จ่อ ไล่เบี้ย จนท.รัฐ-เอกชน-นักการเมือง คดีค่าโง่โฮปเวลล์ 25 ก.พ.

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลวันแรก

ศักดิ์สยาม ลั่น จะไม่ทำเรื่องผิดให้เป็นถูก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นชี้แจงในคดีข้อพาทโครงการโฮปเวลล์อาจทำให้รัฐเสียค่าโง่มากกว่าที่ศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยเมื่อเม.ย.62 ว่า โครงการโฮปเวลล์ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 และมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกในปี 2541 ซึ่งตนได้ศึกษาข้อกฎหมายและรายงานนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งหาตัวผู้กระทำความผิดละเมิด ซึ่งได้มีการออกคำสั่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา

“ถามว่าทำไมจึงเริ่มมาหาตัวผู้กระทำความผิดทางละเมิด กระทรวงคมนาคมพยายามต่อสู้เรื่องนี้ หลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้ว ได้นำเรื่องนี้ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เพื่อวินิจฉัยข้อสงสัยในข้อกฎหมายซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยที่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการรื้อฟื้นคดีใหม่ก็จะรับดำเนินการ”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ส่วนเรื่องการหาตัวผู้กระทำผิดทางละเมิด ตามพ.ร.บ.ละเมิด มาตรา 10 (2) บัญญัติว่า สิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับตั้งแต่หน่วยงานของรัฐ รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ต้องทำทั้งสองอย่าง ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้วว่า มีการละเมิดเกิดขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่จะออกคำสั่งในการตั้งคณะกรรมการที่จะหาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิด

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า องค์ประกอบสองอย่างนี้ครบแล้วถึงจะนับอายุความ 2 ปี แต่ในกรณีนี้ คณะกรรมการได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า การละเมิดไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมที่จะต้องรายงานไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อให้กระทรวงการคลังวินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ากระทรวงการคลังวินิจฉัย ว่า มีผู้ที่ต้องรับผิด กระทรวงคมนาคมก็ต้องรับความเห็นของกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการเพื่อดำเนินคดีภายใน 1 ปี สิ่งเหล่านี้ที่เป็นข้อกังวลของนายสุทิน

“ไม่ต้องกังวลครับ เพราะท่านนายกฯได้กำชับกระทรวงคมนาคมดำเนินการเรื่องนี้ภายใต้ระเบียบกฎหมาย อะไรที่ถูกก็ต้องถูกครับ อะไรที่ผิดก็จะต้องผิด ไม่มีวันที่รัฐบาลนี้ โดยการนำของท่านนายกฯ จะทำถูกให้เป็นผิด และผิดให้เป็นถูกครับ”
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอธิบายเพิ่มเติมจากนายศักดิ์สยามว่า มติครม.ที่ยกเลิก คือ วันที่ 30 ก.ย.ปี 40

สุทิน ชี้ ตั้ง คกก.ก่อนหมดอายุความ 2 เดือนมีพิรุธ

นายสุทินตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่นายศักดิ์สยามชี้แจงว่า การหาผู้กระทำผิดทางละเมิดและได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการในวันที่ 9 ก.พ.64 นั้น

“ตรงนี้ผมถามว่า เวลามันทอดยาวมานาน แล้วทำไมต้องเป็นวันที่ 9 ก.พ. แล้วมันจะหมดอายุในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 62 ทำไมไม่ทำ เพราะฉะนั้นการมาทำในช่วงนี้ เราตีความได้ว่า กำลังจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ทำเสียเพื่อจะได้ตอบในสภา”

อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องอายุความ ซึ่งนายศักดิ์สยามบอกว่า ต้องนับวันจากรู้ตัวผู้ละเมิด แต่โดยความเข้าใจทางกฎหมาย ซึ่งตนได้ปรึกษาผู้รู้หลายคน

“กฎหมายฉบับนี้ตีความนับเวลาอายุความเมื่อวันที่ศาลพิพากษา ศาลปกครองชี้ขาดวันนั้นจะต้องรู้แล้วว่า คนละเมิดคือใคร คนที่สั่งปิด คนที่สั่งยกเลิกสัญญานั่นแหละ เพราะฉะนั้นอายุความก็จะนับวันนั้น ถ้านับวันนั้นก็จะจบเมษายน เดือนหน้านี้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราเพิ่งมาตั้งคณะกรรมการขึ้นเมื่อ 9 ก.พ.นี้เอง มันก็บ่งบอกถึงเจตนา หรือ พิรุธ เพราะฉะนั้นการตีความกฎหมายข้อนี้อาจไม่ตรงกันได้”

แจงไทม์ไลน์ไล่เบี้ยจนท.รัฐ-เอกชน-นักการเมือง

นายศักดิ์สยามตอบข้อซักถามว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเจรจาเพื่อลดผลกระทบหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในเดือนเม.ย.62 หลังจากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 143/2562 ลงวันที่ 20 มิ.ย.62 และได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเสียหายของรัฐในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับกรุงเทพคดีโฮปเวลล์ ตามคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 248/2562 ลงวันที่ 26 ส.ค.62

“ทั้ง 3 คณะมีการตรวจสอบว่า โครงการนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เป็นพิรุธ และอาจส่อไปในทางการกระทำทุจริต ประพฤติมิชอบของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเมือง

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า หลังจากนั้น วันที่ 12 พ.ย.63 กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือเรียนนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดกรณีโฮปเวลล์ และ วันที่ 17 พ.ย.63 ทางสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่ากรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้ว่าการรถไฟในปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งได้เอง เมื่อ 17 พ.ย.63 กระทรวงคมนาคม ได้สอบถามไปยังเลขาธิการกฤษฎีกาเพื่อหารือข้อกฏหมายและประเด็นที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ และวันที่ 5 ก.พ.64 สำนักงานกฤษฎีกามีหนังสือตอบกลับมาที่กระทรวงคมนาคมและกระทรวงคมนาคมจึงได้มีคำสั่งออกมา

“สำหรับประเทศข้อกฎหมายได้หารือกับกฤษฎีกาแล้วว่า การนับอายุความต้องมีการดำเนินการทั้ง 2 องค์ประกอบ คือ รัฐรู้ว่ามีการละเมิด และต้องรู้ตัวเจ้าหน้าที่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากแต่งตั้งแล้ว ได้แจ้งคำสั่งทั้งหมดให้คณะกรรมการได้มีการประชุมในวันที่ 25 ก.พ.ที่จะถึงและจะพยายามสรุปให้ได้เร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้มีคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก”

วิษณุ แจง คดียังไม่นับ 1 ขาดอายุความ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมเพื่อความสมบูรณ์ว่า เรื่องอายุความ ซึ่งเป็นตามอย่างที่รมว.คมนาคมกล่าว คือ เอกชนฟ้องร้องรัฐ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐแพ้ ต้องชดใช้ค่าเสียหายค่าสินไหมทดแทน เป็นสิ่งที่รู้กันแล้ว แต่ประเด็นที่เกิดขึ้น คือ มีความข้องใจว่า เหตุใดจึงไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อหาผู้รับผิดชอบทางฝ่ายรัฐ ที่บอกว่า อายุความ 2 ปี และอีกไม่กี่วันจะครบ 2 เดือนขาดอายุความนั้น เป็นความจริง ถูกต้อง แต่ในเรื่องของอายุความนั้น ความจริง ไม่ใช่ 2 ปี แต่ 1 ปีด้วยซ้ำ

“งั้นอายุความก็ขาดแล้วสิ ขอกราบเรียนว่า ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่จะนำมาใช้กับเรื่องนี้ ได้กล่าวถึงอายุความไว้ 2 มาตรา คือ มาตรา 9 และมาตรา 10 มาตรา 9 ระบุว่า อายุความ 1 ปี มาตรา 10 ระบุว่า อายุความ 2 ปี”

นายวิษณุกล่าวว่า คนมาชี้ว่า มาตรา 10 เหลืออีก 2 เดือนขาดอายุความ 2 ปี ความจริงมาตรา 9 ที่บอกว่าอายุความ 1 ปี มันต่างจาก มาตรา 10 ที่บอกว่า อายุความ 2 ปี

“ตรงที่ มาตรา 9 บอกว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว ให้มีสิทธิ์ที่จะฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นต้นเหตุ ภายในอายุความ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการชำระค่าเสียหายนั้น เรื่องนี้รัฐยังไม่มีการจ่ายค่าเสียหาย จะเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือ จะเป็นศาลปกครองสูงสุดก็ตามได้ตัดสินว่ารัฐต้องชดใช้ แต่วันนี้บาทเดียวรัฐก็ยังไม่ได้ใช้ เมื่อบาทเดียวรัฐก็ยังไม่ได้ใช้ การที่รัฐจะไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าหน้าที่คนใดของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือใครก็ตามยังไม่สามารถที่จะไล่เบี้ยได้ ไม่ใช่เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด แต่เพราะรัฐยังไม่ได้ชำระเงินค่าสินไหมทดแทน เมื่อรัฐยังไม่ได้จ่ายจึงไม่เสียหาย เมื่อรัฐไม่เสียหายอายุความนับตั้งแต่วันที่ได้มีการชดใช้ นี่คือความในมาตรา 9 อายุความ 1 ปี”

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่มาตรา 10 อายุความ 2 ปี ใช้เมื่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำความเสียหายหรือละเมิดแก่หน่วยงานรัฐ หน่วยงานของรัฐสามารฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้ภายในอายุความ 2 ปี

“แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดต่อกระทรวงคมนาคม จึงไม่ใช่กรณีมาตรา 10 เมื่อไม่ใช่กรณีมาตรา 10 อายุความ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิด จึงไม่สามารถนำมาใช้กรณีโฮปเวลล์ได้’

นายวิษณุกล่าวว่า วันหนึ่งอาจจะนำมาใช้ก็ได้ ซึ่งการที่รมว.คมนาคมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบถูกต้องแล้ว เพราะถ้าวันหนึ่งต้องใช้ แต่ในขณะนี้เรากำลังพูดถึงว่า ถ้ากระทรวงคมนาคม ถ้าการรถไฟแห่งประเทศไทย ถ้ารัฐบาลไทยได้ชดใช้ค่าเสียหาย 2 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งความจริงดอกเบี้ยวันละ 2 ล้านด้วยซ้ำไปแก่บริษัทโฮปเวลล์เมื่อใดจะต้องไปไล่เบี้ยกับคนที่เป็นต้นเหตุในเรื่องนี้ ซึ่งมีอายุความ 1 ปี จึงเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณากันต่อไป

“วันนี้กระทรวงคมนาคมตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบไปพลางก่อนถูกต้องแล้ว เพราะถ้าช้าอาจจะต้องเกรงหรือวิตกว่าจะมีกรณีที่เดือนเม.ย.อายุความจะขาด”