พรรคทักษิณ หักเหลี่ยมแตกซ้ำ ไทยรักไทย ถึง เพื่อไทย ไม่พ้นเงา “ชินวัตร”

ไม่เคยมีครั้งไหนที่ “ตระกูลชินวัตร”ปล่อยมือ สละอำนาจจากการเป็นเจ้าของพรรค

ไม่ว่าพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย

หลังการจากไปของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม. อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ลาออกทุกตำแหน่งในพรรคเพื่อไทยปิดตำนานสัมพันธ์อมตะ ทั้งที่อยู่โยงกับ “ทักษิณ ชินวัตร” มานานกว่า 30 ปี

ตั้งคณะกรรมการ 1 โหล

บัดนี้ทุกองคาพยพ ทุกวงบริวารล้วน “ขึ้นตรง” กับ “ทักษิณ” และญาติ พี่ น้องเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ตอกย้ำแบรนดิ้ง“บริษัทเพื่อไทย” ไม่มีใครกล้าหือ

4 ทหารเสือขุนพลข้างกายทักษิณ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, ภูมิธรรม เวชยชัย กลับเข้ามาคุมเกมในพรรคเพื่อไทย แทนก๊วนของคุณหญิงสุดารัตน์อีกครั้ง หลังจากปฏิบัติการ “ปฏิวัติ” ยึดอำนาจในพรรค

ขนาบข้างด้วยนักการเมืองรุ่นเก่าแต่เก๋า และไม่เคยเป็นขั้วเดียวกับ “คุณหญิงสุดารัตน์” อย่าง “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รวมถึงผู้อาวุโสพรรษาแก่กล้าอย่าง “เสนาะ เทียนทอง”

รื้อโครงสร้างบริหารจัดการในยุคเก่า เซตอัพระบบภายในพรรคใหม่ ตั้งคณะกรรมการรวดเดียว 13 ด้าน คณะที่สำคัญที่สุดคือ คณะกรรมการการเมืองขึ้นมากำหนดยุทธศาสตร์ มีแนวโน้มเป็นแบบ “ท็อปดาวน์” เหมือน “คณะกรรมการยุทธศาสตร์” ในยุคที่มี “สมชาย 
วงศ์สวัสดิ์” เป็นประธานอีกครั้ง

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค กล่าวว่า

“คณะกรรมการการเมืองกำหนดแผนงานประจำสัปดาห์ และประจำเดือน เพื่อจ่ายงานให้ ส.ส.ทำ โดยจะกำหนดวาระเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วน แล้วแต่สถานการณ์”

ดาราการเมือง-เสื้อแดงกลับมา

พร้อมดึงดาราการเมือง ที่เคยหนีเพื่อไทยไปช่วงก่อนหน้านี้ กลับมาทำงานเบื้องหลัง เช่น นพดล ปัทมะ-พิชัย นริพทะพันธุ์ สายเสื้อแดง ที่เคยไปอยู่ไทยรักษาชาติ อาทิ วรชัย เหมะ ก่อแก้ว พิกุลทอง วิภูแถลง พัฒนภูมิไท

บวกกับสายแท้ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่าง “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” หลานของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ “สรพันธ์ คุณากรวงศ์” น้องชายณัฐพงษ์ คุณากรวงศ์ สามีของเอม-พิณทองทา คุณากรวงศ์ บุตรสาวทักษิณ 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไทยรักษาชาติ กลับมาร่วมงานกับเพื่อไทย

ขณะที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ถ่างขาเข้าได้ทุกขั้วอำนาจ ไม่ว่าทีมเจ้าแม่ กทม. หรือสายทักษิณ นอกจากไม่ได้รับผลกระทบยังได้รับบทบาทขยับเข้าแกนกลางมากขึ้น เช่น กลุ่มของเกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำอีสานใต้

เช่นเดียวกับคนที่เคยอยู่ข้าง “เจ้าแม่ กทม.” แต่ไหวตัวทันทุกครั้งที่อำนาจเปลี่ยนมือ ก็อาสาเข้ามารับบทบาทสำคัญในพรรค เช่น ฝ่ายกฎหมาย รับบทศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปมบ้านพักทหารของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“เจ๊หน่อย” ตั้งกลุ่มสร้างไทย

ส่วนที่มีตำแหน่งเป็น ส.ส. เคยเป็นมือ-ไม้ สายเจ้าแม่ กทม. เมื่อครั้งเรืองอำนาจ จำกัดบทบาทตัวเองให้อยู่ในสปอตไลต์น้อยที่สุด ทั้ง สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม-น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.

ส่วนลูกน้องที่ไม่ได้เป็น ส.ส.แล้วออกจากพรรคเพื่อไทยไปพร้อมกัน ทั้ง “โภคิน พลกุล-วัฒนา เมืองสุข-พงศกร อรรณนพพร” ก็ออกไปสังกัดกลุ่มการเมืองที่ตั้งเพื่อขับเคลื่อนทางการเมืองไว้ล่วงหน้าแล้ว ชื่อ “กลุ่มสร้างไทย” ซึ่งมี “คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นประธานสถาบันสร้างไทย

แต่ในวงสนทนาลึก แต่ไม่ลับ ช่วงที่ “คุณหญิงสุดารัตน์” ผงาดขึ้นนั่งบัลลังก์กำหนดทิศทางเพื่อไทย มีการเล่าขานว่า มี “บิ๊กเนม” ตัวเชื่อมคนกลาง ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และอดีตรัฐมนตรีในยุคทักษิณ ที่เจ้าแม่ กทม.นัดหารืออยู่เนือง ๆ ต่อท่อไปถึง ผู้มีบารมีในรัฐบาล พี่ใหญ่แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์

แต่ที่อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็คือ “กลุ่มสร้างไทย” ดันไปคล้ายกับเสียงลือ เรื่อง “พรรคสร้างไทย” ที่มีข่าวว่าเป็นพรรคสำรองของอดีต 4 กุมารพลังประชารัฐ ในช่วงก่อนหน้านี้

ไม่ต่างจาก “นักการเมือง” ที่ไม่อยู่ใต้ร่มเงาทักษิณ อีกต่อไปอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง” ก็กำลังมุ่งมั่นจัดตั้งพรรคใหม่ รองรับอุบัติเหตุการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ขณะเดียวกัน นักการเมือง “คนเดือนตุลา” ที่เคยเป็นลมใต้ปีก “ทักษิณ” ที่อาสาตั้งพรรคไทยรักษาชาติ ย้อนบทเรียนไว้ว่า “เราช่วยเขา (ทักษิณ) ตั้งพรรค แต่เขาก็ทำให้พรรคถูกยุบ ที่ทำมาก็สูญเปล่าไปทั้งหมด”

พรรคทักษิณยุคก่อตั้ง-ควบรวม

หากส่องพัฒนาการ “พรรคทักษิณ” จากยุคพรรคไทยรักไทย จนถึงเพื่อไทย ที่กลุ่มชินวัตรกลับมา “กุมอำนาจ” เบ็ดเสร็จอีกครั้ง อาจแบ่งได้ 3 ช่วงเวลาตามสถานการณ์

ช่วงแรก ไทยรักไทย ที่เป็นช่วงของ “นักการเมืองอาชีพ” หลังจาก “ทักษิณ” ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี 2541 ใช้วิธี “ดึงตัว” และ “ควบรวมพรรคการเมือง” นักการเมืองจากพรรคต่าง ๆ มาร่วมชายคาพรรคไทยรักไทย

ก่อนการเลือกตั้งปี 2544 จนทำให้พรรคไทยรักไทย แปลงร่างเป็นพรรคการเมืองใหญ่ แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์-ความหวังใหม่ ในห้วงขณะนั้น และสามารถชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลครั้งแรกกวาด ส.ส.เขต 208 คน ระบบบัญชีรายชื่อ 48 คน รวม 256 คน คิดค้นประชานิยมชนะใจโหวตเตอร์รากหญ้า

ในช่วงนั้นกลุ่มการเมือง ที่ไปรวมกับไทยรักไทย อาทิ กลุ่มพลังธรรม กลุ่มวังน้ำเย็น ของ “เสนาะ เทียนทอง” กลุ่มพรรคชาติพัฒนา นำโดย “กร ทัพพะรังสี” ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกควบรวมในยุค “ทักษิณ 1” เช่น “พรรคเสรีธรรม” นำโดย “ประจวบ ไชยสาส์น” ควบรวมพรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ควบรวมพรรคชาติพัฒนา ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ทำให้มี ส.ส.เพิ่มขึ้น เกือบ 300 เสียง

หลังชนะเลือกตั้งถล่มทลาย “ทักษิณ 2” ในช่วงต้นปี 2548 เป็นรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียง ก็ดูดกลุ่มการเมืองเข้ามาอีก ดูดกลุ่มชลบุรี ของ สนธยา คุณปลื้ม และกลุ่มบุรีรัมย์ของ เนวิน ชิดชอบ ก่อนที่ “ทักษิณ” จะผจญกับวิกฤตศรัทธา นำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ทักษิณ-สมัคร-สมชาย หลังรัฐประหาร 2549

ช่วงที่ 2 “การเมืองนำการเมือง” หลังจากถูกปฏิวัติยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 “ทักษิณ” ลี้ภัยการเมืองไปอยู่นอกประเทศ พรรคไทยรักไทยแตกกระสานซ่านเซ็น กลุ่มต่าง ๆ ที่เคยถูกควบรวมกลายเป็นพรรคไทยรักไทย ได้ออกไปตั้งพรรคการเมืองของตนเอง

ครั้นถึงการเลือกตั้ง 2550 “ทักษิณ” ตั้งพรรคใหม่เป็น “พรรคนอมินี” ขึ้นมา ชื่อว่า “พลังประชาชน” พรรคทักษิณก็พัฒนาไปสู่ ยุค “การเมือง” นำ “การเมือง”

กลุ่มที่มีบทบาท-อิทธิพลในห้วงเวลานั้นคือ กลุ่มเพื่อนเนวิน ของ “เนวิน ชิดชอบ” นักการเมืองพันธุ์บู๊ ของ “ทักษิณ” อยู่เบื้องหลัง ดึงหัวขบวนอนุรักษนิยม อย่าง “สมัคร สุนทรเวช” มาเป็นนายกฯ เป็นแผนเกลือจิ้มเกลือ ล้างข้อครหา “ไม่จงรักภักดี” ของ “ทักษิณ”

ช่วงที่ 3 เพื่อไทยของตระกูลชินวัตร เมื่อพรรคพลังประชาชน คือ “บริษัท” สมบัติทางการเมืองของตระกูล “ชินวัตร” ขั้วอำนาจต่างกลุ่มในพรรค ก็คือกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่มีอิทธิพลสูงในเวลานั้น จึงถูกเขี่ยให้พ้นทาง

ปฏิบัติการสายฟ้าแลบเกิดขึ้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ของ “สมัคร สุนทรเวช” จากการจัดรายการชิมไปบ่นไป ครั้นเลือกนายกฯใหม่ กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งกุมอำนาจสูงในพรรค ก็เสนอให้พรรคโหวต “สมัคร” กลับมาเป็นนายกฯ

12 กันยายน 2551 คือวันโหวต แต่ปรากฏว่ากลุ่มอีสานพัฒนา กทม. ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลางบางส่วน และกลุ่มการเมืองสายชินวัตร นัดกันบอยคอต โดยประสานพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย ให้ “บอยคอต” การลงมติด้วย

5 วันต่อมามีการโหวตนายกฯใหม่อีกครั้ง โดยพรรคพลังประชาชนเสนอชื่อ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยทักษิณ มาเป็นนายกฯ สถาปนาอำนาจ “ตระกูลชินวัตร” คุมพรรคได้เบ็ดเสร็จ ส่วนกลุ่มของ “เนวิน” กลายเป็น “งูเห่า” ตั้งพรรคภูมิใจไทย ร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้อนเกล็ดการเมือง ให้กับ “ทักษิณ” อย่างเจ็บแสบ

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองยังอยู่ในมือของตระกูลชินวัตร ต่อเนื่องมาถึงยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวทักษิณเป็นนายกฯ ในนามเพื่อไทย แม้มีอุบัติเหตุการเมืองมาคั่นกลางคือการยุบพรรคพลังประชาชน และมีความพยายามก่อหวอดจาก ส.ส.อีสาน ที่ต้องการให้ “ตระกูลชินวัตร” วางอำนาจ หนุน “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” มาเป็นหัวหน้าพรรค

ส.ส.อีสาน ที่ก่อหวอด ระบายความในใจตอนนั้นให้ฟังว่า “ผมอดเป็นรัฐมนตรี เพราะผมไปสนับสนุนเจ๊มิ่งเป็นหัวหน้าพรรค” ขณะที่ ส.ส.อีสานหลายราย ที่แสดงท่าทีขัดขืนถูกผลักให้ไปเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อยู่ในลำดับ “คาบเส้น” เกือบไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร

ต่างจากแกนนำเสื้อแดง ที่อัพเกรดเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับต้น บางรายมีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องลงจากอำนาจ ด้วยการรัฐประหาร 2557

ครั้นมาถึงยุค “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้รับไฟเขียวจาก “ทักษิณ” ให้นำพรรคเพื่อไทย แต่ “ทักษิณ” ก็ลอบไปตั้งพรรคไทยรักษาชาติ กระทั่งถูกยุบพรรคจากอุบัติเหตุนายกฯในบัญชี


แต่ในตอนอวสานของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ในละครพรรคเพื่อไทย ก็ต้องออกจากพรรคไม่ต่างกับกลุ่มเพื่อนเนวิน