ฝ่ายค้าน อัด “รัฐบาลปรสิต” เศรษฐกิจพังพินาศ เวทีซักฟอก “ประยุทธ์” เดือด

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เปิดฟลอร์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ โว เป็นจุดเริ่มต้นนับถอยหลังของ “ประยุทธ์” จวกแรง “รัฐบาลปรสิต” ทำประชาชนทุกข์ยากแสนเข็ญยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ในรอบ 8 ทศวรรษ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล วันแรกเริ่มต้นขึ้นในเวนลา 09.30 น. เมื่อเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเริ่มต้นขึ้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ได้ลุกขึ้นทักท้วงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ในเรื่องที่เกี่ยวกับการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

แนะผู้นำฝ่ายค้านอ่านข้ามญัตติร้อน

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ความไม่สบายใจตั้งแต่มีการยื่นญัตติ 25 มกราคม มีการทักท้วงญัตตินี้มาโดยตลอด จนกระทั่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการนัดหารือกัน มีผู้นำฝ่ายค้านมาร่วมด้วย โดยประธานยืนยันว่า ฝ่ายค้านยื่นมาก็บรรจุในระเบียบวาระแน่นอน ไม่มีเหตุผลอะไรที่ถอนญัตติได้ ตนขอเพียงแค่ขีดฆ่าก็ได้ แล้วเซ็นชื่อกำกับ แต่ผู้นำฝ่ายค้านขอนำไปแก้ไขใหม่ให้เรียบร้อยแล้วยื่นกลับมาให้อีกครั้งหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วผู้นำฝ่ายค้านขอยืนยันญัตติเดิม เพราะมีเสียงเดียวไม่อาจทัดทานทุกฝ่ายได้

“ถ้าวันนั้นไม่ได้แก้ไข มาวันนี้อ่านข้ามไปญัตติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งหมด คิดว่าการประชุมในวันนี้จะราบรื่น เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าไม่อ่านข้ามก็มีญัตติของไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งนายไพบูลย์ ยื่นไว้ป้องปราม ขออนุญาตผู้นำฝ่ายค้านถ้าทำได้ก็เป็นประโยชน์มหาศาลกับการอภิปรายในครั้งนี้”

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยกหลักการมาโต้แย้งว่า หลักแรกคือนิติรัฐ ข้อกฎหมาย หลักของจริยธรรม และหลักข้อตกลงและการให้ความร่วมมือ ญัตตินี้ได้มีการหารือกันจริงและเป็นความจริงว่าถูกต้องโดยข้อบังคับ ระเบียบกฎหมาย ไม่มีอะไรผิด เพียงแต่ประธานเป็นห่วง อยากให้การอภิปรายด้วยความราบรื่น

แม้ถูกแต่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นก็ขอให้รับไปแก้เสีย ผู้นำฝ่ายค้านหารือในพรรคฝ่ายค้านกันจริงๆ อย่างรอบด้านจนได้ข้อสรุปว่า แม้เรากังวลเรื่องความไม่ราบรื่นแต่หลักนิติต้องยึดไว้ ถ้าถูกตามข้อบังคับจะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต จะเป็นการบิดหลักนิติที่ควรจะถูกต้อง ส่วนเรื่องไม่เรียบร้อย ควรแก้ที่สำนึกมากกว่าแก้ที่กฎหมาย ไม่มีเหตุผลที่นำช่องว่างขึ้นมาสร้างความไม่เรียบร้อย เราต้องคำนึงถึงบรรยากาศสังคม แก้ปัญหาได้โดยพูดคุย กระตุ้นเตือนสำนึกกันว่าควรหรือไม่ควร

“อาศัยบารมีท่านประธานช่วยชี้แจงกับเพื่อนสมาชิก เราไม่สบายใจแต่ต้องยึดหลักเอาไว้เป็นบรรทัดฐานของคนรุ่นหลัง ส่วนการอภิปรายเราได้เตือนกันอยู่แล้วว่าอะไรควรไม่ควร”

ญัตติร้อนถูกแทรกแซงจากดูไบ

จากนั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ขึ้นลุกขึ้นพูด เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ถ้าผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติ ผู้อภิปรายต้องขอสิทธิในการประท้วง เพื่อรักษาหลักการรัฐธรรมนูญ
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ผู้นำฝ่ายค้านได้รับปากในที่ประชุมวิปสภาว่า ว่าจะปรับแก้ญัตติ เพราะไม่สบายใจ และก็ขอบคุณ ที่ไม่เปิดช่องให้มีคนจวบจ้วงสถาบัน แต่หลังจากที่ออกจากห้อง ได้ยินว่าผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับคำสั่งจากดูไบ ให้บรรจุญัตตินี้ให้ได้

“ผมรับไม่ได้ ถ้ากล่าวถึงสถาบันก็ขอปกป้องสถาบัน คิดว่าเรื่องนี้ผู้นำฝ่ายค้านถูกแทรกแซงจากคนต่างประเทศ”

ชวน เตือนห้ามขัด รธน.มาตรา 6

ด้านนายชวน ชี้แจงว่า เมื่อญัตตินี้เสนอเข้ามากระบวนการตรวจสอบญัตติเป็นเจ้าหน้าที่ของสภา และมีรองประธานสภา คือนายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นผู้กลั่นกรอง หลังจากมีการหารือระหว่างตน และรองประธาน ว่ามีประเด็นอะไรที่เป็นที่ข้องใจหรือไม่ ประเด็นอื่นไม่มีปัญหา แต่กรณีเรื่องสถาบัน เรายึดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได

เราดูญัตติว่ามีข้อความใดละเมิดหรือไม่ เราเห็นร่วมกันว่าไม่มี แต่เป็นการกล่าวหารัฐบาล ไม่ได้เป็นการละเมิดสถาบัน แต่เป็นการกล่าวหารัฐบาลที่รุนแรง จึงอยากให้ปรับปรุงข้อความนี้ เพราะถ้าข้อความนี้ปรากฎรัฐบาลคงไม่อยู่เฉย ต้องอธิบายชี้แจง อาจทำให้โจทก์กลายเป็นจำเลย ผู้กล่าวหาอาจกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้
ดังนั้น ญัตตินี้ถูกต้องตามข้อบังคับ ผู้นำฝ่ายค้านมีสิทธิอ่านญัตติได้ ส่วนผู้ประท้วงก็เป็นสิทธิ แต่คำวินิจฉัยของประธานเป็นที่สุด ถ้ามีการอภิปรายที่ล่วงล้ำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นนอกจากไม่มีสิทธิอภิปรายจะต้องเป็นจำเลยของประชาชน

กรีด สภาไม่ใช่โกหกเก่งแล้วจะชนะ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เคยมีญัตติทำนองนี้ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ถ้อยคำจะต้องไม่ล่วงล้ำสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงอย่างไรผมต้องรับผิดชอบ ถ้าวันข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าญัตติไม่ชอบ ผมก็ต้องรับผิดชอบ

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มีการประชุมปีละ 2 สมัย และรัฐธรรมนูญก็อนุญาตให้อภิปรายไม่ไว้วางใจได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในเวทีรัฐสภาไม่ใช่ใครโกหกเก่งแล้วจะชนะ”

ไพบูลย์ – เอ๋ ประท้วงทันควัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายมาถึงจุดหนึ่ง นายชวน ได้ตัดบทให้เข้าสู่การอภิปราย โดยนายสมพงษ์ ได้อ่านญัตติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล ทั้ง 10 รัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสมพงษ์อ่านข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า “ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้นายไพบูลย์ และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ลุกขึ้นประท้วงทันทีตามข้อบังคับที่ 69 “ห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น”

 นับถอยหลังประยุทธ์

ทั้งนี้ หลังจากนายสมพงษ์ บรรยายข้อกล่าวหา 10 รัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นวันที่จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นวันเริ่มต้นนับถอยหลังไปสู่จุดจบของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 4 วันนับจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะเปิดเผยความไร้ประสิทธิภาพ ขลาดเขลา เบาปัญญาของผู้บริหารประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จะเปิดโปงการทุจริตฉ้อฉลของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ และจะเปิดหน้ากากของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทำร้ายประเทศชาติบั่นทอนประชาธิปไตย และคุกคามเสรีภาพของประชาชน

ทำประเทศพินาศในรอบ 8 ทศวรรษ

เวลา 6 ปี 8 เดือน 26 วัน ที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศนี้ ทั้งในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร และในฐานะนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์และพวกพ้อง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติพังพินาศ ประชาชนทุกข์ยากแสนเข็ญยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ในรอบ 8 ทศวรรษ

ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ธุรกิจใหญ่น้อยล้มละลายทั่วทุกหัวระแหง ยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมารวมกัน ประชาชนมีความทุกข์ยากอย่างถึงที่สุด อึดอัดคับข้องใจในชะตากรรมที่ต้องใช้ชีวิต ภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์มากที่สุด และสุดท้าย ต้องตัดสินใจจบชีวิตตัวเองมากที่สุด

ผู้ชายคนหนึ่งสิ้นหวังในชีวิตเพราะตกงาน จึงพาบุตรสาวตัวน้อยพเนจรไปพึ่งพาวัดธรรมนิยม ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเมื่อทุกข์ที่สุดจนสุดจะทานทน ในวันที่ 19 เมษายน 2563 เขาตัดสินใจโดดน้ำเพื่อหนีไปให้พ้นจากชีวิตที่มืดมน แต่ยิ่งน่าเศร้าใจ เมื่อบุตรสาววัย 5 ขวบร้องว่า “พ่ออย่าทิ้งหนู” แล้วกระโดดน้ำตามพ่อของเธอลงไป ในที่สุดจมน้ำตายทั้งพ่อลูก

ผมอยากรู้จริงๆ ว่า ในใจ พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกอย่างไร สะเทือนใจไปด้วยหรือไม่ ประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของพล.อ.ประยุทธ์ทุกข์ยากเช่นนี้ เขานอนหลับลงในแต่ละคืนได้อย่างไร เขายังยิ้มแย้มสำเริงสำราญได้อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยทำตามสัญญาที่เขาให้ไว้เมื่อเกือบ 7 ปีที่แล้ว ว่าจะคืนความสุขมาให้ประชาชน แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เขากลับเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสวงหาทางออกในทุกปัญหา เขากลับตีโพย ตีพาย เห็นปัญหาในทุกทางออก

รัฐบาลปรสิต กัดกร่อนประเทศ

แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะคิดเก่ง ทำเก่ง ดังเช่นที่เขาเคยโอ้อวดว่า การบริหารประเทศไม่เห็นยากเลย พล.อ.ประยุทธ์กลับบริหารประเทศแบบคิดไป ทำไป ไม่มีการวางแผน ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม กลับไปกลับมา และโยนความผิดให้ประชาชน ทำให้เมื่อเผชิญวิกฤตอย่างโรคโควิด -19 ประชาชนจึงทุกข์แสนสาหัส ธุรกิจใหญ่น้อยจึงทยอยล้มลง แม้ธุรกิจที่ยืนหยัดต้านทุกวิกฤตมาได้หลายสิบปี ก็ต้องปิดกิจการในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประยุทธ์ ลืมไปว่า ประชาชน 67 ล้านคนจ่ายเงินเดือนให้เขามาทำงาน เพื่อทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น ประชาชนต้องการนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยประชาชน มากกว่าห่วงการรักษาอำนาจของตนเอง ประชาชนต้องการนายกรัฐมนตรี ที่ทำสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่านายกรัฐมนตรีที่สนใจแต่ความนิยมในโพลที่ลิ่วล้อบริวารเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา

“พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีภาวะผู้นำ ไม่สามารถรวมพลังผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ ได้แต่อวดอ้างไปวันๆ ว่า ตนซื่อสัตย์ แต่กลับนิ่งดูดาย วางเฉยให้พวกพ้องและบริวารทุจริตฉ้อฉล รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นได้เพียง “รัฐบาลปรสิต” ที่กัดกร่อนอนาคตของประเทศและกลืนกินความฝันของประชาชน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” นายสมพงษ์ อภิปราย

อภิปรายไล่ความมืดมน

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ เรามาประชุมร่วมกันในที่นี้ เพื่อร่วมกันยืนยันให้ประชาชนได้ประจักษ์ว่า การเมืองในระบบรัฐสภา ยังเป็นที่พึ่งหวังให้กับประชาชนได้ ดังนั้น เราต้องร่วมสร้างการเมืองแห่งความหวัง เราจะประกาศศักดิ์ศรีของนักการเมืองที่รักประเทศชาติ รักประชาชน ว่าพร้อมจะทำหน้าที่อย่างองอาจ ไม่หวั่นเกรงต่ออำนาจอยุติธรรม และไม่หวั่นไหวต่อผลประโยชน์ใดๆ

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะอภิปรายคนแล้วคนเล่าไม่หยุดยั้ง เพื่อแสดงหลักฐานอย่างแจ้งชัดว่า เราไม่อาจยินยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ยังทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป แล้วฉุดรั้งให้ชีวิตประชาชน จมดิ่งสู่ความทุกข์ทนยิ่งกว่านี้อีก เราเชื่อมั่นว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นแสงแห่งความหวังที่ส่องสว่างไปทุกแห่งหน เพื่อไล่ความมืดมนที่ พล.อ.ประยุทธ์สร้างไว้มาเกือบ 7 ปี และเพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า จากแม่สายถึงเบตง จากแม่สะเรียงถึงศรีเมืองใหม่ว่า เราต้องมีความหวังอยู่เสมอ เพราะจุดจบของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังมาถึงในไม่ช้านี้