วิรัช : คุมหางเสือแก้รัฐธรรมนูญ “ม็อบราษฎรทำลายรัฐบาล-รัฐสภาไม่ได้”

วิรัช รัตนเศรษฐ
วิรัช รัตนเศรษฐ
สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

ปมร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นโครงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังเข้าสู่โค้งสำคัญ

เพราะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) 45 คน จาก ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อวางโครงสร้าง รูปร่าง-หน้าตาสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กำหนดวิธีการ ระยะเวลา ไปถึงการทำประชามติ

ภายหลังรัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคฝ่ายค้าน กลับเตะร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่ผ่านการเข้าชื่อของประชาชน 9 หมื่นชื่อจนพ้นทางเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาลในห้องทำงานหลังบัลลังก์ประธานรัฐสภาผู้ถูกรับเลือกให้เป็นประธาน กมธ. คุมเกม-คุมหางเสือการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ล้วงโฉมหน้าของ ส.ส.ร.ในอนาคตจะออกมารูปแบบไหน

ลุ้น ส.ว.โหวตรัฐธรรมนูญ

อันดับแรก “วิรัช” ในฐานะประธาน กมธ.ย้อนความหลังก่อนที่รัฐสภาจะรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถึงช่วงที่ระทึกใจที่สุด ยากที่สุด

“ก่อนรับหลักการวาระแรกเป็นช่วงยากลำบากที่สุด ทำอย่างไรให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านขั้นรับหลักการ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่าต้องมี ส.ว.รับรอง 1 ใน 3 ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนใจ ส.ว.จึงจำเป็นต้องตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนรับหลักการ เสียดายที่ฝ่ายค้านไม่ร่วม ถ้าฝ่ายค้านร่วม กมธ.ก็จะได้พิจารณารับฟังความคิด ส.ว. แต่ถ้าไม่ตั้ง กมธ.ศึกษาก่อนรับหลักการเชื่อว่าไม่ได้โหวตเพราะถ้าโหวตจะแพ้ ส.ว.ไม่โหวตให้”

เพราะเราทำแนวทางให้สมาชิกไปตัดสินว่าจะเลือก A B C D สุดท้าย ส.ว.ก็โหวตอันนี้เอา อันนี้ไม่เอา เพราะเราทำแนวทางให้ ส.ว.ตัดสินใจ โชคดีที่แนวทางที่เราวางให้เขา ทำให้ ส.ว.เลือกร่างของรัฐบาล 160 เสียง เมื่อรวมกับ ส.ส.แล้วก็รวมเป็น 600 กว่าเสียง

“วันนั้นผมคิดว่าได้เสียงเกินครึ่ง แต่ไม่คิดว่าจะได้เสียง ส.ว.ถึง 160 เสียง แต่ถ้าเผื่อวันนั้นไม่มีการตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการ ถ้าโหวตตกแล้วจะเป็นอย่างไร บางคนบอกว่าเสียมากกว่าได้ วันนี้ผมบอกว่าได้มากกว่าเสีย ผมยอมเสียเวลามานั่งพิจารณา 1 เดือน”

เสียงส่วนใหญ่ตัดสินหน้าตา ส.ส.ร.

แต่เมื่อเสียงรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่างผ่านขั้นรับหลักการ เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญยังต้องหาสูตรที่ “ลงตัว” ในชั้น กมธ.โดยเฉพาะโครงสร้างของ ส.ส.ร.

“เราต้องยึดร่างที่รับมาจากรัฐสภา เช่น ส.ส.ร. 150 คนมาจากการเลือกตั้ง สรรหา 50 คน ในขั้นการพิจารณาเกิดมีความเห็นต่างกัน บางคนบอกว่าต้องการเลือกตั้ง 200 คน สุดท้ายต้องมาชี้ขาดการที่ลงมติ นี่คือการชี้ขาดว่า กมธ.พิจารณาแล้ว เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่มีตรงนี้ ถ้าไม่เห็นด้วยก็สงวนคำแปรญัตติมาพูดในสภาอีกรอบ สุดท้ายถ้าสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องออกไปตามนั้น”

ส.ส.ร.ยังไม่ใช่จุดชี้ขาดอย่างเดียว ยังมีอีกหลายจุด แต่คงไม่ผิดไปจากร่างที่พิจารณาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน หลักการและเหตุผลเป็นไปตามนั้น อาจเปลี่ยนถ้อยคำบางคำที่คิดว่าไม่เหมาะสมก็ตัดออกหรือเพิ่ม

ส่วนโอกาสที่ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง 100% ตามร่างไอลอว์ และ
ฝ่ายค้านมีโอกาสได้หรือไม่ “วิรัช” บอกว่า “ผมตอบแทนคนใน กมธ.ไม่ได้เพราะต้องลงมติ อยู่ที่เสียงส่วนใหญ่”

ถามค้าน “วิรัช” ว่าเสียงส่วนใหญ่ฝ่ายรัฐบาลกับ ส.ว.รวมกัน 32 เสียงมากกว่าฝ่ายค้านที่มีอยู่ 13 เสียง ถือว่าคุมเกมการร่างได้ไหม เขาตอบว่า

“ผมไม่คิดว่าเสียงของ ส.ว.จะให้เราหมด และเสียงฝ่ายรัฐบาลจะให้เราหมด อยู่ที่เหตุผลของแต่ละเรื่อง จากนี้ไปจะเป็นท่วงทำนองที่ต้องลงในรายละเอียด การรอมชอม คุยกัน แต่ทุกอย่างไม่ได้ 100% บางอย่างได้แค่ 80% แต่ถ้าไม่คุยกันอาจจะเหลือแค่ 50% ต้องรอมชอม คุยกันไป ตามประสบการณ์ที่เคยทำกฎหมายใหญ่ ๆ มาแล้ว บางครั้งก็ต้องคุยกันในรอบ นอกรอบ”

แล้วคิดว่าประเด็น ส.ส.ร.จะเป็นสายล่อฟ้าไหม ? วิรัชใช้สิทธิถามกลับ ระหว่าง ส.ส.ทั้งหมดกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ บัญชีรายชื่อมาจากไหน…ก็มาจากบัญชีพรรค เราลอกโมเดลจากปี 2540 ที่ว่าดี เอาล่ะ บางแห่งได้ผู้นำไร่อ้อยทั้งหมด บางแห่งได้ผู้นำไร่มันทั้งหมด แล้วเราจะเริ่มร่างกันตรงไหน ถ้าเผื่อใน 200 คนผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคยร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเลย แล้วเราจะเริ่มต้นกันอย่างไร เราไม่ได้ปรามาสเขานะ

“หรือต่อไปไม่ต้องมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยไหม เลือกตั้ง ส.ส.ทั้งหมดเลย พรรคการเมืองไหนเสียหาย พรรคพลังประชารัฐไม่ได้เสีย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 14-15 คน พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากสุดคือพรรคไหน… แล้วได้ ส.ส.เขตที่เลือกตั้งตรงจากประชาชนมาเท่าไหร่ ถ้าชอบแบบนี้ทำไมไม่ทำแบบนี้ ก็มีตรรกะให้ชวนคิด ถ้าเหตุผลต้องมาจากประชาชนทำไม ส.ส.ไม่มาจากเลือกตั้งทั้งหมดล่ะ”

ร่างพิมพ์เขียวให้ ส.ส.ร.

“ที่คิดว่าหน้าตา ส.ส.ร.จะเป็นสายล่อฟ้า แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่หรอก จะเป็นประเด็นที่หลังเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาแล้ว มีอำนาจทำอย่างไร จะเว้นหมวด 1หมวด 2 โดยที่ ส.ส.ร.ไม่ได้มาแตะอย่างไร พระราชอำนาจอีก 38 มาตรา จะทำอย่างไรที่ไม่ให้ ส.ส.ร.มาแตะตรงนี้ ถ้าหากทำได้ก็ยิ่งดี”

เป็นบลูปรินต์ของ ส.ส.ร.ได้ไหม ? วิรัชตอบว่า ก็คิดว่าจะต้องเขียนอย่างนี้ ว่าควรจะต้องทำแบบนี้ แต่ตอนนี้ยังเป็นแนวคิดของผมแค่คนเดียว

จุดที่จะทำให้รัฐธรรมนูญตกหรือไม่ตก คือ หมวด 1 หมวด 2 พระราชอำนาจอีก 38 มาตรา อะไรที่มีบทเฉพาะกาลอยู่ก็คาบทเฉพาะกาลเอาไว้ วันนี้บทเฉพาะกาลผ่านมา 2 ปีแล้ว กว่าจะมีรัฐธรรมนูญก็ผ่านไป 3-4 ปี ก็เหลืออีก 1 ปี บางครั้งเราแก้เยอะแต่ไม่ได้ กับแก้พอดี ๆ แล้วผ่าน อันไหนว่าจะแก้ได้มากกว่ากัน บางครั้งน้ำครึ่งแก้วยังดีกว่าไม่มีเลยในแก้ว การแก้ได้ 4-5 ประเด็น ยังดีกว่าไม่ได้แก้สักประเด็น

อย่างไรก็ตาม “วิรัช” ให้ชวนติดตามในวาระที่ 3 อันเป็นด่านสุดท้ายที่ต้อง “ขอแรง” ส.ว.อีก 82 คนในการโหวตเช่นเดียวกับวาระแรก ถึงบอกว่าการทำงานต้องประสานทุกฝ่ายในจุดที่เพียงพอ เป็นเรื่องท้าทาย ก็เหมือนกับเด็กทำการบ้าน ให้เด็กลองทำมาก่อน อย่าเพิ่งไปลงโทษ ถ้าเด็กทำการบ้านมาดีแล้วก็ส่งครูใหม่”

ย้ำฟังเสียงนอกสภา

ถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องรับฟังเสียงภายนอกสภาหรือไม่ “วิรัช” ตอบให้คิดตามว่า ถ้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วฟังแต่เสียงข้างนอก ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับหลักการของกฎหมายจะทำอย่างไร ผ่านมาเยอะแล้ว นั่ง ๆ อยู่หอบปืนวิ่งผ่านก็มี ปีนรั้วหนีก็มี นอนค้างสภาก็มี อย่างม็อบจะล้อมสภากี่วันก็ออกได้แล้วม็อบจะล้อมอะไร

แปลว่าปิดประตูไม่ฟังเสียงข้างนอกใช่หรือไม่ ? เขาตอบกลับว่า อะไรที่เป็นเหตุผลก็ต้องฟัง ที่ไม่เป็นเหตุผลจะฟังทำไม แก้ทั้งหมวด 1 หมวด 2 ปฏิรูปสถาบัน เราต้องฟังด้วยไหม…แต่ถ้าเป็นเรื่อง ส.ส.ร.เราก็ต้องฟัง แต่ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่จะตัดสิน เพื่อสุดท้ายจะได้นำเสนอต่อรัฐสภา ถ้าสภาเห็นด้วยกับ ส.ส.ร.เลือกตั้ง 200 คน ก็เอาเลือกตั้ง 200 แต่ถ้าสภาไม่เอาก็เอาร่างเดิม แต่เรานำเสนอ

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกวางกรอบห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 และบทเฉพาะกาลอาจคงไว้ยังเหลืออะไรให้ ส.ส.ร.แก้ เขาตอบว่า “เยอะแยะเลย เช่น หมวดการเลือกตั้ง หมวดทั่วไปบางเรื่องที่ต้องแก้ ยังมีอีกหลายหมวด”

ไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญ

วิรัชนับนิ้วคำนวณระยะเวลาแก้รัฐธรรมนูญไว้คร่าว ๆ ว่า การพิจารณาจะเสร็จในชั้น กมธ.ราวกลางเดือนมกราคม

“สมมุตินัดสุดท้าย กมธ.ประชุมเสร็จวันที่ 14 มกราคม ก็ต้องส่งไปพิมพ์อีกสัปดาห์หนึ่งจะถึงประธานสภาอาจเป็นวันที่ 21 มกราคม และประธานยังมีอำนาจบรรจุวาระอีก 15 วัน มองดูแล้วจบในสมัยประชุมนี้ที่จะสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์แน่นอน พอเสร็จจากตรงนี้แล้วไม่ใช่หน้าที่ผมแล้ว”

ม็อบล้มรัฐบาลไม่ได้

ช่วงสุดท้ายก่อนการสนทนาจบลง ชวน “วิรัช” ในฐานะผู้คุมเสียงฝ่ายรัฐบาลประเมินว่าจะเกิดเหตุไม่คาดฝันกับรัฐบาลหรือไม่ ในจังหวะที่ม็อบราษฎรรุกไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขาตอบทีเล่นทีจริงว่า

“ไม่รู้…วันนี้ยังไม่รู้ว่าเกิดเหตุอะไรในอนาคต นักการเมืองก็อยู่เขตเลือกตั้ง ลงพื้นที่บ่อย ๆ”

“ตั้งแต่ผมรับหน้าที่เป็นประธานวิป หลังเลือกตั้งจนถึงวันนี้ 1 ปีก็ผ่านไป นี่ผ่านไปปีครึ่ง ปีหน้าก็ 2 ปีแล้ว มีเหตุการณ์ระทึกตลอด หัวใจก็สูบฉีดตลอดช่วงที่บีบหัวใจที่สุด คือ เสียงสูสีกับฝ่ายค้าน”

“คิดแค่วันนี้ พรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ปีต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็อยู่อย่างนี้ เพราะรัฐบาลจะพ้นไปก็เพราะเสียงในสภาไม่ผ่านกฎหมายที่สำคัญ อาจเกิดความขัดข้องบางคนเห็นซ้าย บางคนเห็นขวา”

“ส่วนนอกสภาปี 2553 รุนแรงมากกว่านี้เยอะ ตอนนั้นตำรวจเอาไม่อยู่ ทหารต้องออกมา มีระเบิด พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ยังเสียชีวิต ยังจำภาพเหตุการณ์เหล่านั้นได้หรือไม่ เสธ.แดงโดนยิงโดยสไนเปอร์ มีเสื้อแดงถูกยิง ขนาดนั้นหนักกว่าปัจจุบัน 10 เท่า ดังนั้น องค์กรภายนอกไม่สามารถทำลายสภาได้”

“หรือตอนสมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ที่ไม่ได้เข้าทำเนียบ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค แต่สถานการณ์วันนี้มีการชุมนุมก็ปล่อยให้เขาเล่นไป”

แล้วกรณี 2 ธันวาคมที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาการที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังอาศัยอยู่บ้านพักราชการ เข้าข่ายขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจทำให้หล่นจากเก้าอี้นายกฯหรือไม่ ?

“ไม่เป็นประเด็นถึงขนาดนั้น ในใจของผมนะ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่หลังจากนี้จะมีอะไรอีกก็ไม่รู้ แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด”

ถามคำถามสุดท้ายว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะอยู่ได้หรือไม่ได้เพราะอะไรบ้าง ?

“อุ๊ย…ถามลึกอะไรขนาดนั้น ตอบไม่ได้หรอก” (หัวเราะ)