รัฐสภา เคาะทำประชามติร่าง รธน. จะผ่านต่อเมื่อมีคนออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง

รัฐสภา เคาะ ทำประชามติร่าง รธน. จะผ่านต่อเมื่อมีคนออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ มติชน รายงาน ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256/16 เรื่องการลงประชามติ

โดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ชี้แจงว่า ปัญหาคือหากปรากฏว่าผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงลงคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีอันตกไป ซึ่งถ้อยคำที่อยู่ข้างในมาตราดังกล่าว เท่ากับแปลความว่า หากมีผู้ไม่ใช้สิทธิออกเสียลงคะแนนประชามติ ซึ่งเป็นสัดส่วนจำนวนมาก แล้วไปทำให้ผู้ออกเสียงลงคะแนนมีไม่ถึงครึ่ง จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำสิ้นผลไปนั้น ตนคิดว่าคงไม่น่าถูกต้องอย่างสิ้นเชิง อาจจะเกิดปรากฏการณ์ผู้มีอำนาจขณะนั้นไม่ได้ต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็ไม่กล้ารณรงค์ไม่ให้เห็นด้วย จนอาจเกิดกรณีไม่มีการประชาสัมพันธ์ ประชาชนไม่ทราบว่ามีการลงประชามติ

นายรังสิมันต์กล่าวว่า หากเป็นแบบนั้นจะเป็นเรื่องที่อันตราย เป็นกับดัก และอาจเป็นประตูที่เปิดให้ผู้มีอำนาจทำลายร่างรัฐธรรมมนูญที่พวกเราช่วยกันทำ จนมี ส.ส.ร. และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงขอสงวนว่าหากผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้กำหนดวันลงประชามติใหม่

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า เรื่องการลงประชามติ เดิมเขียนไว้ว่าเป็นคะแนนไม่ถึง 1 ใน 5 แต่ขณะนี้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยตามมาตรา 13 ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำต้องผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

นายนิกรกล่าวว่า กมธ.เห็นว่าในเมื่อมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติอยู่แล้ว เราถือให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้มีสิทธิเท่านั้น แต่ผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงก็ถูกกฎหมายนี้ครอบคลุมเช่นกัน

นายนิกรกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงมาออกเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งแล้วทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป โดยมีความกังวลเรื่องการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอนั้น ที่ผ่านมาการทำประชามติไม่เคยมีครั้งไหนที่การประชาสัมพันธ์ไม่เพียงพอ แต่เพื่อเป็นการป้องกันไว้ว่า ในมาตรา 19 จึงกำหนดให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเป็นตัวป้องกันอยู่แล้วว่าเป็นไปตามกฎหมายที่ควรจะเป็น

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก คือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านต่อเมื่อ มีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ

ด้วยคะแนนเห็นด้วย 521 ไม่เห็นด้วย 42 งดออกเสียง 17 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง