“นฤมล” รัฐมนตรีตำแหน่งพิเศษ ‘ประวิตร คือ บิ๊กดาต้า ปั้นสถาบันพลังประชารัฐ’

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เป็น “ผู้หญิงคนเดียว” ในพรรคพลังประชารัฐ ที่โดดเด่น-ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในพรรค-เสนาบดีหญิงกระทรวงแรงงาน

เป็น ส.ส.หญิงอันดับแรกในบัญชีพลังประชารัฐ พ่วงเหรัญญิกพรรค ทะลุทุกอันดับ-กลุ่มก๊วนขึ้นมายืนแถวหน้า

เป็น “นักการเมืองหญิง” ที่สปอตไลต์สาดส่อง ในตึกนารีสโมสร

และกำลังจะสะกดทุกลมหายใจ “คนชั้นแรงงาน”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เปิดใจเธอ” ทุกคำถาม-ได้คำตอบ

ภารกิจจับกัง 2

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นยูนิตที่สำคัญมาก แต่ในอดีตไม่ได้รับบทบาท ซึ่งท่านนายกฯให้ความสำคัญ เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ประการแรก สร้างงานฝีมือคุณภาพ ตรงความต้องการของนายจ้าง เช่น อุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

ประการที่สอง ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้ค่าจ้างสูง เช่น ช่างเชื่อมอัตโนมัติ โดยจะนำแรงงานที่สนใจและมีทักษะเบื้องต้นมาฝึกและทดสอบมาตรฐานฝีมือ ซึ่งบริษัท ซิโนเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น พร้อมรับเข้าทำงานทันที อย่างน้อย 300 ตำแหน่ง เงินเดือน 50,000 บาท ซึ่งจะนำไปขยายผลกับสถาบันอาชีวะ ต้นปีหน้าจะเป็นรูปธรรมหลักสูตรช่างเชื่อมอัตโนมัติ รุ่นแรก 30 คน โดยมีสถาบันมารา ที่จังหวัดชลบุรี สำหรับสอบบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติและโรบอติกอยู่แล้ว

ประการที่สาม การให้โอกาสแรงงานทุกกลุ่ม-ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ แต่ยังมีอุปสรรค คือ พ.ร.บ.พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33-35 เพราะเจตนารมณ์กฎหมายดี แต่ผลลัพธ์ไม่ได้

“ขณะนี้มีคนพิการขึ้นทะเบียน 2.5 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน 8 แสนคน แต่กฎหมายดูแลคนพิการเพียง 6.9 หมื่นคน ที่อยู่ในสถานประกอบการ จึงต้องหาอาชีพที่เหมาะกับเขา เช่น อาชีพอิสระ ทำงานที่บ้าน หัตถกรรม เกษตรรายย่อย”

รัฐมนตรี “นฤมล” แทนตัวเองว่า “แหม่ม” เธอโน้มน้าวบริษัท หัวเว่ย ให้ช่วยเหลือด้านซีเอสอาร์ให้กับคนพิการในไทย

“แหม่มเป็นคนจีน 100 เปอร์เซ็นต์นะ ในตัวไม่มีเลือดคนไทย อากง อาม่านั่งเรือมาจากเมืองจีน มาลำบากยากเข็ญในประเทศไทย เป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 แล้วคนที่เป็นเหมือนแหม่มในประเทศไทยอีกเยอะนะ ที่เป็นลูกหลานคนจีนหนีความยากจนลำบากมาแล้วมาอยู่เมืองไทย คุณมาช่วยโครงการแบบนี้ก็เท่ากับพี่น้องคนจีนที่อยู่ในประเทศไทย”

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

“นฤมล” ยอมรับว่า เป็นงานที่สร้างผลงานยาก-ใช้เวลา แต่ต้องการให้แสงส่องไปที่ประชาชน จึงต้องดึงสปอตไลต์ให้มาดูแลเขา (คนพิการ) 2.5 ล้านคน เท่ากับดูแลเกือบ 10 ล้านคนนะ เป็นผู้ช่วยผู้พิการของประเทศ

“อีกเรื่องที่จะทำให้ดึงสปอตไลต์มามากขึ้น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.6 ล้านคน มีคนพิการอยู่ในนั้น 1.1 ล้านคน ต้องเป็นสวัสดิการแห่งรัฐจริง ๆ มันไม่ใช่มันแจกเงิน แต่สวัสดิการของรัฐต้องอยู่ในบัตรใบเดียว”

“นฤมล” ขายไอเดีย-passion สิ่งที่อยากทำและเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืน ซึ่งร่างกฎหมายถูกร่างขึ้นตั้งแต่สมัย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“การบริหารจัดการกองทุนเป็นฟันด์แมเนจเมนต์แยกออกไป แต่กระทรวงแรงงานยัง regulator กำหนดนโยบาย คำนึงถึงผู้ประกันตนเป็นหลัก แต่ไม่ต้องติดหล่มกับระเบียบราชการ เช่น การลงทุนในต่างประเทศต้องส่งให้อัยการสูงสุดร่างสัญญา”

นอกจากนี้ยังต้องปรับการจ่ายเงินกองทุนประกันสังคม เช่น ขยายเกณฑ์อายุเกษียณ 55 ปีให้มากขึ้น เพื่อลดภาระกองทุน ซึ่งผู้ประกันตนก็ได้ทำงานต่อ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ

“อยากทำให้ผู้ใช้แรงงาน ทำอย่างไรให้กองทุนยั่งยืน ถ้าไม่ทำอะไรเลย วันนี้เงินกองทุน 2.6 ล้านล้านบาท ถึงวันหนึ่งเงินสำรองจะหมดอีก 38 ปีข้างหน้า เพราะเดิมรับเงินเข้ากองทุนมากกว่าจ่ายออก”

เกียรติยศเป็นเรื่องสมมุติ

“นฤมล” ไม่มีความมุ่งมั่นในเส้นทาง “นักการเมือง” แม้กระทั่ง “นักวิชาการ” แต่มี “เข็มมุ่ง” ของชีวิต คือ การพ้นจากความยากจน

“ไม่คิดจะเข้าการเมืองเลย ด้วยความสัตย์จริง เพราะที่บ้านไม่ใช่นักการเมือง ครอบครัวยากจน คุณพ่อขายซีอิ๊วหยั่นหว่อหยุ่น เป็นเซลส์ขี่มอเตอร์ไซค์ขายตามร้านโชห่วย จดออร์เดอร์และเอาซีอิ๊วไปส่ง”

รายได้ไม่มาก ลูกตั้ง 6 คน แม่ก็เลยต้องออกมาช่วยขายกับข้าวที่ปากซอย ตีสี่ตื่นไปตลาด ทำกันทั้งวัน สี่โมงเย็นก็ออกไปขาย ขายหมดประมาณหนึ่งทุ่ม มีส่งปิ่นโตด้วยตามบ้าน นั่งเตรียมผัก เตรียมอะไรต่อกันถึงเที่ยงคืน ตีสี่ตื่นอีกแล้ว

“ทำอย่างไรเราจะพ้นจากความยากจน ต้องเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ คุณพ่อสนับสนุนให้เรียนพิเศษ ถึงแม้ว่ารายได้จะไม่เยอะ ที่เรียนพิเศษที่ดัง ๆ แหม่มไปเรียนหมด”

เราอยู่กับความลำบากมา 6 คน นอนเบียดกันในตึกแถว เราโตมาแล้วต้องทำงานแบบแม่อย่างนี้เหรอ หาเช้ากินค่ำ ทั้งพ่อทั้งแม่ไม่มีเงินออม โชคดีไม่มีหนี้ ถ้าเป็นวันนี้ต้องได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเหมือนกัน (หัวเราะ)

ตลอดเส้นทาง “นฤมล” ต้องปากกัดตีนถีบรับ “สอนพิเศษ” เด็กนักเรียนตามบ้าน และเป็น “ผู้ช่วยวิจัย” ตั้งแต่เข้าปี 1 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่ปี 1 เริ่มสอนพิเศษเด็ก ๆ ตามบ้านเด็กมัธยมที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ได้ชั่วโมงละ 120 บาท เก็บเงิน จำได้ว่า ได้เงินก้อนแรกก็พาแม่ไปกินสุกี้โคคา เราไม่เคยกินอาหารในร้านอาหาร ตอนนั้นไม่มีชีวิต luxury ขนาดนั้น

พอมาปี 2 อาจารย์ประจำวิชาสถิติจุฬาฯ ชวนมาทำวิจัย ทำ survey ที่สีลม เดินขึ้นไปตามตึก แจกและเก็บแบบสอบถามมานั่งคีย์ข้อมูล ประมวลผลเบื้องต้น ทีแรกได้รายได้เป็นชุด ๆ ชุดละกี่บาทจำไม่ได้ ตอนหลังให้เป็นเดือน เดือนละ 4,000 บาท เธอบอกว่าถือว่ามากแล้วสำหรับในเวลานั้น

“ศ.ดร.นฤมล” ประดับตำแหน่งทางวิชาการถึง “ศาสตราจารย์” แต่เธอไม่คิดว่า “เกียรติยศ” ต่าง ๆ จะต้องถูกนำไปทิ้งหลังก้าวเข้าสู่การเมือง

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ เป็นสิ่งสมมุติหมดเลย แต่จำเป็นต้องมีในบทบาทนั้น เพื่อที่เราจะได้ทำงานที่เราต้องการ ขับเคลื่อนได้ แต่แหม่มจะไม่หลงกับมันว่า ฉันเหนือกว่าทุกคน …ไม่ใช่”

เธอครองตำแหน่งศาสตราจารย์ตอนอายุ 37 ย่าง 38 ปี จนรู้สึกว่า เส้นทางวิชาการจบแล้ว ได้ศาสตราจารย์แล้ว ตำแหน่งนี้อยู่กับตัวไม่มีใครเอาไปได้ เพราะเป็นตำแหน่งโปรดเกล้าฯ

“เราได้รับเกียรติในแวดวงวิชาการ เริ่มเป็นที่ปรึกษาตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 กว่าปี เป็นบอร์ดไปรษณีย์ไทย บอร์ดบริษัทเอกชน 7-8 ที่ วันที่ต้องลาออกเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี เพิ่งรู้ว่า เฮ้ย ฉันทำงานอยู่ 13 ที่ ไม่รู้เซ็นใบลาออกทำไม”

ทว่าการมาเป็นนักการเมือง-ยืนแถวหน้า เธอยอมรับว่า “ชีวิตเปลี่ยนเยอะ (เน้นเสียง) คนละวงการ เปลี่ยนอย่างแรก เราอยู่ในวงการอาจารย์ เราได้รับเกียรติ ได้รับการยกมือไหว้ ไปไหนก็มีแต่คนเรียกว่า อาจารย์ บรรยายมีแต่คนเชิญเรา”

“พอเราทิ้งทุกอย่างมาการเมือง เราต้องขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง (หัวเราะ) มันคนละเรื่อง ที่เราเคยยืนสอน มันไม่ใช่แล้ว ต้องพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ”

ขณะเดียวกันก็ต้องทำความเข้าใจบริบทการเมือง เข้าใจความต้องการของเขา เข้าใจว่า ต้องทำงานสนับสนุนชาวบ้านเพื่อจะเป็นฐานเสียงให้กับนักการเมืองต่อไป ต้องเข้าใจหลายอย่างที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน (หัวเราะ)

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์

พลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

ภาพจำคนนอกพรรคยังประเมินว่า พลังประชารัฐจะเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจไม่เป็นชิ้นเป็นอันเหมือนที่ผ่านมา เพราะความเป็นกลุ่ม-ก๊วนเด่นชัด แต่เธอเห็นต่าง

“ไม่นะ ถ้ามอง 2 ปีที่ผ่านมา แหม่มว่าตรงกันข้าม เห็นชัดว่า ตัวพรรคจะขับเคลื่อนให้กลายเป็นสถาบันทางการเมือง ท่านหัวหน้าพรรคจะสั่งการตลอดว่า จะต้องทำให้พรรคเข้มแข็ง”

สาเหตุเดียวที่อยากให้พรรคเข้มแข็ง เพราะต้องการที่จะมีพรรคหลัก 1.ดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี 2.พลังประชารัฐเป็นพรรคที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“เดี๋ยวเราจะค่อย ๆ ดึงให้ชัด เช่น เรื่องน้ำ เรื่องที่ทำกิน เรื่องหนี้ แก้ปัญหาประชาชน และที่ยังไม่ถูกดึงออกมา และจะดึงออกมาให้มากขึ้น พรรคมี ส.ส.ป้ายแดงเยอะมาก 70 กว่าคน แต่ละคนคุณภาพคับแก้ว แต่ยังไม่ได้ฉายสปอตไลต์”

“นฤมล” มั่นใจว่า ส.ส.หน้าใหม่ 70 กว่าคน การเลือกตั้งสมัยหน้าจะอยู่กับพรรคต่อไป เพราะ “ท่านหัวหน้าพรรค คือ ศูนย์รวมของทุกคน”

การชนะเลือกตั้งที่ผ่านมา แยกเป็น 3 ส่วน 1.ผู้นำ เราชูใครเป็นนายกฯ มีทั้งได้และเสียคะแนน 2.นโยบายตรงกับความต้องการของประชาชน และ 3.ตัวผู้สมัคร

ถามว่า แต่ละคนที่เข้ามาเป็น ส.ส.ได้มาจากทั้ง 3 ส่วน ไม่เสมอไป บางคนมาจากตัวเองล้วน ๆ บางคนมาจากกระแสนโยบายล้วน ๆ หน้าใหม่เลยไม่มีใครรู้จัก บางคนมาเพราะเลือกท่านนายกฯ เราจะเอาลุงตู่ บางคนมาจากส่วนผสม

“ไม่มีคนใดคนหนึ่งสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการได้ ทุกคนต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน แน่นอนพอพรรคใหญ่ก็เดินไปคนละทางบ้าง แต่เราต้องให้ 70 กว่าคน (ส.ส.หน้าใหม่) ขึ้นมาเป็นเสียงส่วนใหญ่”

ฟังชัด ๆ นฤมล อยู่กลุ่มบิ๊กป้อม

“นฤมล” แม้จะถูกทีมสมคิด-สี่กุมาร ดึงเข้าสู่เส้นทางการเมือง แต่อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันเธอและทุกกลุ่มก๊วน (ต้อง) อยู่ “บ้านใหญ่ป่ารอยต่อ”

เธอขยายความว่า “ที่อยู่กับท่านหัวหน้า (พล.อ.ประวิตร) เพราะท่านชัดเจน 2 เรื่อง 1.เรื่องประชาชน และ 2.เรื่องสถาบัน ทุกกลุ่มอยู่กับท่านหมดนะ (เสียงสูง)”

“บิ๊กป้อม ท่านไม่เหมือนผู้ใหญ่ท่านอื่น ตรงที่เข้าถึงท่านไม่ยาก ส.ส.ในพรรคอยากจะเจอ มีเรื่องอะไรปรึกษา ท่านให้เวลาพบ ทำให้ท่านเป็นศูนย์รวมหัวใจของทุกคน ส.ส.รับปัญหามาจากชาวบ้าน ปัญหาอยู่บนไหล่เขา”

“ท่าน คือ บิ๊กดาต้า รู้หมด ใครเป็นอย่างไร คนจะเห็นภาพว่าท่านใจดี แต่เวลาท่านเด็ดขาด ท่านเด็ดขาดนะ และไม่มีใครกล้าเถียงท่าน”

ส่วนเรื่อง “ซุบซิบ” ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน เจ้าของรหัสจับกัง 2 เป็นตำแหน่งรัฐมนตรีพิเศษที่ดีไซน์ มาเพื่อเธอ ตลอดจนลือลั่นกันว่า “นฤมล” เป็น “นักวิ่ง” ก่อนจะมีชื่อในโผคณะรัฐมนตรี คำถามนี้ เธอตั้งใจตอบดังฟังชัด

“ไม่ได้วิ่งไหนเลย ที่ทำเนียบ ตึกไทยคู่ฟ้า แหม่มมารอรับท่านนายกฯ ทุกเช้าอยู่แล้ว เป็นภารกิจประจำวัน ถ้ามีงานอะไรก็ติดตามท่านนายกฯ จริง ๆ เขาเสนอจากพรรคขึ้นมา ตั้งแต่วันที่พรรคประชุม แหม่มอยู่ศรีสะเกษ กลับมาถึงก็เพิ่งทราบว่าตอนเย็นเขาประชุมกันที่พรรค และเสนอใครบ้าง ซึ่งแหม่มไม่ได้นั่งอยู่ในห้องประชุม เลยไม่รู้ว่าจะไปวิ่งยังไง”


ทั้งหมดนี้คือเส้นทางชีวิต ของรัฐมนตรีที่มีตำแหน่งอันพิเศษยิ่งในพรรคพลังประชารัฐ อันมี “บิ๊กป้อม” ผู้มีบารมียืนตระหง่านเหนือทุกคน