ศุภวุฒิ คาดการณ์ จีดีพีเพิ่ม แต่ความเป็นอยู่แย่ คนละครึ่ง อุ้มกำลังซื้อสั้น

ภาพโดย sippakorn yamkasikorn จาก Pixabay

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ชี้ จีดีพีเพิ่มขึ้นแต่ความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น มาตรการกระตุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

วันที่ 13 ธันวาคม 2563 ที่เพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้เผยแพร่ข้อความเรื่อง เศรษฐกิจไทย : อนาคตที่ “ขาดยุทธศาสตร์” และแรงขับเคลื่อน โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ดังนี้

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ติดลบ 6.4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 ดีกว่าการติดลบ 12.1% ในไตรมาส 2 ทำให้รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบ “เพียง” 6% จากที่เดิมเคยคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้จะติดลบประมาณ 7.5% นอกจากนั้นก็ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีในปีหนน้าจะขยายตัวประมาณ 3.5-4.5%

1.จีดีพีเพิ่มขึ้นแต่ความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น

แต่ความเป็นอยู่ของคนไทยโดยเฉลี่ยในปีหน้านั้นจะยังไม่ฟื้นตัวหากดูจากรายได้ต่อหัวที่รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 237,178.6 บาท ในปี 2564 ซึ่งยังต่ำกว่ารายได้ต่อหัวในปี 2562 (ก่อนการระบาดของ COVID-19) ที่ 243,466.9 บาท (รายได้ยังลดลงไป 2.5%) แต่หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 78.4% ของรายได้มาเป็น 83.8% ในไตรมาส 2 ของปี 2563 และแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนก็น่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคตที่ประชาชนขาดรายได้และต้องกู้ยืมเงินมากขึ้น

แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะระมัดระวังและพยายามจำกัดการขยายสินเชื่อ ทั้งนี้ในรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ เกี่ยวกับสภาวะสังคมในไตรมาส 3 ของปี 2563 ได้ประเมินจากแบบสอบถามว่าในช่วงการระบาดของ COVID-19 นั้นกลุ่มตัวอย่าง 54% มีรายได้ลดลงและ 33% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14 มีการก่อหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นและร้อยละ 9 ก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จึงอาจสรุปได้ว่าการ “ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ในปีหน้านั้นไม่น่าจะแปลว่าความเป็นอยู่ของประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นแต่อย่างใด

2.มาตรการกระตุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

มาตรการที่รัฐบาลนำออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น “คนละครึ่ง” นั้นเป็นการเอาเงินภาษี (ในอนาคต) ของประชาชนมาให้ประชาชนใช้ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเดือนละไม่กี่พันบาท ใช้เงินครั้งละ 15,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งช่วย “อุ้ม” กำลังซื้อในระยะสั้น แต่จะไม่สามารถส่งผลให้เกิดการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่มีการปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและดูเสมือนว่ารัฐบาลจะเลิกล้มความตั้งใจเดิมที่จะอนุมัติโครงสร้างฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ได้เคยตั้งงบประมาณเอาไว้ที่ 400,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้พบว่ามีการอนุมัติโครงการต่างๆ มูลค่าเพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท

การที่รัฐบาลมีแต่เพียงมาตรการเพิ่มเติมกำลังซื้อเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศนั้น เป็นเรื่องที่จะปั่นทอนอนาคตของเศรษฐกิจไทยอย่างมากเพราะเศรษฐกิจไทยนั้นมีความอ่อนแอมาก่อนการระบาดของ COVID-19 แล้ว กล่าวคือจีดีพีของไทยในปี 2562 นั้นสามารถขยายตัวได้เพียง 2.4% และในไตรมาส 4 ของปี 2562 นั้นจีดีพีขยายตัวเพียง 1.4% ดังนั้นเมื่อหัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการท่องเที่ยวดับสลายลงในปี 2563 ประเทศไทยจึงไม่มีหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหลืออยู่

ข่าวดีเกี่ยวกับการมีวัคซีนป้องกัน COVID-19 นั้นอาจทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาได้บ้าง แต่คงจะต้องรอไปจนปลายปีหน้าประเทศไทยจึงจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่งก็ยังต่ำกว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดิมทีเข้ามาในประเทศไทยเดือนละ 3.3 ล้านคน ดังนั้นธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายจะต้องปิดตัวลงและปลดคนงานเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า นอกจากนั้นปี 2564 จะเป็นปีที่ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะต้องทวงคืนเงินกู้หลังจากที่มาตรการผ่อนปรนให้ลูกหนี้ได้ปิดฉากลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ชัดเจน จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องตกเป็นภารกิจของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งย่อมจะต้องการปรับโครงสร้างเพื่อประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์เองและไม่น่าจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ตัวอย่างเช่นธนาคารพาณิชย์อาจต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นจำนวนมากเพราะไม่มั่นใจว่าลูกหนี้จะสามารถหารายได้เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ โดยคาดหวังว่าจะเก็บสินทรัพย์ดังกล่าวเอาไว้ก่อน (warehousing) แล้วค่อยๆ นำออกไปขายในอนาคตเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการปล่อยกู้ แต่การนำเอาสินทรัพย์เก็บ “ดอง” เอาไว้เฉยๆ ไม่ได้นำออกไปทำประโยชน์ก็จะทำให้ไม่เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้และเกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจจึงจะอยู่ในภาวะซึมตัว

3.การขาดทิศทางที่ชัดเจนจะนำไปสู่ความเสื่อมถอย

การที่ประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปในทิศทางใดและไม่ทราบว่าภาคเศรษฐกิจใดจะเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวในอัตราที่ลดลงต่อไปและขยายตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการขยายตัวเฉลี่ยต่อปีของเศรษฐกิจไทยเทียบกับเศรษฐกิจโลกในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (ดูจากตารางในภาพ)

ในช่วง 40 ปีที่ผ่ามานั้นสามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยมีหัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน เช่น

– 1980-1989 เป็นช่วงที่ประเทศไทยพลิกฟื้นจากความถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 19980 และค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงสามารถขุดก๊าซธรรมชาติออกมาสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและญี่ปุ่นก็ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยเพราะเงินเยนแข็งค่าอย่างมาก เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทย “โชติช่วงชัชวาล”

– 1990-1999 นักลงทุนมีความมั่นใจในประเทศไทยสูงและรัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินทำให้มีการลงทุนสูงเกินจริง เกิดภาวะฟองสบู่และในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินในปี 1997

– 2000-2009 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากการลดค่าเงินบาท การขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจโลก การปรับโครงสร้างหนี้และการเพิ่มทุนของธุรกิจและธนาคาร ตลอดจนการเร่งฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือการส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 48.24% ในปี 1997 มาสูงสุดที่ 71.42% ในปี 2008 อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของไทยคืออุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์

– 2010-2019 เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ช้าลงเพราะความสามารถในการแข่งขันด้อยลงในหลายด้าน ยกเว้นการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 14.15 ล้านคนในปี 2009 มาเป็น 39.80 ล้านคนในปี 2019

ดังนั้นประเทศไทยจึงกำลังจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งเพราะเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดมากและจึงมีทางเลือกเหลืออยู่ไม่มากนัก กล่าวคือ

  • ประชากรไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานก็ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ดังนั้นประเทศไทยจึงขาดปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือแรงงาน ทั้งนี้สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าประชากรในวัยทำงานของประเทศไทยจะลดลงจาก 43.26 ล้านคนในปี 2020 มาเป็น 36.5 ล้านคนในปี 2040
  • ในอนาคตต้นทุนด้านพลังงานน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากพม่าและนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากลาวเพิ่มขึ้น การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติย่อมจะกระทบกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีกด้วย
  • ประเทศไทยำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในเพราะรถยนต์ประเภทดังกล่าวกำลังถูกทดแทนด้วยรถไฟฟ้า นอกจากนั้นก็ยังเห็นการย้ายฐานการผลิตสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าประเทศไทย
  • หากโจ ไบเดนประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐรื้อฟื้นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคฟื้นแปซิฟิกหรือ TPP ประเทศไทยจะอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบอย่างมาก เพราะประเทศคู่แข่งของไทย เช่น มาเลเซียและเวียดนามเป็นสมาชิก TPP นอกจากนั้นเวียดนามก็ได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับยุโรปเสร็จสิ้นไปนานแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มการเจรจาดังกล่าวกับยุโรปอย่างทางการเลย

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในระยะหลังนี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จึงไหลเข้าประเทศไทยในสัดส่วนที่ลดลงอย่างมาก กล่าวคือในช่วง 2001-2005 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 44.2% ของ FDI ทั้งหมดที่ไหลเข้ามาในกลุ่มอาเซียน แต่สัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 25.1% ในช่วง 2006-2010 16.3% ในช่วง 2011-2015 และ 14.2% ในช่วง 2016-2018 ในขณะเดียวสัดส่วนของ FDI ที่ไหลเข้าไปในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 12.3% ในปี 2001-2005 มาเป็น 24.8% ในปี 2016-2018

4.หากไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน อนาคตก็จะมีแต่ความถดถอย

ดังนั้นการฟื้นตัวของประเทศไทยจึงไม่ใช่การรอให้มีวัคซีนป้องกัน COVID-19 และหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับไป “ดีเหมือนเดิม” เพราะเดิมทีนั้นก็มีปัจจัยพื้นฐานที่มีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว แต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้หัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวสุดท้ายคือการท่องเที่ยวถูกทำลายลงอย่างที่จะเรียกกลับคืนมาไม่ได้เพราะโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

ตัวอย่างเช่นการท่องเที่ยวและการเดินทางเพื่อทำธุรกิจ คงจะไม่ฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในการช่วยให้มนุษย์ปรับพฤติกรรมในการทำงานและการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องเดินทางมากเหมือนเดิม ดังนั้นโครงสร้างและทรัพยากรทางเศรษฐกิจของไทยที่มีเอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคนนั้นจะไม่สามารถสร้างรายได้ที่คุ้มค่าได้เหมือนเดิม

ความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีโอกาสในการประกอบและขยายธุรกิจตลอดจนการสร้างงานที่มั่นคงและมีรายได้สูงนั้น จำเป็นจะต้องมีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวและปรับโครงสร้างไปในทิศทางใด ซึ่งในส่วนนี้ควรต้องระดมสมองและรวบรวมความรู้และความสามารถของทุกภาคส่วนมาหาข้อยุติร่วมกันในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความชัดเจนและที่สำคัญคือต้องมีแนวนโยบายและการกำหนดงบประมาณและเป้าหมายที่ชัดเจนจากภาครัฐว่าจะต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางใด

ตัวอย่างเช่นยุทธศาสตร์ของชาติอาจตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในการพัฒนา จึงไม่สามารถ “ปิด” ประเทศได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าไทยไม่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมประเภทที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ดีคนไทยมีศักยภาพด้าน high-touch จึงมีความได้เปรียบในการทำธุรกิจบริการต้อนรับ (hospitality) ทำให้ต้องยึดโยงกับกิจกรรมด้านการให้บริการ แต่จะต้องเป็นการให้บริการที่มีส่วนของกำไรสูงและสามารถกำหนดค่าบริการได้ (pricing power)เช่นการให้บริการแบบ Medical Tourism และการเป็นที่พักผ่อนระยะยาวของผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง (high-end semi-retirement home and services)เป็นต้น

นอกจากนั้นประเทศไทยก็ยังมีศักยภาพอย่างมากในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในเชิงปริมาณ (ไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิมาโดยตลอด) แต่ในด้านคุณภาพนั้นยังมีข้อจำกัดอย่างมาก เช่นการค้นพบสารตกค้างที่เป็นพิษเป็นจำนวนมากในผักผลไม้ประเภทต่างๆ ดังนั้นจึงต้องรีบนำเอาเทคโนโลยีและความรู้มาพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตอาหารที่รับประกันว่า Organic

และ การใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) เพื่อพัฒนาหน้าดินให้ปลูกผักผลไม้ให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูงในปริมาณที่สูงและมีเสถียรภาพ โดยใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดวัชพืชให้น้อยที่สุด เพื่อให้เป็นอาหารที่มีความปลอดภัยและได้รับความน่าเชื่อถือไปทั่วโลก การขับเคลื่อนทั้งด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการผลิตอาหารที่ปราศจากสารเคมีเจือปนนั้นจึงอาจเป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่จะปฏิรูปประเทศไทยจากประเทศกำลังพัฒนาที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกไปเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงการขายบริการที่ครบถ้วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Wellness Economy)เป็นต้น