000 ใบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมนำไปใช้ซื้ออาหารกับ CIA (พ่อค้าแม่ค้าที่นำอาหารเข้าไปขายในม็อบ) ข้อความดังนี้

ธนบัตรของราษฎร พร้อมประกาศใช้แล้ว 25 พฤศจิกายน 2563 ประเดิมแจกหน้าสำนักงานทรัพย์สิน 3000 ใบ เพื่อช็อปปิ้งกับเหล่า CIA

ปล.สามารถใช้ซื้อของกับร้าน CIA ที่ร่วมรายการ และใช้ได้จริงตามมูลค่าหน้าธนบัตร

ทางเพจฯ คณะราษฎร ยังได้โพสต์ภาพธนบัตรจำลองดังกล่าว ซึ่งใช้แทนคูปอง มูลค่า 10 บาท ตรงกลางเป็นภาพเป็นเหลืองสวมมงกุฎ คาดว่าเป็น “กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์” ที่สวมมงกุฏสีทอง พร้อมแขวนเหรียญรูป “เพนกวิน”

ส่วนด้านซ้ายเป็นภาพหมุดคณะราษฎร 2563 ด้านล่างมีข้อความว่า คณะราษฎร เงินของราษฎรได้มาโดยใช้แรงงานเข้าแลก ขณะที่ด้านขวาเป็นภาพนกพิลาบสีขาวกางปีกเหนืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีข้อความด้านล่างว่า ข้าพระพุทธเจ้า ราษฎรอิ่มแก๊สน้ำตาและนำสารเคมีจจากภาษีประชาชน ด้านบนขวาเขียนว่า ธนบัตรนี้ใช้ซื้อของร้าน CIA ได้

เมื่อเข้าสู่วันที่ 25 พ.ย. ก่อนที่กลุ่มราษฎร 63 จะเริ่มชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ในเวลา 15.00 น. แนวร่วมกลุ่มราษฎร 63 ได้นำธนบัตรจำลองดังกล่าวมาโชว์สื่อมวลชน ก่อนแจกจริงให้กับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ทั้งหมด 3 พันใบ มูลค่า 3 หมื่นบาท มีเงื่อนไขว่าใช้ได้เพียงวันเดียวเท่านั้น

วิธีการแจก เดิมจะแจกบริเวณเวทีปราศรัยคนละ 4 ใบ หรือ 40 บาท แต่เมื่อประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก จึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพราะส่วนใหญ่อยากได้เป็นที่ระลึกมากกว่านำไปใช้

ศรีพูดเรื่องแบงก์เป็ด
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ศรีสุวรรณ จรรยา

กระทั่งวันนี้ (26 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้ว่า

ตามที่กลุ่มคณะราษฎร นัดรวมตัวชุมนุมหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้ผลิตธนบัตร หรือ แบงก์เป็ด 3,000 ใบ มูลค่าใบละ 10 บาท แจกจ่ายกับผู้ชุมนุมให้ไปใช้ได้กับร้านค้าร่วมรายการ 10 กว่าร้านนั้น

การผลิต การจ่ายแจก หรือนำออกมาใช้ซึ่งธนบัตรเป็ดดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งผู้ผลิต ผู้จ่ายแจก ผู้นำไปใช้ และร้านค้าผู้รับธนบัตรดังกล่าว ใน 3 ความผิดคือพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ในมาตรา 9 ได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ คือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240  ที่บัญญัติว่า ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 400,000 บาท

ส่วนผู้ที่นำธนบัตรเปิดออกใช้จ่ายก็มีความผิดตาม มาตรา 244  ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใด ๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 300,000 บาท ดังนั้น การผลิตและนำออกมาจ่ายแจกให้ผู้ชุมนุมและร้านค้าใช้ธนบัตรเป็ด จึงเข้าข่ายความผิดทั้งหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถดำเนินการจับกุมดำเนินคดีได้ทันที

หลังนายศรีสุวรรณโพสต์ข้อความดังกล่าว ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า หากการแจกแบงก์เป็ดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นการแจกคูปองส่วนลดหรือบัตรกำนัลของร้านค้าต่างๆ ก็น่าจะเป็นความผิดเช่นกัน เหตุใดนายศรีสุวรรณจึงไม่ร้องเรียนเรื่องนี้บ้าง

ด้าน ข่าวสด รายงานว่า จากการสอบถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกลุ่มไลน์ ที่ทางสื่อสารองค์กร ธปท. ได้เปิดไว้ให้สื่อมวลชน ฝากคำถามไปถึงผู้บริหาร ซึ่งที่ผ่านมาให้ความร่วมมือในการตอบเป็นอย่างดีนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามประเด็นดังกล่าวไปตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า “แบงก์เป็ดในทางกฎหมาย สามารถทำได้หรือไม่” เนื่องจากมีการนำมาใช้แลกเปลี่ยนเสมือน ธนบัตร แต่มีการจำกัด มีมูลค่าเฉพาะพื้นที่ในการใช้ หรือ ตามความเห็น ธปท. พิจารณาว่า แบงก์เป็ด เข้าข่ายเป็น การปลอมแปลงธนบัตร หรือไม่อย่างไรนั้น

ปรากฏว่า จนถึงเวลา 12.30 น.ของวันที่ 26 พ.ย. ไม่มีเจ้าหน้าที่ หรือ ผู้บริหาร ธปท. ในฐานะกำกับดูแลเรื่องนี้ ออกมารับคำถามหรือให้ความเห็นแต่อย่างใด จึงทำให้สังคมเกิดความสับสนว่า การกระทำลักษณะนี้ ทำได้หรือไม่ หรือ ขัดกฎหมายหรือไม่

การ์ดถูกยิง!

หลังประกาศยุติการชุมนุม เมื่อเวลา 21.20 น. ระหว่างที่มวลชนทยอยเดินทางกลับ ได้เกิดเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด และมีการปาระเบิดปิงปอง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน

ทวิตเตอร์การ์ดภาคีเพื่อประชาชน รายงานเหตุการณ์ว่า คนโดนยิงที่เป็นการ์ด คือ นายวันชัย อารีย์ อายุ 25 ปี โดนยิงเข้าที่ท้อง ถูกส่งตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 อาการสาหัส ส่วนคนยิงคือ นายพายัพ เขียววิลัย อายุ 31 ปี ถูกส่งตัวไปที่ ร.พ.เซนต์หลุยส์ เจ็บหนักเหมือนกัน ขณะที่คนปาระเบิดยังจับไม่ได้ ใส่หมวกกันน็อกสีขาวเต็มใบ

มติชนรายงานอ้างข้อมูลจาก การ์ดภาคีเพื่อประชาชนว่า ผู้ยิงนั้นเจ็บหนักจากการโดนประชาชนรุมกระทืบ

ล่าสุด วันนี้ (26 พ.ย. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า ได้ให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลรวบรวมสืบสวนหาพยานหลักฐานอยู่ และมอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้แถลงรายละเอียด และจะมีการสรุปแล้วรายงานมาให้ทราบอีกครั้ง

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก สน.พหลโยธินว่า หลังจากยุติการชุมนุมแล้ว ได้เกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน และโยนประทัด หรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดใส่กัน

จากนั้นกลุ่มผู้ที่ทะเลาะวิวาทกัน 2 กลุ่ม ได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ขณะนี้อยู่ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลพระราม 9

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า มีภาพจากกล้องวงจรปิดและคลิปจากผู้สื่อข่าว และประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น บันทึกภาพไว้ ทั้งนี้ยืนยันว่า ผู้ก่อเหตุทั้ง 2 กลุ่ม เป็นการ์ดของกลุ่มราษฎร ทะเลาะกันด้วยเรื่องงานใน SCB ไม่ได้มีกลุ่มอื่นเข้ามาแฝงตัวแต่อย่างใด

ที่มา #แจงรายจ่ายม็อบด้วยจ้า

หลังการ์ดราษฎรได้รับบาดเจ็บ ชาวเน็ตพากันตั้งคำถามว่า มีการนำเงินบริจาคไปใช้ทำอะไรบ้าง เหตุใดจึงไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวให้การ์ด จนเกิดแฮชแท็ก #แจงรายจ่ายม็อบด้วยจ้า ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

ต่อมา ที่เฟซบุ๊ก ปกรณ์ พรชีวางกูร ผู้ประกาศตัวเป็นนายทุนสนับสนุน “ม็อบ” ได้โพสต์ข้อความยืนยันว่า ไม่ขอแจงรายละเอียดว่าเรื่องเงินแม้แต่บาทเดียว ว่านำไปใช้ในส่วนใดบ้าง พร้อมย้ำว่า เพียงคนที่ทำงาน รู้เท่านั้นพอ

โดยตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม เป็นต้นไป จะขอลดบทบาทในเรื่องของการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ โดยจะเหลือเพียงการดูแลผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม

ส่วนกระแสดดราม่าหลังมีการ์ดราษฎร ที่เป็นกลุ่มอาชีวะ ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะเมื่อวานนี้ (25 พฤศจิกายน) “ปกรณ์” ระบุว่า ตนได้พยายามจะเสนออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการป้องกันตัวให้กลุ่มอาชีวะหลายกลุ่ม แต่ก็ถูกปฎิเสธ โดยมีการยืนยันว่า ชอบที่จะแสดงตัวตนผ่านเสื้อช็อปประจำสถาบัน และได้เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ซึ่งตนก็ได้เปลี่ยนเป็นสนับสนุนอุปกรณ์เสริมอย่าง วิทยุสื่อสาร หรือ “วอ” เกือบร้อยกว่าชิ้น

สำหรับเรื่อง “ตุ๊กตาเอเลี่ยนสีเขียว” ที่มีราคาอยู่ที่หลักหมื่น จนเกิดเป็นดราม่าอีกเช่นกัน “ปกรณ์” ระบุว่า มีคนที่สนับสนุนเข้ามา เพื่ออยากโปรโมทแบรนด์ ซึ่งขณะนี้มีสินค้าหลายแบรนด์ที่ฝากให้ “ปกรณ์” และ นางสาวอินทิรา เจริญปุระ หรือ “ทราย เจริญปุระ” ทำการโฆษณาให้เวลามีการจัดการชุมนุม แต่ทั้งนี้ ตนก็เลือกเฉพาะสินค้าที่เป็นประโยชน์กับผู้ชุมนุมเท่านั้น