ประยุทธ์ ลุ้นพ้นมลทิน 2 ธ.ค. คดีที่ 3 ในศาลรัฐธรรมนูญ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
REUTERS/Athit Perawongmetha

วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 กลางสัปดาห์นี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีสำคัญ ชี้เป็น – ชี้ตายตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

จากกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

คำร้องดังกล่าวเป็นกรณีที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยกับคณะ เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลง อาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก “ยังอยู่บ้านพักทหาร” ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์การพักอาศัย เพราะ “เกษียณอายุราชการไปแล้ว” ซึ่งอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์

เสียงลือ เสียงเล่าอ้างดังทั่วกระดานการเมืองว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่จะถึงนี้อาจเป็น “ทางลง” หรือ “บันไดหนีไฟ” การเมืองให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ลงจากตำแหน่งอย่างสวย ๆ ภายหลังถูกม็อบราษฎรรุกไล่แรมเดือน

หรือ “พล.อ.ประยุทธ์” จะพ้นมลทินจากคดีการเมืองที่ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีกคดีเป็นคดีที่ 3 ต่อจาก 2 คดีแรก ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” มีคดีต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา มาก่อนหน้านี้

คดีแรกเกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนนำ ครม.ทั้งคณะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562

แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า 25 กรกฎาคม 2562 “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ขณะนั้นยังเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ข้อหารือกรณีคลิปข่าวพระราชสำนัก ปรากฏถ้อยคำที่ “พล.อ.ประยุทธ์” กล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นประเด็นขึ้น

ต่อมา 20 สิงหาคม 2562 นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนอาจขัดรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่น การตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วย

27 สิงหาคม 2562 มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า แม้มีคำชี้แจงจากนายกฯ ว่าได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตามกระบวนการขั้นตอนแล้ว แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายกฯ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วน “จึงเป็นการกล่าวถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติใด ของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” อันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามไปด้วย รวมทั้งปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิ”

กระทั่ง 11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดี โดยศาลมีมติเอกฉันท์ “ไม่รับคำร้อง” โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายกฯนำ ครม.เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ

“หลังกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกฯ และ ครม.ได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม นายกฯพร้อม ครม.เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด” เอกสารคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ขณะที่ด้านนอกศาลรัฐธรรมนูญ จบลงตรงที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดอภิปรายไม่ลงมติ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 และเรื่องถวายสัตย์ไม่ครบก็จบตรงจุดนั้น

ในวันที่สภาอภิปรายเรื่องถวายสัตย์ฯ ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง เป็นเวลาเดียวกับที่ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดีที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ อันเป็นคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่

เพราะช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นหัวหน้า คสช. ถือเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไม่อาจลงสมัครเลือกตั้งได้ตั้งแต่ต้น

โดยศาลวินิจฉัยว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และ มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นหัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับหน่วยงานราชการ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

“ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญอาศัยเหตุผลดังกล่าว ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

พล.อ.ประยุทธ์ รอดมาแล้ว 2 คดี และคดีอาศัยบ้านพักทหาร เที่ยวนี้จะรอดพ้นเป็นคดีที่ 3 หรือไม่ คอการเมืองรอคอยห้ามกระพริบตา!